12 หุ้นส่งออกตัวเต็งพร้อมทะยานรับปัจจัยบวก 2 เด้ง ค่าเงินบาทอ่อน-ยอดส่งออกโต!

12 หุ้นส่งออกตัวเต็งพร้อมทะยานรับปัจจัยบวก 2 เด้ง ค่าเงินบาทอ่อน-ยอดส่งออกโต!


สืบเนื่องจากกรณีที่สภาผู้ส่งออกปรับเป้าหมายการส่งออกทั้งปีเติบโต 9% จากก่อนหน้านี้คาดโตได้ 8% หลังการส่งออกเดือนก.ค. 61 มีมูลค่า 20,424 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 17 ที่ 8.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

โดยการขยายตัวจากการส่งออกไป ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป  ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อีกทั้งตลาดศักยภาพสูงโดยเฉพาะตลาดอินเดีย อาเซียน  และ CLMV ยังสามารถรักษาการเติบโตในระดับ 2 หลักได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่า ล่าสุดปิดที่ 32.81/83 อ่อนค่าจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 32.77 บาท/ดอลลาร์ หลังเงินไหลออก ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มส่งออก

ทั้งนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้สำรวจบทวิเคราะห์ และบริษัทหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับผลดีในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากบริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง อาทิ CPF, HANA  , TU, SAPPE, MINT, GFPT, TIPCO, MALEE ,ERW, DELTA, SVI และ KCE

ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า ภาวะที่เงินบาทอ่อนค่า และการเข้าสู่ฤดูกาลส่งออก นับว่าดีต่อหุ้นส่งออก ทั้งส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และส่งออกอาหาร กล่าวคือ กลุ่มส่งออกชิ้นส่วนฯ ฝ่ายวิจัยได้มีการปรับ Fair Value ของ HANA ขึ้นมาเป็น 44 บาท (จาก 38.50 บาท)

โดยมีการเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2561-62 ขึ้น 0.4% และ 15.0% จากเดิม ผลจาก Gross Margin ที่ดีขึ้นในไตรมาส 2/2561 รวมทั้งประเมินรายได้จะเพิ่มขึ้นจากเซ็นเซอร์กลุ่มสมาร์ทโฟนสัญชาติจีนที่ดีกว่าคาด และจะเพิ่มมากขึ้นในงวดครึ่งปีหลังของปี 61

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยยังคงสมมติฐานผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยได้ตัดลดยอดขายรวมของ HANA ลงจากเดิม 3% ไปแล้ว (ในบทวิเคราะห์อุตสาหกรรมฯ วันที่ 18 มิ.ย. 61 ที่ผ่านมา) เนื่องจาก HANA มีโครงสร้างรายได้จากฐานการผลิตในประเทศจีน 22% และมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ราว 13% ของรายได้รวม ภายใต้ Fair Value ใหม่ ราคาหุ้นปัจจุบันมี upside 10% แนะนำ ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว

ขณะที่ กลุ่มส่งออกอาหาร ยังแนะนำ CPF (FV@B30) นอกจากจะได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าแล้ว ยังได้ประโยชน์จากราคาสุกรที่อยู่ในระดับสูง โดย CPF มีโครงสร้างรายได้จากธุรกิจสุกรในไทย 14% และรายได้จากธุรกิจสุกรในเวียดนาม 7% ของรายได้รวม คาดแนวโน้มธุรกิจจะทยอยฟื้นตัวในงวดครึ่งปีหลังของปี 61 จากปัญหาสุกรล้นตลาดคลี่คลายลง นอกจากนี้ ยังมีการพบโรคไข้อหิวาต์อัฟริกาในสุกรที่ระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน ทั้งนี้รัฐบาลจีนได้ทำลายสุกรไปแล้วจำนวนมากกว่า 3.5 หมื่นตัว จึงน่าจะเห็นจีนนำเข้าสุกรจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนส่วนที่เสียหาย และลดการนำเข้าจากสหรัฐฯ ภายหลังจากถูกปรับขึ้นภาษีนำเข้าขึ้น 25% ส่งผลบวกต่อการค้าขายสุกรชายแดนเวียดนามและไทยให้คึกคักขึ้น และส่งผลบวกทางอ้อมต่อราคาสุกรในไทยและเวียดนาม หนุนผลประกอบการ CPF โดยราคาหุ้นปัจจุบันมี upside 14.3%

ด้าน บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ เงินบาทอ่อนอาจสร้างแรงเก็งกำไรหุ้นส่งออก-หุ้นได้ประโยชน์ CPF, TU, SAPPE, HANA, CENTEL, MINT, ERW

ขณะเดียวกัน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองว่า ผลกระทบจากเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าในระยะสั้นนี้ หลักทรัพย์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออก ที่ได้รับผล sentiment ด้านบวก เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ KCE, HANA, DELTA, SVI กลุ่มเกษตร-อาหาร ได้แก่ CPF, TU, GFPT, TIPCO, MALEE และหลักทรัพย์ท่องเที่ยวได้ประโยชน์ คือแลกเหรียญเป็นบาทได้มากขึ้นเป็น sentiment บวกกับ ERW, CENTEL และ MINT

Back to top button