จัดกลยุทธ์ลงทุน 6 เดือนข้างหน้า รับ SET ทะลุ 1800 จุด แนะเก็บ 30 หุ้นเด่นตัวท็อป!    

จัดกลยุทธ์ลงทุน 6 เดือนข้างหน้า รับ SET ทะลุ 1800 จุด แนะเก็บ 30 หุ้นเด่นตัวท็อป!    


ภายหลังในหลวงโปรดเกล้าฯ กฎหมายลูก 2 ฉบับที่เหลือ (พ.ร.ป. ส.ส. และ พ.ร.ป. ส.ว.) ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ย. หนุนให้ภาพการเลือกตั้งปีหน้าตามแผนโรดแมปมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ได้ทำการรวบรวมกลยุทธ์การลงทุนพร้อมปัจจัยที่ต้องจับตาในการลงทุน มานำเสนอโดยอาศัยบทวิเคราะห์จาก บล.ทิสโก้ ซึ่งมองทิศทางการลงทุนในช่วง 6 เดือนข้างหน้าไว้ดังนี้

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า STRATEGY : ปัจจัยในประเทศที่แข็งแกร่งคาดจะเริ่มหนุนหุ้นไทยในช่วง 6 เดือนข้างหน้า (4Q18 – 1Q19) เป็นขาขึ้น โดยยังเชื่อมั่นอย่างมากกว่า SET Index ผ่านจุดต่ำสุดของปีนี้ไปแล้วที่บริเวณ 1585 จุดเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. และยังคงมอง SET Index จะวิ่งขึ้นทะลุระดับ 1800 จุดได้ในช่วงไตรมาส 4  ในทางเทคนิค มอง SET Index

ขณะนี้อาจมีรูปแบบการเคลื่อนไหวคล้ายคลึงกับช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ SET Index แกว่งตัวไม่ไปไหนอยู่ในกรอบจำกัด พร้อมมูลค่าการซื้อขายเบาบางลง และค่อย ๆ บีบตัวแคบลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดสามารถทะลุออกจากกรอบแกว่งตัวด้านบนได้ และวิ่งขึ้นกว่า 150 จุดในระยะถัดไป หากประวัติศาสตร์ซ้ำรอยมองการแกว่งพักตัวของ SET Index รอบนี้ไม่ควรมีวันใดปิดต่ำกว่าระดับ 1640 จุด (+/-) และน่าจะแกว่งตัวอึดอัดอีกไม่เกิน 2 เดือน ก่อน “Breakout”

ถึงแม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มมีอาการพักตัวจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า แต่น่าจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะในเดือนหน้าจะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลประกาศผลประกอบการ ซึ่งบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ โดยรวมคาดว่ามีกำไร 3Q18F ออกมาดี +19% YoY และค่อนข้างทรงตัว QoQ ประกอบกับสหรัฐฯ จะเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งตามสถิติตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักจะปรับตัวขึ้น ผสานกับในหลวงโปรดเกล้าฯ กฎหมายลูก 2 ฉบับที่เหลือ (พ.ร.ป. ส.ส. และ พ.ร.ป. ส.ว.) ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ย. หนุนให้ภาพการเลือกตั้งปีหน้าตามแผนโรดแมปมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ยังคงมุมมองการอ่อนตัวของราคาหุ้นจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกเป็นจังหวะทยอยสะสมและแนะนำถือลงทุนแบบข้ามปีรับ “Pre-election Rally”

หุ้นเด่นที่น่าสนใจ

(1) หุ้นบลูชิพขนาดใหญ่ รับแนวโน้ม Fund Flows ไหลเข้า : BANK – BBL, KBANK, SCB / ENERG – PTT, IRPC / ICT – INTUCH / PETRO – IVL, PTTGC

 (2) หุ้นอิงการบริโภคภายในประเทศขยายตัวดีต่อเนื่อง : COMM – CPALL, BJC, COM7 / FOOD – MINT / FIN – AEONTS, ASAP, MTC / MEDIA – PLANB, RS

 (3) หุ้นได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ & EEC  : CONMAT – SCC / CONS – CK, STEC, SEAFCO / IE – AMATA, WHA, ROJNA / TRANS – BTS  สำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบหุ้นปันผลเด่น คือ KKP, LH, NYT, TPIPP, TVO

นอกจากนี้ยังเห็นโอกาสในการเทรดดิ้งระยะสั้นกลับมาอีกครั้ง หลังการเมืองเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง และ SET Index เริ่มรีบาวด์ที่โลว์เดิม 1665 จุด เล็งเป้าขึ้นทดสอบ 1695-1705 จุด ผ่านได้มีเป้าหมายถัดไปที่ 1725-30 จุด ยังเน้นหุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศ หุ้นน่าสนใจเทรดดิ้งระยะสั้น ชอบ AMATA, ANAN, BBL, BJC, CENTEL, CK, CPN, KBANK, ORI, SCB, SCC, STEC, SEAFCO

อย่างไรก็ตามสงครามการค้ายังไม่มีท่าทีจะผ่อนคลายลงในระยะสั้น เพราะนอกจากสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ (เพิ่งเสร็จสิ้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะไปเมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา) จะจ่อถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 10-25% ในเร็วๆ นี้แล้ว ล่าสุดประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศพร้อมจะจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีกมูลค่า 2.67 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งจะทำให้มีมูลค่ารวมเทียบเท่ากับมูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนทั้งหมดที่อยู่ที่ 5.05 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปีที่แล้ว

ขณะที่จีนประกาศพร้อมตอบโต้ และเตรียมหารือกับองค์การการค้าโลก (WTO) ในวันที่ 21 ก.ย. นี้ เพื่อขอความเห็นชอบในการใช้มาตรการคว่ำบาตรสหรัฐฯ  นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังเล็งเป้ากีดกันการค้าถัดไปที่ญี่ปุ่นด้วย สิ่งนี้สร้างความไม่แน่นอนแก่ตลาดสูงขึ้น และเริ่มกดดันต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ บ้างแล้ว โดยตั้งแต่เดือน ก.ย. (MTD) ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวลง 0.4% นับเป็นเดือนแรกหลังจากที่ปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 5 เดือนที่ผ่านมารวมกว่า 9.4%

นอกจากนี้มีเหตุการณ์ในต่างประเทศที่น่าติดตามมากเป็นพิเศษในช่วง 4-6 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ท่ามกลางกระแสการอ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์ของค่าเงินสกุลต่าง ๆ ของหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่ (EM) อาทิ ตุรกี, อาร์เจนตินา, อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น ปัจจัยที่น่าติดตามช่วงนี้คงหนีไม่พ้นการประชุมธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ

โดยเฉพาะประเทศใน EM ว่าจะดำเนินการอย่างไรในการกอบกู้สถานการณ์ดังกล่าว  จากการรวบรวมเหตุการณ์สำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในช่วง 4-6 สัปดาห์ข้างหน้านี้ โดยในช่วงครึ่งหลังเดือน ก.ย. สามารถเรียงลำดับเหตุการณ์สำคัญตามวันต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้

13 ก.ย. – การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE), ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) และธนาคารกลางตุรกี (CBRT)

14 ก.ย. – การประชุมธนาคารกลางรัสเซีย (CBR)

19 ก.ย. – การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ), ธนาคารกลางบราซิล (BCB) และธนาคารกลางไทย (BOT)

20 ก.ย. – การประชุมธนาคารกลางแอฟริกาใต้ (SARB) และการประชุมสหภาพยุโรป (EU Summit)

26 ก.ย. – การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)

27 ก.ย. – การประชุมธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP), ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) และเป็นวันครบกำหนดสุดท้ายในการยื่นร่างงบประมาณรายจ่ายของอิตาลี

ทั้งนี้ นักลงทุนควรติดตามเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด แต่โดยรวมให้น้ำหนักเป็นความเสี่ยงในแง่บวกต่อตลาด (Upside Risk) หลังตลาดซึมซับปัจจัยลบผ่านค่าเงินอ่อนไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button