KTB ราคาแข็งมาก

กรุงไทย หรือ KTB ราคาหุ้นปรับขึ้นมาต่อเนื่อง และแข็งแกร่งมาก


ลูบคมตลาดทุน  : ธนะชัย ณ นคร

กรุงไทย หรือ KTB ราคาหุ้นปรับขึ้นมาต่อเนื่อง และแข็งแกร่งมาก

แม้ในวันที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับลงอย่างหนัก 28 – 30 จุด แต่หุ้นกรุงไทย ก็ยังยืนได้ หรือติดลบเพียงเล็กน้อย

ย้อนกลับไปดูราคาหุ้นกรุงไทย เริ่มวิ่งขึ้นมาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2561 จากราคา 16.90 บาท และเลยมาจนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ราคาหุ้นขึ้นมาอยู่ที่ 19.00 บาท

หลังจากนั้นเริ่มย่อตัวลงมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก

ก่อนที่ราคาหุ้นจะเริ่มกลับมาวิ่งอีกครั้งและมาชนแนวต้านสำคัญ 20.00 บาท เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2561

ส่วนเมื่อวานนี้ ราคาปรับตัวลงไป 0.20 บาท (ปิด 19.80 บาท) น่าจะมาจากแรงขายทำกำไรบ้าง หลังจากปรับขึ้นมาค่อนข้างมากเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ตามทิศทางของตลาดที่บวกกว่า 38 จุด

กรุงไทยมีปัจจัยบวกอยู่หลายปัจจัยที่ทำให้ราคาปรับขึ้นแข็งแกร่งมาก

เริ่มจาก 1.ราคาหุ้นยังต่ำกว่าบุ๊กแวลู หรือมูลค่าตามบัญชีค่อนข้างมาก

ปัจจุบัน บุ๊กแวลูกรุงไทยอยู่ที่ 20.65 บาท

ราคาปิดเมื่อวานนี้ 19.80 บาทยังคงห่างจากบุ๊กแวลูอยู่ 4.30%

มาดูราคาเป้าหมายของกรุงไทยกันบ้าง โดยเป็นราคาที่อัพเดทล่าสุด ณ วันที่ 17 กันยายน 2561 หรือเมื่อวานนี้

จากข้อมูลของ settrade ราคาเป้าหมายต่ำสุดคือ 18.90 บาท ซึ่งเป็นการให้ไว้ของ บล.เอเซีย พลัส หรือ ASP และสูงสุดอยู่ที่ 23.00 บาท ที่ให้ไว้โดย บล.ธนชาต และ บล.ไทยพาณิชย์

ส่วนราคา IAA Consensus คือ 21.25 บาท

ราคาหุ้นปิดเมื่อวานนี้มีอัพไซด์จาก IAA Consensus ราว ๆ 7.32%

กรุงไทยยังมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผล หรือ Dividend yield เฉลี่ย 3.15% และมีระดับพี/อี เรโช 11.10 เท่า ส่วน P/BV อยู่ที่ 0.97 เท่า ถือเป็นหุ้นในกลุ่มธนาคารเพียงหลักทรัพย์เดียวที่ยังต่ำกว่า 1 เท่า

กรุงไทย ถูกคาดหมายจากนักวิเคราะห์ว่า กำไรในปี 2561 จะเพิ่มขึ้น 30% หรือกว่า 2.95 หมื่นล้านบาท

2.ปัจจัยบวกต่อมาคือ แนวโน้มในครึ่งปีหลังจะตั้งสำรองหนี้สูญลดลง จากแนวโน้มหนี้ที่มีคุณภาพมากขึ้น และการเลื่อนใช้มาตรฐานบัญชี IFRS 9 ไปเป็นช่วงต้นปี 2562 ทำให้การตั้งสำรองฯ อยู่ในระดับที่เป็นปกติ

ขณะที่ผลกระทบค่า Digital banking fee ค่อนข้างต่ำด้วย

3.ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ หรือ TFF มูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท ที่ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ไปแล้ว และจะเริ่มขายได้ในเดือนตุลาคมนี้ จะช่วยสร้างรายได้ค่าฟีให้กับกรุงไทยอย่างมีนัยสำคัญ จากการที่หน่วยของกองทุนจะต้องขายผ่านกรุงไทย

และยังไม่รวม TFF ช่วงเฟส 2 ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการต่อทันทีหลังเฟส 1 แล้วเสร็จ

ซึ่งก็น่าจะส่งผลต่อค่าฟีในระยะถัดไปของกรุงไทยเช่นกัน

4.เตรียมบันทึกกำไรพิเศษจาก บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือเดิมชื่อ บมจ.กฤษดามหานคร ที่จะมีการประมูลขายที่ดินที่ถูกนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

และมีการประเมินมูลค่าที่ดินดังกล่าวประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

แม้ว่าที่ดินเรื่อง AQ จะเลื่อนการประมูลออกไปบ้าง

แต่ก็เชื่อกันว่า การประมูลที่ดินดังกล่าว ไม่น่าจะยืดเยื้อมากนัก หรืออย่างช้าอาจจะแล้วเสร็จต้นปี 2562

และอย่างเร็วในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

ปัจจัยบวกสุดท้ายคือ การปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการภาครัฐ ที่กำลังมีนโยบายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากขึ้น และถึงแม้สินเชื่อประเภทนี้จะมาร์จิ้นต่ำ แต่ก็ยังเป็นโอกาสที่ทำให้สินเชื่อของกรุงไทยปล่อยได้เข้าเป้า

ส่วนราคา KTB จะไปต่อได้หรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้

แต่ตอนนี้ต้องมาลุ้นกันก่อนว่า KTB จะผ่านแนวต้านสำคัญ 20.00 บาทได้วันไหน

Back to top button