“โศภชา” ชี้ “สราญรมย์ฯ” ไม่เข้าข่ายต้องทำอีไอเอ! ยัน GUNKUL บันทึกรายได้ปกติ

"โศภชา" ชี้ "สราญรมย์ฯ" ไม่เข้าข่ายต้องทำอีไอเอ! ยัน GUNKUL บันทึกรายได้ปกติ


นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง เปิดเผยในรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” ออกอากาศทางข่าวหุ้นทีวีออนไลน์ และสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) FM 102 MHz. ถึงกรณีที่สมาคมนักกฎหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และตัวแทนชาวบ้านที่อาศัยติดกับโครงการโรงไฟฟ้าสราญรมย์วินด์ฟาร์ม ยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และบริษัทกรีโนเวชั่น เพาเวอร์ จำกัด หรือ GNP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ต่อศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ว่า โครงการโรงไฟฟ้าสราญรมย์วินด์ฟาร์ม ของบริษัทมีการดำเนินการก่อสร้างถูกต้องตามข้อกำหนดของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทุกประการ

โดยในส่วนของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโรงไฟฟ้าพลังงานลมนั้น มีเงื่อนไขอยู่ 2 ประการคือ โครงการต้องอยู่ในเขตพื้นที่ของป่าอนุรักษ์ หรือหรือในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่หนึ่ง ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าสราญรมย์วินด์ฟาร์มตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นโฉนด และบางส่วนที่เป็น นส.3 หรือหนังสือรับรองจากเจ้าหน้าที่ว่า ได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้วแต่มีเพียงสิทธิ์ครอบครองไม่มีกรรมสิทธิ์ โดยหนังสือเป็นแบบธรรมดามีการรังวัด และจัดทำแผนที่ของที่ดิน ซึ่งโครงการของบริษัทนั้นไม่เข้าข่ายเงื่อนไขต้องทำ EIA ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กำหนด

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) รวมไปถึงรายงานความปลอดภัย จัดประชุมเพื่อรับฟังจากคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย รวมไปถึงการจัดประชุมร่วมกับชาวบ้านที่เข้าข่ายได้รับผลกระทบ ทั้งสิ้น 10 หมู่บ้านและมีการเซ็นเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นซึ่งมีการจัดขึ้นถึง 2 ครั้ง

โดยครั้งแรก อยู่ในช่วงเริ่มพัฒนาการก่อสร้างโครงการเมื่อปี 2557 แต่ในขณะนั้น เทคโนโลยีของกังหันลมได้มีการเปลี่ยนแปลง โครงการจึงได้มาดำเนินการก่อสร้างอีกครั้งในปี 2560 ซึ่งทางโครงการได้จัดการประชุมร่วมกับชาวบ้านเพื่อรับฟังความคิดเห็นอีกเป็นครั้งที่ 2

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการการเยียวยา บริษัทได้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยในแต่ละหมู่บ้าน อาจมีบางครัวเรือนที่ไม่ได้รับการเยียวยาเนื่องจากไม่ได้อยู่ในรัศมีของโครงการ บริษัทจึงไม่สามารถจ่ายค่าเยียวยาเป็นรายครัวเรือนตามที่ กกพ. กำหนดได้ แต่บริษัทมีนโยบายในการดำเนินงานด้วยความถูกต้อง และต้องการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างเป็นมิตร บริษัทจึงเสนอการเยียวยาในรูปแบบของกองทุนหมู่บ้านแทน แต่ชาวบ้านไม่ต้องการ ซึ่งตามหลักการแล้วบริษัทไม่จำเป็นต้องทำ

ขณะที่ในส่วนของผลกระทบด้านเสียง ทางโครงการได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เพื่อเข้ามาตรวจสอบและวัดค่าเสียงไปเรียบร้อยแล้ว โดยผลออกมาไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด

สำหรับประเด็นเรื่องความปลอดภัยที่ทาง กกพ. ได้มีประกาศออกมาโดยกำหนดระยะห่างจากโคนเสากังหันลมไม่น้อยกว่า 3เท่าของผลรวมของความสูงเสากังหันลมบวกรัศมีใบพัดถึงเขตที่ดินของบ้านหรือที่อยู่อาศัยหลังที่ใกล้ที่สุดของชุมชนของเขตชุมชน น.ส.โศภชา ชี้แจงว่า โครงการได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างได้ก่อนที่จะมีประกาศดังกล่าวออกมา ทางบริษัทจึงดำเนินการขอผ่อนปรนกับ กกพ. ซึ่งอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างต่อได้ภายใต้เงื่อนที่กำหนด อาทิ การทำรายงานผลกระทบของเสียงทุก 6 เดือน ไม่ให้มีระดับเสียงระหว่างการดำเนินงานที่แตกต่างกันเกิน 10 เดซิเบล และรายงานเรื่องความปลอดภัย

โดยขณะนี้ โครงการโรงไฟฟ้าสราญรมย์วินด์ฟาร์ม ได้ทำการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ กกพ. ได้ออกใบอนุญาตให้บริษัทประกอบกิจการพลังงาน และขณะนี้โครงการดังกล่าวยังดำเนินการจ่ายไฟได้ตามปกติ 

“เราพยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ ซึ่งเราไม่ได้อยากทำให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบเราเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี เราอยู่ตรงนั้นอย่างน้อย 25 ปี เราก็อยากจะอยู่ไปกับชุมชน อะไรที่พอช่วยเหลือได้ เราก็ยินดีที่จะทำ” น.ส.โศภชา กล่าว

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากปัจจัยตามฤดูกาล ซึ่งกระแสลมในไตรมาส 3 ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้โครงการสามารถผลิตไฟได้มากกว่า 2 ไตรมาสที่ผ่านมา

“อยากให้มีความเชื่อมั่นในบริษัท หากมีข้อสงสัยเกิดสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์โดยตรง และผู้บริหารยินดีที่ใจให้ข้อมูล และชี้แจงทุกประเด็น เพราะโครงการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างครบถ้วน” น.ส.โศภชา กล่าวในตอนท้าย

Back to top button