ฝัน(เปียก)ที่การบินไทย

เมื่อวานนี้ เป็นวันเปิดตัวครั้งสำคัญของนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ คนล่าสุด หรือดีดี ของสายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ที่นักลงทุนในตลาดหุ้นรู้จักและเข็ดขยาดมานักต่อนัก


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

เมื่อวานนี้ เป็นวันเปิดตัวครั้งสำคัญของนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ คนล่าสุด หรือดีดี ของสายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ที่นักลงทุนในตลาดหุ้นรู้จักและเข็ดขยาดมานักต่อนัก

งานใหญ่อย่างนี้ มีหรือที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะพลาดออกไป “ชี้นิ้ว” การมอบนโยบายให้กับผู้บริหารชุดใหม่เอาฤกษ์เอาชัย

เมื่อเริ่มต้นอย่างนี้ หลังจากการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่อันทุลักทุเลและเนิ่นนานกว่า 1 ปีครึ่ง คงจะต้องเตรียมมธุรสวาจามาว่ากล่าวกันแต่ด้านบวก พยายามลืมตัวเลขทางลบไปก่อน

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ แสดงวิสัยทัศน์ว่า ในปี 2563 จะหลุดพ้นจากการขาดทุนและมีกำไรอย่างยั่งยืน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การบินไทยมีกำไรจากการดำเนินงาน แม้มาร์จิ้นจะบางลงเรื่อย ๆ จากต้นทุนสูงขึ้น และการใช้เครื่องบินหลากหลายประเภท การทำให้มีกำไรและยั่งยืนขึ้นมาได้ต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทยทำรายได้ดี มี Cabin Factor ระดับ 80% สิ่งที่ต้องทำต่อไปที่วางแผนไว้ จะเพิ่มดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง

ยุทธศาสตร์ล่าสุดที่ดีดีล่าสุดระบุคือ จะเพิ่มรายได้การปรับปรุงรายได้ต่อหน่วย (yield) เน้นทำตลาดองค์กร พร้อมกับเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน (จากธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งในอู่ตะเภา และที่ดอนเมือง รวมทั้งธุรกิจครัวการบิน) เพิ่มขึ้น 15-20% จากเดิม 10% ของรายได้รวม ส่วนรายได้เสริมอื่นจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 5-20% ต่อปี จาก 2.2% ของรายได้รวม และตั้งเป้าระดับกลางว่าจะก้าวขึ้นสู่การเป็นสายการบินติดอันดับ Top 5 ของโลกภายในปี 2565 (อันเป็นช่วงเวลาครบวาระ 4 ปีของการทำงานพอดี)

พร้อมกันนั้น จะมีการขยายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ โดยทีมไทยแลนด์ ได้แก่ การบินไทย, ไทยสมายล์, นกแอร์, บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยไลอ้อนแอร์, แอร์เอเชีย, AOT, KTB, ททท. และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เลอเลิศนี้ แทรกเรื่องที่คนได้ยินแล้วต้องถึงบางอ้อกันทุกคน เพราะแค่ “อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่” นั่นคือ การซื้อเครื่องบินลำใหม่เพิ่มเติม อันเป็นกิจวัตรที่ทำให้บริษัทสายการบินนี้ มีภาระหนี้หลังแอ่นมาตลอด

นายสุเมธ กล่าวว่า แผนการจัดซื้อเครื่องบินของการบินไทย อาจมีการทบทวน และจะไม่ใช่แค่แสนล้านบาท เพราะอ้างว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2561) การบินไทยมีจำนวนเครื่องบินเพิ่มมาเพียง 3 ลำ เป็น 103 ลำ ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดกลับปรับลดลงเหลือ 27.3% จาก 37.1% หรือส่วนแบ่งตลาดหายไป 10% ดังนั้นจะน่าตระหนกมากกว่าหากผ่านไปอีก 5 ปี จะหายไปอีก 10% ถ้าการบินไทยมีเครื่องบินที่น้อยจนเกินไป หรือไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมการบิน การบินไทยก็จะหายไป เพียงแต่การจัดซื้อต้องมีแผนและยุทธศาสตร์ ซึ่งจะไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการจัดซื้อเครื่องบิน โดยหากสั่งวันนี้จะได้เครื่องบินในอีก 24 เดือน

ทั้งนี้ การบินไทยเพิ่งได้แจ้งกับคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ว่า อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ที่ 80% แต่ yield อ่อนตัว แต่เทียบกับคู่แข่งที่มี yield ลดลงมากกว่าการบินไทย ส่วนค่าใช้จ่ายน้ำมันและซ่อมบำรุงสูงขึ้น ขณะที่มีสิ่งที่ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องเทคโนโลยี เรื่องดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งต้องปรับปรุง ไม่ใช่แค่เพียงเป็นการขายตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ต แต่จะมีการขายผ่านแพลตฟอร์มอื่นได้ด้วย

ทางด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการ (สายตรงของนายสมคิด) เปิดเผยว่า บริษัทจะทบทวนแผนการจัดซื้อเครื่องบินรอบใหม่มูลค่า 1 แสนล้านบาท จำนวน 23 ลำ หลังจากปรับยุทธศาสตร์คาดว่าจะใช้เวลาภายใน 3 เดือน โดยไปพิจารณา Network และเส้นทางบิน เนื่องจากตนและนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) THAI เพิ่งมารับตำแหน่งไม่นาน แต่ก็ให้ยาหอมว่าแผนที่จะทบทวน มันอาจจะไม่ใช่แสนล้านบาท และไม่จำเป็นต้องเป็น 23 ลำ โดยวางข้อกำหนดว่า เครื่องบินมีขนาดให้น้อยลงไม่หลากหลาย และระยะทางต้องสอดคล้องกับ Network

ด้านนายสมคิด ก็ใช้ภาษาดอกไม้เกลื่อนกลาดว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุน THAI แต่ก็ต้องการความชัดเจนในเรื่องการจัดซื้อเครื่องบิน มีรายละเอียดรูปแบบวิธีการจัดซื้อ และมีเส้นทางบินใหม่ที่รองรับก่อนสิ้นปีนี้ โดยรัฐบาลพร้อมให้ธนาคารกรุงไทย (KTB) ให้ความสำคัญ เนื่องจากการบินไทยเป็นหน่วยงานสำคัญที่ต้องได้รับการสนับสนุน

พูดเรื่องซื้อเครื่องบินทีไร ทำให้หลายคนลืมเรื่องกลยุทธ์บริษัทนี้กำหนดไว้ล่าสุด 5 ข้อที่เรียกว่า ABCDE (A : Aggressive Profit, B : Business Portfolio, C : Customer Experience, D : Digital Technology และ E : Effective Human Capital Management) ไปหมดสิ้น เพราะกลับมาสู่ปัญหาพื้นฐานของการบินไทย คือ ความสามารถในการแข่งขันที่ลดทอนลงในหลายปีนี้

งบการเงินของการบินไทยย้อนหลัง 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 แม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่กลับปรากฏตัวเลขขาดทุนมากมาย ยกเว้นปี 2559 ปีเดียว ที่มีกำไรพิเศษจากอื่น ๆ เข้ามาเสริม ทำให้มีกำไรสุทธิเพียงแค่ 15 ล้านบาท จนเมื่อสิ้นงวดไตรมาสสองของปีนี้ มีตัวเลขขาดทุนสะสมมากถึง 24,449 ล้านบาท

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในการดำเนินงานปกตินั้น การบินไทยไม่เคยมีกำไรเลยมานานหลายไตรมาสจนเป็น “ปกติ” (ไม่นับเหตุบังเอิญว่าในบางไตรมาส จะมีข้อยกเว้น…มีกำไรพิเศษเข้ามาทำให้กำไรสุทธิเป็นบวก ประทังหรืออำพรางไว้)

โดยทั่วไป กำไรพิเศษของ THAI มักซ้ำซากกับปัจจัยหลัก 2 อย่างเท่านั้น …1) ลดต้นทุนการเงินหลากรูปแบบ 2) กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน (มีไตรมาสแรกของปี 2559 ที่มีกำไรพิเศษแปลก ๆ…จากการบันทึกกลับ) หากว่าไตรมาสไหนไม่มีกำไรพิเศษดังกล่าวเข้ามา ก็กลับ “ขาดทุนตามปกติ” เหมือนเดิม

ที่สำคัญกว่านั้น ประเด็นเรื่องภาระหนี้ที่ท่วมทับจนล่าสุด มีหนี้ต้องครบกำหนดชำระใน 1 ปี มากถึง 129,948 ล้านบาท จากยอดหนี้สินรวมล่าสุด 250,434 ล้านบาท เทียบกับส่วนผู้ถือหุ้นที่มีเพียง 31,321 ล้านบาท เท่ากับสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น หรือดี/อี ที่ประมาณ 8 เท่าเศษ

ตัวเลขหนี้อย่างนี้ หากไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแล้ว มีโอกาสที่จะต้องถูกบรรดาเจ้าหนี้ขอศาลพิทักษ์ทรัพย์ไปแล้ว

ฐานะการเงินที่เปราะบางข้างต้น การคิดถึงเงินลงทุนเพื่อรับมือการแข่งขัน หรือการใช้จ่ายใหม่ ๆ ย่อมมีแต่ข้อจำกัดทั้งสิ้น แผนธุรกิจทั้งหลายกลายเป็น “ฝันเปียก” ครั้งแล้วครั้งเล่า

หลายครั้งการบินไทยตกเป็นข่าวลือเรื่องการเพิ่มทุนที่ส่งผลต่อราคาหุ้น รวมทั้งครั้งล่าสุดในเดือนนี้เอง จากแผนการซื้อเครื่องบินขนาดใหญ่ 23 ลำอีกครั้ง มูลค่ากว่าแสนล้านบาท ต้องออกมาปฏิเสธเป็นพัลวัน กลายเป็นแรงกดดันต่อเนื่อง และทำให้ภาพลักษณ์องค์กรเสียหาย

ภาษาดอกไม้ของประธานกรรมการ ดีดี และรองนายกรัฐมนตรีวานนี้ จะเป็นฝันเปียกหรือไม่ อีกไม่นานคงรู้ แต่งานนี้บริษัทขายเครื่องบินอย่างแอร์บัส และโบอิ้ง นอนกระดิกนิ้วรอรับคำสั่งซื้อได้เลย เพียงแต่ยังไม่รู้ชัดว่าที่ไหนจะกินรวบ หรือกินแบ่งที่ไม่เท่ากันเท่านั้น

Back to top button