ธรรมาภิบาลมวยล้ม

ข้อสรุปจากการตรวจสอบปัญหาในกระบวนการจัดหาวัตถุดิบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ หรือข้อบกพร่องในการที่สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบสูญหายไปจนต้องตั้งค่าความเสียหายในไตรมาสสองที่ผ่านมามากถึง 2,006.18 ล้านบาท ของบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC มีความน่าสนใจในประเด็นระหว่าง ธรรมาภิบาล กับ ระบบการปฏิบัติงาน อย่างยิ่งจนชวนให้ตั้งคำถามตัวโต ๆ เลยทีเดียว


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ข้อสรุปจากการตรวจสอบปัญหาในกระบวนการจัดหาวัตถุดิบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ หรือข้อบกพร่องในการที่สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบสูญหายไปจนต้องตั้งค่าความเสียหายในไตรมาสสองที่ผ่านมามากถึง 2,006.18 ล้านบาท ของบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC มีความน่าสนใจในประเด็นระหว่าง ธรรมาภิบาล กับ ระบบการปฏิบัติงาน อย่างยิ่งจนชวนให้ตั้งคำถามตัวโต ๆ เลยทีเดียว

อันที่จริงแล้ว คำถามเรื่องธรรมาภิบาลถูกตั้งไว้ก่อนเพื่อนเลยทีเดียว เหตุผลเพราะ GGC มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC ที่ถือหุ้นมากถึง 72% ทีเดียว

ถ้าเป็นบริษัทอื่น ๆ คำถามเรื่องธรรมาภิบาลน่าจะเป็นเรื่องรองลงไป

ดังที่ทราบกัน (ถ้านักลงทุนทำการบ้านละเอียดหน่อย) ผลของปัญหาดังกล่าว ทำให้งบการเงินสิ้นไตรมาสสองของ GGC เข้าข่ายเลวร้ายทีเดียว เพราะทำให้ขาดทุนสุทธิมากถึง 1,788.58 ล้านบาท และมีตัวเลขขาดทุนสะสมเป็น 1,617.38 ล้านบาท

ข้อสรุปของคณะตรวจสอบ ระบุว่า 

บริษัทได้มีการออกแบบการควบคุมภายในของกระบวนการจัดหาวัตถุดิบและการบริหารสินค้าคงคลังในจุดที่สำคัญไว้อย่างเพียงพอแล้ว (เช่น การจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการ Value Chain Management (VCM) เพื่ออนุมัติปริมาณและราคาซื้อวัตถุดิบเป็นรายสัปดาห์ การกำหนดให้มีการออกใบสั่งซื้อ การชั่งน้ำหนักวัตถุดิบเพื่อประกอบการชำระเงิน การยืนยันยอดวัตถุดิบคงเหลือกับโรงกลั่น ณ สิ้นเดือน การจัดทำรายงานสูญหายเสียหายจากการขนส่งรายเดือน การกำหนดคุณสมบัติและการประเมินผลผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบ และการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นระบบที่ได้มาตรฐานและยอมรับเป็นการทั่วไป (ระบบ SAP) มาใช้ในกระบวนการจัดซื้อวัตถุดิบ โดยทั้งหมดนี้ได้กำหนดไว้ในคู่มือการปฏิบัติงานของบริษัทแล้ว)

  แม้จะมีระบบปฏิบัติงานที่รัดกุมตามข้อแรก แต่ขั้นตอนการปฏิบัติงานในบางเรื่องยังไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้อย่างเพียงพอ และผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ดำเนินการตามระบบการควบคุมที่บริษัทกำหนดไว้ในประเด็นที่สำคัญบางประการ (ยังผลให้เกิดความบกพร่องขึ้น)

ข้อสรุปดังกล่าว แม้จะยอมรับแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ว่าระบบมีช่องโหว่ “สำคัญบางประการ” แต่ก็ตอกย้ำเป็นนัยว่า ไม่ได้เกิดจากการทุจริตของพนักงานที่เกี่ยวข้อง เพียงแค่ “ไม่ได้ทำตามระบบเคร่งครัด” เท่านั้น ตรงกันข้ามกับเรื่องราวตอนที่นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ GGC ได้ประกาศลาออกทันที มีผลวันที่ 29 มิถุนายน 2561 หลังจากที่บริษัทแจ้งถึง “การทุจริต” วัตถุดิบคงคลัง

พร้อมกับข้อสรุปดังกล่าว คณะตรวจสอบพบว่า สาเหตุสำคัญของปัญหาที่ตรวจพบในกระบวนการจัดหาวัตถุดิบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัท ได้แก่

1.โครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระบวนการจัดหาวัตถุดิบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยโครงสร้างการบริหารงานของหน่วยงานดังกล่าวในปัจจุบัน ควรปรับปรุงให้มีกระบวนการตรวจสอบระหว่างกัน (Check & Balance) ให้มากขึ้น โดยแบ่งแยกโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้อยู่ภายใต้การบริหารงานของผู้บริหารต่างสายงานกัน ซึ่งจะทำให้มีกระบวนการตรวจสอบระหว่างกันได้มากขึ้น และลดโอกาสในการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน

2.กระบวนการวางแผนจัดซื้อและการสั่งซื้อวัตถุดิบในปัจจุบัน มีการใช้ข้อมูลอ้างอิงจากข้อมูลที่เก็บรักษาภายในหน่วยงาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อน หรือความผิดพลาด โดยบริษัทยังไม่ได้ใช้งานระบบ SAP ที่มีอยู่ให้เป็นระบบควบคุมการทำงานในกระบวนการดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการปรับปรุงให้มีการใช้งาน Module ต่าง ๆ ในระบบ SAP ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้เป็นระบบควบคุมการปฏิบัติงานอย่างเต็มรูปแบบ ตลอดจนปรับปรุงขั้นตอนและคู่มือการปฏิบัติงานให้มีรายละเอียดมากขึ้น เพื่อใช้อ้างอิงในระหว่างการทำงาน ทั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้การทำงานลัดขั้นตอน และโอกาสไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงเกิดขึ้นได้ยาก

3.กระบวนการจัดทำรายงานการขนส่งและการจ่ายค่าขนส่งวัตถุดิบยังไม่รัดกุมเพียงพอ โดยข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำรายงานการรับวัตถุดิบสามารถปรับปรุงให้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้นได้ โดยการตรวจทานกับข้อมูลจาก Third Party ซึ่งการกำหนดขั้นตอนและจัดทำรายงานการขนส่งเพื่อตรวจสอบปริมาณวัตถุดิบที่ขนส่ง โดยเปรียบเทียบกับใบชั่งน้ำหนักจริง เชื่อว่าจะช่วยปรับปรุงให้ข้อมูลที่ใช้งานมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น และสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงกับกระบวนการรับวัตถุดิบได้อีกด้วย

ท้ายสุดของรายงาน ระบุอีกครั้งว่า ผลการตรวจสอบนี้ คณะกรรมการบริษัทได้รับทราบและเห็นชอบในหลักการตามรายงานผลการสอบทานดังกล่าวแล้ว และได้มีมติมอบหมายให้ฝ่ายจัดการดำเนินการปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องตามแนวทางและข้อสรุปดังกล่าวต่อไป

ลงเอยแบบนี้ หากเป็นเวทีมวย ต้องบอกว่า มีเสียงโห่กึกก้องจากฝั่งมุมน้ำเงินว่า “มวยล้ม มวยล้ม” ตามมาเป็นธรรมดา เพราะเป็นข้อสรุปที่ขัดตาคนดูอย่างมาก

มีอย่างที่ไหน ทำเงินหายไปมากมายกว่า 2 พันล้านบาท จนฐานะการเงินซวดเซ ไม่มีคนกระทำผิด ทั้งที่การตรวจสอบก็มีความชัดเจนในข้อสรุปว่า มีระบบการกำกับดูแลที่จ่ายเงินซื้อมาแพงเว่อร์ แต่กลับจงใจใช้ระบบแบบ “ใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้” ขาดความเป็นมืออาชีพ

การปฏิบัติงานที่บกพร่อง สร้างความเสียหายจำนวนมาก แม้ไม่สามารถกล่าวโทษว่าทุจริตได้ ก็ยังต้องมีความผิดในฐานะ “ละเว้นการปฏิบัติ” ปล่อยปละละเลยให้มีความเสียหายเกิดขึ้น ต้องมีบทลงโทษตั้งแต่ขั้นต่ำถึงขั้นสูง อาจจะต้องถึงขั้นให้คนที่รับผิดชอบหน่วยงานที่ “ไม่ได้ใช้งานเต็มระบบ” ให้ออกจากงาน หรือออกจากหน้าที่ไปเลย เพราะถือว่าประมาทเลินเล่อโดยเจตนา

ข้อเสนอแนะที่ให้แก้ไขความบกพร่องในอนาคต เป็นคนละเรื่องกับความผิดที่สำเร็จแล้ว ไม่ควรมีการกลบเกลื่อนให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามวยล้มต้มคนดู

เช่นเดียวกันกับการดำเนินคดีกับกลุ่มพนักงานและบริษัทคู่ค้าที่ร่วมกันโกงวัตถุดิบคงคลังให้สาธารณชนได้รับรู้ (ถ้ามีหลักฐาน) ก็ควรต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย

บริษัทมหาชนจดทะเบียนนะครับ ไม่ใช่ร้านห้องแถวสั่ว ๆ การปฏิบัติงานแบบ “ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้” จึงเกิดขึ้นไม่ได้เลย ไม่ว่ากรณีใด ๆ เพราะไม่ใช่เรื่อง “สุดวิสัย” หรือ “นอกเหนือการควบคุม”

ถ้าไม่ทำ หรือไม่ยอมทำ ก็น่าจะปลดคณะกรรมการยกชุดเลย หาคนใหม่มานั่งรับเบี้ยประชุมแทนดีกว่า ธรรมาภิบาล ไม่ได้มีไว้แปะผนังสำนักงานเล่นโก้ ๆ ครับ ต้องลงมือทำด้วย

Back to top button