นินทากาเล เจ้าแม่ตลาดหุ้น

วันศุกร์ที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโบรกเกอร์รายที่ 2 ต่อจากบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ที่ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สั่งปรับเป็นเงิน 1 ล้านบาท ในความผิดฐานปล่อยให้ลูกค้าต่างประเทศขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือ หรือ Naked Short Sellings


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

วันศุกร์ที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโบรกเกอร์รายที่ 2 ต่อจากบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ที่ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สั่งปรับเป็นเงิน 1 ล้านบาท ในความผิดฐานปล่อยให้ลูกค้าต่างประเทศขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือ หรือ Naked Short Sellings

ความน่าสนใจ (ที่สร้างความสะใจ และฮือฮาอย่างมากในวงการชนิด “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์”) อยู่ที่ว่า ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทนี้ คือ นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ “เจ๊อู้” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ซึ่งกำลังตกเป็นเหยื่อฝ่ายเดียวของเสียงนินทา ที่แผ่ขยายบนสื่อออนไลน์ยามนี้พอดี

ลำพังตำแหน่งงานปกติคงไม่ทำให้มีเสียงนินทาแพร่สะพัดไกล แม้ว่าปีที่ผ่านมา และต้นปีนี้ 

บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จะขึ้นครองส่วนแบ่งการตลาดธุรกรรมนายหน้าซื้อขายหุ้น แซงเจ้าใหญ่ที่ครองมายาวนานอย่างเมย์แบงก์ กิมเอ็ง ลงไปชั่วคราว ถ้าไม่มีปัจจัยอื่น

ปัจจัยที่ว่าคือ เจ๊อู้ ยังนั่งในตำแหน่งอื่นอีก 3 ตำแหน่ง ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (สมาคม บล.) หญิงคนแรกที่ครองเก้าอี้นายกฯ ถึง 2 สมัย 8 ปีซ้อน แล้วยัง “ก้นใหญ่” ที่เชื่อมต่อไปถึง ตำแหน่งคณะกรรมการวินัยของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เป็นหน่วยงานกำหนดชะตาชีวิตการทำงานของคนในวงการตลาดทุน รวมถึงกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ (กินความถึงตำแหน่งคณะกรรมการพิจารณาผลตอบแทน สรรหาผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ)

ข้อค่อนแคะนินทาว่า “เจ๊อู้” เป็นผู้กว้างขวางคับตลาดทุนระดับ “ถนนกว้างสี่วา มาไม่ได้” เพราะมีอำนาจครอบคลุม 4 หน่วยงาน ทั้ง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคม และ CEO โบรกเกอร์ จึงเลี่ยงยาก โดยเฉพาะในสังคม “ทอนกำลัง” (ไม่อยากให้ใครเด่นดังกว่า) ที่ถนัดกับพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอก

คำนินทาแพร่กระจายยิ่งกว่าไวรัส และมีเค้าลางที่จะยกระดับเป็นสัจธรรมขึ้นว่า เธอเป็นผู้ที่สามารถใช้อิทธิพลชี้เป็นชี้ตายให้คนในวงการได้

ความเชื่อดังกล่าว ถึงขั้นต่อยอดไปว่า บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เป็นบริษัท “ลูกรัก” ของ ก.ล.ต. ที่ไม่มีวันถูกลงโทษ ทั้งที่ธุรกรรมส่วนใหญ่ของบริษัทคือนายหน้าหลักทรัพย์แบบโฮลเซล ไม่มีส่วนแบกรับภารกิจดูแลนักลงทุนรายย่อยเหมือนโบรกเกอร์ที่ทำด้านรีเทลรายอื่น ๆ

ก่อนหน้านี้มีการแพร่กระจายว่า เจ๊อู้มีอิทธิพลจากการนั่งควบ 4 ตำแหน่ง ถึงขั้นฝากลูกสาวเข้าทำงาน “ฝังตัว” ใน ก.ล.ต. ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาแบบทำลายล้าง เพราะไม่ได้พิจารณาอย่างเป็นธรรมเลยว่า ความรู้ความสามารถของลูกสาวเธอนั้นเป็นเช่นใด หากสรุปแบบหลงผิดว่า ทำไม่ได้ เพราะเป็น “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ก็ตื้นเขินเกินไป

เอกสารที่แพร่กระจาย (ตามภาพ) ที่ไม่เป็นธรรมนี้เป็นข้อกล่าวหาฝ่ายเดียว ไม่เปิดโอกาสให้แก้ตัว ยิ่งระบุว่าจะเป็นหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรีและอื่น ๆ (ซึ่งไม่รู้เช่นกันว่าทำจริงแค่ไหน เพราะระบุว่าส่งถึง บิ๊กตู่ ท่านรองนายกฯสมคิด ท่านอภิศักดิ์ และท่านรพี) ก็ตอกย้ำว่า การนินทากาเลนั้น ได้ซ่อนตัวรอทำลายล้างอยู่ยามเผลอหรือพลาดพลั้ง

กรณีที่ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงโทษกรณีลูกค้า “ชอร์ตเซล แล้วไม่มีหุ้นไปคืน” ที่เกิดขึ้น ทำให้ข้อนินทากล่าวร้ายเชิงลบต่อบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) และตัวเจ๊อู้ เจือจางลงไปมากทีเดียวว่า เอาเข้าจริง เธอก็ไม่ได้มีอิทธิพล หรือใช้อิทธิพลจากตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อเอาตัวรอดจากการกระทำความผิด

ยิ่งกรณีความผิดที่เกิดขึ้นนั้น หากเจาะลึกลงไปจะพบว่า ไม่ได้เป็นการจงใจกระทำผิดของโบรกเกอร์แต่อย่างใด แต่การที่ลูกค้าต่างประเทศที่ซื้อขายหุ้นผ่านช่องทางคัสโตเดียนนั้น เป็นช่องโหว่ที่เปิดเอาไว้ ยากจะกำกับดูแลได้

กรณีของ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด (ที่ถูกตลาดฯ สั่งปรับ 5.8 ล้านบาทในกรณีเดียวกัน) ที่ถูกกล่าวโทษ ฐานปล่อยให้ลูกค้าต่างประเทศขายหุ้นจองหรือ IPO โดยไม่มีหุ้นในมือในลักษณะชอร์ตเซล นอกจากสะท้อนให้เห็นจุดอ่อนของพฤติกรรมนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศที่ไม่เคารพกฎกติกาแล้ว ยังสะท้อนช่องโหว่ของการกำกับดูแลลูกค้าต่างประเทศของบริษัทหลักทรัพย์ไทยได้ดี

(ส่วนเรื่องที่ทางบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด โวยวายในการอุทธรณ์บทลงโทษ อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะ “ใคร ๆ ก็ทำกัน” โดยลูกค้าต่างชาติได้ส่งคำสั่งในลักษณะเดียวกันผ่านโบรกเกอร์อื่นด้วย แม้ที่ไม่ได้เอ่ยชื่อโดยตรง (แต่มีนัยที่เข้าใจว่าหมายถึงดีบีเอส วิคเคอร์ส) รวมทั้งการอ้างว่า กรรมการที่พิจารณาลงโทษ เอเชีย เวลท์ เป็นผู้บริหารจากโบรกเกอร์คู่แข่ง อาจมีวาระซ่อนเร้นในคำตัดสินความผิด …เป็นเพียงสูตรสำเร็จเท่านั้น)

จากข้อมูลที่รู้กันดี ลูกค้าในต่างประเทศของโบรกเกอร์ไทยเกือบทั้งหมด จะนำฝากใบหุ้นไว้ที่คัสโตเดียนของตลาด ซึ่งโดยปกติโบรกเกอร์สามารถตรวจสอบได้ว่าในกรณีชอร์ตเซลนั้น มีหุ้นในมือจริงเพื่อส่งมอบหรือไม่ แม้ว่าบางรายการที่ผ่าน high frequency trading จะหลุดรอดหูตาไปบ้าง ก็ยังไม่ใช่ความผิดโจ่งแจ้งเท่ากับหุ้นเข้าใหม่หรือหุ้นจองที่ลูกค้านำมาเล่นชอร์ต โดยไม่มีความจำเป็น

กรณีนี้ ทั้ง ก.ล.ต. ตลาดฯ และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เคยหารือกันมาระยะหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จนกระทั่งเกิดมีเรื่องเสียก่อน

บทลงโทษที่ตลาดมีต่อดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แม้จะลดความเชื่อว่าเจ๊อู้ ใช้อิทธิพลเหนือตลาดได้มากพอสมควร แต่เชื่อได้เลยว่าเสียงนินทากาเล จะไม่จบสิ้นลง (เช่นว่าทำไมลงโทษไม่เท่ากัน) เพราะอันว่าความอิจฉาตาร้อนนั้น เป็นสิ่งซึ่งห้ามยากที่สุด

เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดเหตุที่ตรงกับคำประกาศของเจ๊อู้เอง ที่เคยบอกว่า “… ไม่ต้องการเป็นนายกสมาคมฯ ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่..” อาจจะจบการนินทาเบ็ดเสร็จง่ายดาย

คนที่เด่นเกิน มักจะตกเป็นเป้าเรดาร์ของความอิจฉาตาร้อนทางสังคมได้ง่าย

Back to top button