พาราสาวะถี

ไปประกาศคำมั่นสัญญากับ ชินโสะ อาเบะ ผู้นำญี่ปุ่นอีกแล้ว แต่ครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คงหมดหนทางที่จะเลื่อนการเลือกตั้งอีกแล้ว ไม่เหมือนเมื่อคราวไปเยือนในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 ที่บอกว่าประเทศไทยจะมีหย่อนบัตรในต้นปี 2559 แต่ก็หาเหตุยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะหนนี้ทั้งกฎหมายพร้อม ทั้งพรรคของตัวเองก็เป็นรูปเป็นร่าง ทุกอย่างลงตัวคงไม่ทำตัวเป็นโมฆะบุรุษอีก


อรชุน

ไปประกาศคำมั่นสัญญากับ ชินโสะ อาเบะ ผู้นำญี่ปุ่นอีกแล้ว แต่ครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คงหมดหนทางที่จะเลื่อนการเลือกตั้งอีกแล้ว ไม่เหมือนเมื่อคราวไปเยือนในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 ที่บอกว่าประเทศไทยจะมีหย่อนบัตรในต้นปี 2559 แต่ก็หาเหตุยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะหนนี้ทั้งกฎหมายพร้อม ทั้งพรรคของตัวเองก็เป็นรูปเป็นร่าง ทุกอย่างลงตัวคงไม่ทำตัวเป็นโมฆะบุรุษอีก

ว่าด้วยคำสัญญาหรือกลอนพาไปของผู้นำเผด็จการจากประเทศไทย พอจะเข้าใจได้ เมื่อรู้กำพืดของตัวเองไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน เวลาไปร่วมเวทีหรือไปเยือนผู้นำประเทศประชาธิปไตยต้องรีบออกตัวแรงไว้ก่อน เหมือนเมื่อครั้งไปพบ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา ที่เขาไม่ได้ถาม แต่ตัวเองดันบอกว่าจะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ก่อนจะกลับมาให้สนช.ใช้อภินิหารทางกฎหมายเลื่อนบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส.ไป 90 วัน จนได้เวลาดีคือ 24 กุมภาพันธ์ 2562

จะว่าไปแล้วนอกเหนือจากคำสัญญาเรื่องเลือกตั้งแล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งพูดติดปากผู้นำเผด็จการมาตลอดคือ “ผมไม่ใช่นักการเมือง” แต่เป็น “นักการทหาร” จนกระทั่งบีบีซีไทยถึงขนาดตั้งข้อสังเกตว่ามีการพูดลักษณะนี้ไม่น้อยกว่า 9 ครั้งก่อนที่จะมาเปลี่ยนท่าทีเอาเมื่อวันที่ 3 มกราคมปีนี้ ด้วยการประกาศ “วันนี้ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะผมไม่ใช่ทหาร เข้าใจไหม เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร”

จากนั้นก็ตามมาติด ๆ ด้วยท่วงทำนองของนักการเมืองเต็มตัว พร้อม ๆ กับประกาศว่าจะแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยแย็บนำมาก่อนว่าสนใจการเมือง หลังจากนั้นก็เล่นลิ้นตามตำรานักการเมือง เรื่องประกาศจุดยืนบอกไว้ว่าหลังกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ไม่ได้บอกวันว.เวลาน.ว่าเมื่อไหร่ และจะประกาศเมื่อไหร่ “มันก็เรื่องของผม”

คงไม่มีใครถือเป็นสาระอะไรอีกแล้ว เพราะปลายทางของผู้นำเผด็จการคือการสืบทอดอำนาจพร้อมองคาพยพที่วางแผน เขียนกฎหมาย ปูทางไว้ให้ตัวเองและคณะเสร็จสรรพเรียบร้อย สิ่งที่เหลือรอดูแค่ว่าจะมาไม้ไหน ให้พรรคการเมืองเสนอเป็นแคนดิเดต 3 รายชื่อหรือจะใช้โควตาคนนอก ก็อย่างที่บอกเมื่ออ้างกฎหมายจนเคยปากไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็คือความชอบธรรมอยู่แล้วสำหรับหัวหน้าเผด็จการ

หันกลับมามองความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง เรื่องพรรคสำรองของเพื่อไทย การันตีในข้อกฎหมายโดย วิษณุ เครืองาม พรรคการเมืองจะแตกยอดจดทะเบียนออกไปกี่พรรคก็เรื่องของเขา เมื่อแยกออกไปถือว่าเป็นคนละพรรคกัน ไม่ใช่หัวหน้าพรรคคนเดียวกัน คนละนโยบาย ถือเป็นคนละนิติบุคคล ส่วนเป้าหมายจะเหมือนกันหรือไม่ ไม่ทราบ เรื่องนี้ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไม่ส่งเสริมให้พรรคการเมืองแข็งแกร่ง เพราะในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ส่งให้พรรคการเมืองแข็งแกร่งอยู่แล้ว ใครมีทุนมีสติปัญญาไปคิดตั้งพรรคเพิ่ม ก็ไม่แปลกอะไร ส่วนจะตอบโจทย์การปฏิรูปพรรคการเมืองหรือไม่ ไม่ทราบ ตอบไม่ถูก เชื่อว่าประชาชนจะพิจารณาแล้วตัดสินใจได้ เมื่อเขาทำได้โดยไม่ผิดก็ไม่เป็นไร

ในฐานะเนติบริกรก็ต้องว่ากันตามตัวบทกฎหมาย จะไปให้ความเห็นเป็นอย่างอื่นคงยาก ส่วนเรื่องการกระจายความเสี่ยงหรือตัวผู้บริหารและสมาชิกพรรคอะไหล่นั้นอย่างที่บอกไปเมื่อวันวานไม่ต้องห่วง พรรคนายใหญ่มีเหลือเฟือ ขณะเดียวกัน การแยกกันตีและวิธีการที่กำลังวางแผนอยู่เวลานี้ ทุกพรรคโดยเฉพาะเพื่อไทยต้องการสลัดภาพ ทักษิณ ชินวัตร คอยบงการ ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่ว่าจะสวมหัวไหนสู้คนที่จะเลือกก็ตัดสินใจไว้แล้วว่าต้องการอะไรและเพราะเหตุใด

ฟากของประชาธิปัตย์บรรยากาศการรับสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ถือเป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัย ทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ วรงค์ เดชกิจวิกรม ต่างโชว์สปิริตทั้งเซ็นต์รับรองและขอร้องลูกทีมช่วยลงนามรับรองให้ อลงกรณ์ พลบุตร มีสิทธิ์สมัครเป็นหัวหน้าพรรคได้ตามข้อบังคับ ผ่านด่านแรกไปถือว่าลดแรงกระเพื่อมเรื่องความแตกแยกได้ระดับหนึ่ง ทำให้กองเชียร์รู้สึกชื่นใจ

ส่วนที่เหลือต้องติดตามดูในระหว่างทางการแข่งขันจะมีการพาดพิงหรือจัดกันหนักหรือไม่ แต่หากประเมินเท่าที่เห็นเป็นเบื้องต้นไม่น่าจะมีอะไรน่าห่วง เพราะตัวเสี่ยจ้อนเองก็ดูเหมือนจะแฮปปี้ที่มีหนทางเลี้ยวกลับมาร่วมงานกับพรรคเก่าแก่แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ขณะที่เรื่องท่าทีของแต่ละคนก็เป็นผลแห่งการแข่งขันที่จะต้องแสดงเพื่อโน้มน้าวให้สมาชิกพรรคเลือกให้เป็นผู้นำ

เห็นการแสดงออกอย่างต่อเนื่องของอภิสิทธิ์ ค่อนข้างจะชัดเจนว่าจำเป็นต้องแสดงบทบาทความเป็นผู้นำเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่โดยภาพรวมของทั้ง 3 คนแม้กระทั่งอลงกรณ์ที่ประกาศไม่ยอมรับนายกฯคนนอกก็เป็นเพียงพิธีกรรม เพราะถ้าจะทำให้สังคมเชื่อว่าไม่มีทางสังฆกรรมกับคณะเผด็จการเด็ดขาด ต้องประกาศกันให้ชัดให้ขาดไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจทุกวิถีทาง

การลั่นวาจาของอภิสิทธิ์กับบรรดาอดีตส.ส.กทม.ที่เข้ามาให้กำลังใจเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ตนรู้ว่าอายุขนาดนี้แล้วการจะสร้างฝันให้กับประเทศที่เป็นจริงไม่มีเวลามากแล้วจึงต้องทำ ไม่มีอะไรที่ต้องลังเลใจหรือเกรงใจใครอีกต่อไป เพราะนี่คือโอกาสใหม่และโอกาสเดียวที่จะทำให้ตนผลักดันความฝันให้เป็นจริงได้ คงต้องขอพูดให้เคลียร์ฝันดังว่าคือ จะไม่จับมือกับเผด็จการ ไม่เปิดทางให้สืบทอดอำนาจ โดยไม่อ้างเหตุผลใด ๆ เพื่อให้ตัวเองดูดีหลังการเลือกตั้งใช่หรือไม่

น่าสนใจไม่น้อย ช่วงเตรียมความพร้อมก่อนเลือกตั้ง พรรคเก่าแก่ปูแนวทางสร้างแบบอย่างประชาธิปไตยด้วยการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค เข้าใจได้ง่าย ๆ หวังทำให้คนเห็นว่าบางพรรคอย่างเพื่อไทยมีเจ้าของ แต่อีกเรื่องที่ต้องขีดเส้นใต้วรงค์ประกาศจะเปลี่ยนให้พรรคทำมากกว่าพูด เอ๊ะ! มันยังไง หมายความว่าที่เขาค่อนขอดพวกดีแต่พูด นั่นคือความจริงใช่ไหม (ฮา)

Back to top button