รวมงบฯ 4 หุ้นแบงก์โค้งแรกประกาศกำไรไตรมาส 3 กระฉูดตามคาด!

รวมงบฯกลุ่มแบงก์ โค้งแรกประกาศกำไรไตรมาส 3 กระฉูดตามคาด!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นโลกกำลังเข้าสู่ช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/2561 ซึ่งอาจจะทำให้มีแรงขายรับผลประกอบการ โดยล่าสุดตลาดหุ้นไทยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้รายงานผลประกอบการออกมาอย่างคึกคักโดยบริษัทที่รายงานแห่งแรกคือ TISCO โดยมีกำไรสุทธิดีกว่าคาด ขณะที่  TMB และ TCAP  ประกาศผลการดำเนินงานออกมาเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ สำหรับบริษัทที่เหลือจะทยอยประกาศไปจนถึงวันศุกร์นี้

โดยธนาคารพาณิชย์ที่ประกาศผลการดำเนินงานออกมามีกำไรสูงสุด คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.61 (รวมบริษัทย่อย) โดยมีกำไรสุทธิ 6.21 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.33% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 6.01 พันล้านบาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวมีกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพความสามารถในการบริหารจดการค่าใช้จ่าย

ขณะที่ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.61 (รวมบริษัทย่อย) โดยมีกำไรสุทธิ 5.59 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 179.23% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2 พันล้านบาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวเพิ่มขึ้นเนื่องจากไตรมาส 3/2561 ธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเป็นจำนวน14,482 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 368.1จากไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 354.9จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน

โดยมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอื่นๆ เพิ่มขึ้น สาเหตุหลักจากการรับรู้กำไรจากดีล บลจ.ทหารไทย ซึ่ง ประกอบด้วยกำไรจากการขายหุ้น บลจ.ทหารไทย ร้อยละ 65 จำนวน 7.6 พันล้านบาท และกำไรจากการเปลี่ยนแปลงการควบคุมจากบริษัทย่อยเป็นบริษัทร่วมร้อยละ 35 จำนวน 4.2 พันล้านบาท

ทั้งนี้ บล.บัวหลวง แนะนำ “ซื้อ” TMB ราคาเป้าหมาย 2.65 บาท/หุ้น หลัง TMB รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/61 ที่ 5.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 176% จากปีก่อน และ 179% จากไตรมาสก่อน สูงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ 154% และสูงกว่าตลาดคาด 160% เนื่องจากกำไรจากการขายหุ้น บลจ. ทหารไทย (TMBAM) จำนวน 65% มีกำไรสูงถึง 11.8 พันล้านบาท ในไตรมาส 3/61 เทียบกับที่เราคาดไว้ที่ 450 ล้านบาท

ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรองหนี้สูญและรายการพิเศษ มีจำนวน 4.6 พันล้านบาท ลดลง 7% จากปีก่อน และ 5% จากไตรมาสก่อน กำไร 9 เดือนแรกของปี 2561 เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 54% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 9.9 พันล้านบาท คิดเป็น 103% ของประมาณการปี 2561 เดิมที่ 9.6 พันล้านบาท

โดยคาดว่ากำไรไตรมาส 4/61 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหนุนโดยการเติบโตของสินเชื่อและแนวโน้ม LLP ที่ลดลง

 

ด้าน บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.61 โดยมีกำไรสุทธิ 1.81 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.42% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.57 พันล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.61 (รวมบริษัทย่อย) โดยมีกำไรสุทธิ 1.87 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.56% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.79 พันล้านบาท

โดยรายได้ดอกเบี้ยมีจำนวน 11,742 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 200 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.73 จากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ ประกอบกับอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (Yield on Earning Assets) ปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า เข้าสู่ฤดูกาลประกาศงบไตรมาส 3/2561 มีแรงขายรายหุ้น โดยสัปดาห์นี้ยังอยู่ในช่วงของการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/2561 ในกลุ่ม ธ.พ ซึ่งอาจจะทำให้มีแรงขายรับงบหุ้น ธ.พ. ในระยะนี้ ดังเช่นที่เห็นในหุ้น TISCO แม้กำไรสุทธิดีกว่าคาด แต่ราคาหุ้นปรับลดลง ส่วน LHFG กำไรสุทธิต่ำกว่าคาด ราคาหุ้นค่อนข้างทรงตัว

เช่นเดียวกับ TMB วานนี้ราคาหุ้นปรับลงแรง 3.4% แม้รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/2561 ออกมาดีกว่าคาด เติบโตถึง 176.1% จากไตรมาสก่อนและ 179.2% จากปีก่อนแต่มาจากกำไรจากการขายเงินลงทุน บลจ.ทหารไทย ขณะที่ธุรกิจหลักยังค่อนข้างอ่อนแอ เพราะสินเชื่อที่ขยายตัวเป็นสินเชื่อ low yield ส่งผลต่อ NIM ต่ำกว่าคาดมาก รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมฯ หดตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้แม้ว่าฝ่ายวิจัยเพิ่มประมาณการฯ ปี 2561 ขึ้น 9.8% จากเดิม (สะท้อนกำไรพิเศษข้างต้น) แต่ลดประมาณการฯ ปี 2562 ลง 13.3% จากเดิม (สะท้อนการปรับลด NIM และรายได้ค่าธรรมเนียมฯ) ส่งผลให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2561 เติบโต 12.3% จากปีก่อน แต่ปี 2562 หดตัวลง 15.1% จากปีก่อน จึงยังแนะนำ switch โดยปรับไปใช้ Fair Value ปี 2562 ที่ 2.43 บาท

ส่วน TCAP ที่รายงานงบฯ หลังตลาดฯ ปิด ปรากฏว่ากำไรต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ลดลง 8.8% จากไตรมาสก่อน (แต่เพิ่มขึ้น 4.6% จากปีก่อน) แรงกดดันมาจากค่าใช้จ่ายภาษีฯ ในอัตราเป็นปกติ (หลังหมดสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ TBANK) รวมทั้งรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจากฐานสูงในไตรมาส 2/2561 แต่ธุรกิจหลักยังเติบโตได้ตามสินเชื่อสุทธิที่เพิ่มขึ้น

รวมทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์และประกันฯ โดยรวมกำไรสุทธิ 9M61 เพิ่มขึ้น 14.9% yoy คิดเป็น 74% ของประมาณการทั้งปี ส่วนแนวโน้ม 4Q61 และปี 2562 น่าจะเห็นการกลับมาเติบโตได้ต่อเนื่องและสูงกว่า 3Q61 ด้วยแรงผลักดันของสินเชื่อ high yield มากขึ้น และยังมีการควบคุมค่าใช้จ่ายที่เข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งราคาหุ้นปัจจุบันยังถูกมาก จึงยังคงแนะนำซื้อ และปรับไปใช้ Fair Value ปี 2562 เท่ากับ 69.90 บาท พร้อมคาดหวังปันผลปีละ 4-5% p.a.

Back to top button