DTAC คุณสมบัติประมูลคลื่นครบ! พร้อมลุยเดี่ยวคว้า 900 MHz 28 ต.ค.นี้

DTAC คุณสมบัติประมูลคลื่นครบ! พร้อมลุยเดี่ยวคว้า 900 MHz 28 ต.ค.นี้


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. วันนี้ (24 ต.ค.) มีมติเห็นชอบผลการตรวจพิจารณาคุณสมบัติของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) บริษัทในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ตามข้อกำหนดในข้อ 7 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 890-895/935-940 MHz ทำให้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เป็นผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมการประมูลคลื่น 900 MHz ในวันอาทิตย์ที่ 28 ต.ค. นี้ เวลา 9.00 น.

สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จะทำการประมูลคลื่นความถี่ขนาด 2×5 MHz จำนวน 1 ชุดคลื่นความถี่ (คลื่นความถี่ 890-895/ 935-940 MHz) โดยมีราคาเริ่มต้นการประมูล 37,988,000,000 บาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 76,000,000 บาท

โดยมีหลักประกันการประมูล 1,900,000,000 บาท แบ่งการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ออกเป็น 4 งวด โดย งวดที่ 1 ชำระ 4,020,000,000 บาท งวดที่ 2 ชำระ 2,010,000,000 บาท งวดที่ 3 ชำระ 2,010,000,000 บาท และงวดที่ 4 ชำระเงินค่าประมูลฯ ส่วนที่เหลือทั้งหมด

ทั้งนี้หากผู้ชนะการประมูลไม่นำเงินมาชำระ สำนักงาน กสทช. จะริบหลักประกัน 1,900,000,000 บาท รวมทั้งคิดค่าปรับเป็นเงิน 5,699,000,000 บาท

โดยก่อนหน้านี้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เปิดเผยว่า คณะผู้บริหารได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า บริษัทฯไม่ควรเข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 900 MHz ที่จะจัดโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2561 และ วันที่ 28 ตุลาคม 2561 (แล้วแต่กรณี)

ขณะเดียวกัน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วม ประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz ตามที่ประกาศโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ทั้งนี้ บริษัทได้พิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขรวมถึงราคาของการประมูลในครั้งนี้ โดยมีการประเมินความคุ้มค่าทางการเงินและการลงทุน ประกอบกับการคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับเป็นสำคัญ เมื่อพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลและประโยชน์ในด้านต่าง ๆ แล้วนั้น บริษัทจึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประมูล

 

Back to top button