กลุ่มแบงก์ Q3 และ 9 เดือนกำไรยังสดใส

ผ่านไปแล้วกับการประกาศงบฯ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีทั้งหมด 11 แห่ง พบว่าผลประกอบการรวมในไตรมาส 3/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 ทั้งกลุ่มโกยกำไรรวม 55,121.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.08% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 47,485.53 ล้านบาท


เส้นทางนักลงทุน

ผ่านไปแล้วกับการประกาศงบฯ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีทั้งหมด 11 แห่ง พบว่าผลประกอบการรวมในไตรมาส 3/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 ทั้งกลุ่มโกยกำไรรวม 55,121.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.08% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 47,485.53 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทำให้ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์งวด 9 เดือน รวมมีกำไร 161,192.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.07% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 145,182.91 ล้านบาท

ถือว่าภาพรวมผลกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง!!!

แล้วเมื่อเจาะรายตัวจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง พบว่า ธนาคารที่มีกำไรสุทธิเติบโต (งวดไตรมาส 3/2561) เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ TMB, CIMBT, KTB, LHFG, TISCO, BBL, TCAP, SCB, BAY, KBANK ขณะที่ KKP กำไรลดลง

ทว่าหากสำรวจผลการดำเนินงาน (งวด 9 เดือนแรก) พบว่ามีธนาคารพาณิชย์สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ TMB, KTB, LHFG, TISCO, TCAP, BBL, KBANK, BAY, KKP  ขณะที่ SCB และ CIMBT กำไรลดลง

ดังนั้น ในแง่ธนาคารที่มีกำไรสุทธิเติบโตโดดเด่นสุด (งวดไตรมาส 3/2561 และงวด 9 เดือนแรก) คือ TMB งวดไตรมาส 3/2561 มีกำไร 5,594.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 179.23% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไร 2,003.47 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือน มีกำไร 9,900.19 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 6,429.45 ล้านบาท

เนื่องจากการมีบันทึกกำไรจากการขายเงินลงทุนใน บลจ.ทหารไทยบางส่วนให้กับกลุ่ม Prudential ซึ่งมีการบันทึกกำไรพิเศษเข้ามาเป็นจำนวนสูงถึง 1.18 หมื่นล้านบาท แต่ธนาคารได้ตัดสินใจนำกำไรส่วนหนึ่งไปตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมกลับลดลง

ขณะที่ธนาคารอื่นอย่าง KTB, LHFG, TISCO, BBL, KBANK ผลกำไรเติบโตแข็งแกร่งแต่ไม่ได้ก้าวกระโดดมาก (รายละเอียดดูจากตารางประกอบ)

ส่วนอีก 3 ธนาคาร คือ SCB, KKP และ CIMBT ทิศทางกำไรกลับเปลี่ยนผัน อย่าง SCB ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2561 มีกำไร 10,508.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.73% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 10,130.22 ล้านบาท แต่งวด 9 เดือนกำไรกลับลดลงเหลือ 32,983.95 ล้านบาท ลดลง 2.85% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 33,953.08 ล้านบาท  สาเหตุที่งวดเก้าเดือนแรกกำไรลดลง หลักมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 148 จากปีก่อน จากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับโครงการ Transformation ซึ่งส่วนหนึ่งถูกลดทอนจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง

ส่วนทางด้าน KKP ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2561 มีกำไรลดลงเหลือ 1,551.02 ล้านบาท ลดลง 9.99% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 1,723.18 ล้านบาท แต่ขณะที่ผลการดำเนินงวด 9 เดือน มีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 4,614.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.12% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 4,432.29 ล้านบาท   สาเหตุที่งวดเก้าเดือนกำไรเพิ่มขึ้น เป็นกำไรของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ได้แก่ บล.ภัทร และบลจ.ภัทร จำนวน 981 ล้านบาท นอกจากนี้มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการเติบโตของสินเชื่อ และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ด้านธนาคารขนาดเล็ก CIMBT ที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2561 มีกำไรโตอย่างกระฉูด โดยกำไร 618.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 131.59% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 76.54 ล้านบาท แต่งวด 9 เดือน กำไรกลับลดลงเหลือ 537.38 ล้านบาท ลดลง 3.07% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 1,723.18 ล้านบาท  สาเหตุที่กำไรงวดเก้าเดือนลดลง หลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานร้อยละ 2.5 และการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญร้อยละ 10.3 สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานร้อยละ 10.8 และการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและรายได้อื่นร้อยละ 2.4 และร้อยละ 7.4 ตามลำดับ

เอาเป็นว่าจากผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทั้งงวดไตรมาส 3 และงวด 9 เดือน ภาพรวมที่ออกมาถือว่ากลุ่มธนาคารเหล่านี้สามารถทำกำไรแข็งแกร่งหากเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน “เพิ่มขึ้น กว่า ลดลง” นั่นเอง

ดังนั้นถือว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังสดใส

และหากดูสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของธนาคารพาณิชย์แต่ละตัว (เทียบด้วยของไตรมาส 3/2561 กับไตรมาส 2/2561) พบว่า มีธนาคารที่ NPL ลดลง อย่าง KTB ไตรมาส 3 ลดลงเหลือ 4.42% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 4.52%, KKP ไตรมาส 3 ลดลงเหลือ 4.20% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 4.50% ถือว่าทั้งสองธนาคารควบคุมสินเชื่อที่สงสัยจะสูญได้ดีขึ้น

ส่วนธนาคารที่ NPL ทรงตัวอย่าง LHFG ไตรมาส 3 ลดลงเหลือ 1.97% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.98%, SCB ไตรมาส 3 ลดลงเหลือ 2.80% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.81% พร้อมกับ TISCO ที่ NPL ไม่เปลี่ยนแปลงยังอยู่ที่ 2.70% และ KBANK ที่ยังอยู่ 3.30%

ส่วนธนาคารที่ต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้จัดชั้นหนี้ที่สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากขึ้น (สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)) คือ TMB ไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 2.69% จากไตรมาส 2 เพียง 2.36%, CIMBT ไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 5.70% จากไตรมาส 2 เพียง 4.80%, BBL ไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 3.60% จากไตรมาส 2 เพียง 3.50%, TCAP ไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 2.52% จากไตรมาส 2 เพียง 2.35% และ BAY ไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 2.33% จากไตรมาส 2 เพียง 2.27%

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าธนาคารยังคงต้องพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนในการปล่อยสินเชื่อให้กับทุกกลุ่ม เพื่อพยายามควบคุมไม่ให้มีตัวเลข NPL ที่สูงขึ้นอีก

Back to top button