คัด 9 หุ้นรับเหมา-นิคมฯตัวท็อป! รับรัฐไฟเขียวโครงการ EEC มูลค่า 6.5 แสนลบ.หนุนงานทะลัก

คัด 9 หุ้นรับเหมา-นิคมฯตัวท็อป! รับรัฐไฟเขียวโครงการ EEC มูลค่า 6.5 แสนลบ.หนุนงานทะลัก อาทิ STEC, SEAFCO,AMATA,WHA,CK, PYLON, SCC,ROJNA,BTS


วานนี้(30ต.ค.)ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ 4 โครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(บอร์ด EEC) เสนอรวมมูลค่ากว่า 4.7 แสนล้านบาท โดยทั้ง 4 โครงการคาดว่าจะได้เอกชนผู้ลงทุนในเดือนก.พ.62

ทั้งนี้หากรวมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ครม.มีมติอนุมัติไปก่อนหน้านี้จะมีมูลค่าลงทุนทั้ง  5 โครงการรวมกันทั้งสิ้น 650,000 ล้านบาท

สำหรับ 4 โครงการที่ ครม.อนุมัติวันนี้ ประกอบด้วย 1. โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา (MRO) 2. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 3. โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และ 4. โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3

แน่นอนประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะกลุ่มรับเหมาและกลุ่มนิคมอุตสากรรมดังนั้นทางทีมงาน“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”จึงทำการรวบรวมกลุ่มหุ้นที่ได้รับประโยชน์มานำเสนอเพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนในช่วงนี้ อาทิ STEC, SEAFCO,AMATA,WHA,CK, PYLON, SCC,ROJNA,BTS โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากบทวิเคราะห์ชั้นนำของไทยคือ บล.กรุงศรี,บล.เคจีไอ,บล.โนมูระ พัฒนสิน,บล.ทิสโก้ และบล.เอเซีย พลัส มานำเสนอดังนี้

บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มรับเหมา (STEC, SEAFCO) นิคมฯ (AMATA) รับผลบวกจากการเลือกตั้ง และคาดหวังภาครัฐกระตุ้นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ชดเชยการส่งออกและท่องเที่ยวที่ชะลอตัว หุ้นแนะนำ: AMATA (ซื้อเก็งกำไร/เป้า Consensus 28.7) ได้ Sentiment บวกภาครัฐเตรียมนำโครงการใน EEC เข้าที่ประชุม ครม.เพื่ออนุมัติในวันนี้(30ต.ค.)

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ครม.ประชุม TOR โครงการเร่งด่วนเชื่อมโยง EEC 4 โครงการ หนุน Investment Related Play : STEC, AMATA, WHA, CK,  PYLON

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้นรับอานิสงส์ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ & EEC : CONMAT – SCC / CONS – CK, STEC, SEAFCO / IE – AMATA, WHA, ROJNA / TRANS – BTS

 

บล.เคจีไอ  ระบุในบทวิเคราะห์ว่า AMATA* (เป้าพื้นฐาน 30 บาท) 1) ประเมินราคาหุ้นเริ่มสร้างฐาน มีโอกาสฟื้นตัว โดยประเมินแนวรับ 22.9 บาท / แนวต้าน 23.7 บาท และ 25.0 บาท ตามลำดับ (Stop loss 22.3 บาท) 2) วันนี้ฝ่ายวิจัยฯออกบทวิเคราะห์คาดกำไรไตรมาส 3/61 = 301 ล้านบาท (-49% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, +61% เทียบไตรมาสก่อนหน้า) และคาดว่ากำไรจะเร่งตัวขึ้นใน ไตรมาส 4/61 จากการเร่งโอนที่ดินนิคมฯที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจาก พรบ EEC และการเลือกตั้งมีความชัดเจนมากขึ้น  3) Valuation ไม่แพง จากประมาณการปัจจุบันของฝ่ายวิจัยฯ คาด PE ปี 2561 = 12.4 เท่า และจะลดลงเป็น 9.3 เท่า ในปี 2562 จากการคาดว่ากำไรปี 2562 จะโต +33% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

SCCC* (เป้าพื้นฐาน 304 บาท) 1) ประเมินแนวรับ 240 บาท / แนวต้าน 256 บาท (Stop loss 236 บาท) 2) ฝ่ายวิจัยฯ คาดกำไร ไตรมาส3/61 = 1.0 พันล้านบาท (+323.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, +1.8% เทียบไตรมาสก่อนหน้า) ตามดีมานด์ปูนซีเมนต์ที่เติบโต และไม่มีรายจ่ายการปรับโครงสร้างธุรกิจอีก 3) คาดกำไรโต 57% CAGR 2560 – 62 จากแนวโน้มดีมานด์ปูนซีเมนต์ที่เป็นขาขึ้น จากโครงการลงทุนภาครัฐฯ และการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน

 

บล.เอเซีย พลัส กลยุทธ์การลงทุน ความกังวลเรื่องสงครามการค้า น่าจะกลับมาสร้างแรงกดดันต่อ SET Index อีกครั้งหลังมีความเป็นไปได้ว่าจะเห็นสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น ส่วนทิศทางของ Fund Flow ยังคงไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง คาดว่า SET Index อาจอยู่ในช่วงการปรับฐานต่อไป ทำให้การ Trading ระยะสั้นมีความเสี่ยงสูง แต่เป็นโอกาสสำหรับการซื้อหุ้นพื้นฐานดีลงทุนระยะยาว

ปัจจัยต่างประเทศที่ยังกดดันตลาดหุ้นโลกอีกครั้ง คือ การที่สหรัฐประกาศจะยังเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนรอบที่ 4 วงเงิน  2.57 แสนล้านเหรียญฯ (ยังไม่ได้กำหนดอัตราภาษี) และคาดว่าการประชุมสุดยอดประเทศผู้นำประจำปี  (G20)  ที่อาร์เจนตินา วันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2561 มีโอกาสที่นายทรัมป์และนายสี จิ้นผิงจะเจรจาไม่สำเร็จ สะท้อนผ่านการที่รัฐบาลสหรัฐคาดว่าจะตัดประเด็นการการค้าออกในการประชุมครั้งนี้

อย่างไรก็ตามการขึ้นภาษีนำเข้ารอบที่ 4 คาดว่าจะประกาศรายละเอียดเป็นทางการเร็วสุด คือช่วงเดือน ธ.ค. หลังจากการเลือกตั้งกลางเทอม (Mid term) ของสหรัฐเสร็จสิ้นในวันที่ 6 พ.ย. และน่าจะประกาศใช้ราวเดือน ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นประเด็นให้น้ำหนัก เนื่องจากผลกระทบได้เริ่มเกิดขึ้นแล้วทั้ง 2 ฝั่ง รวมถึงไทย สะท้อนผ่านการส่งออกของไทยล่าสุดเดือน ก.ย. หดตัว  5.2% เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี 7 เดือน

ความกังวลจากสงครามการค้าดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการในสหรัฐและจีนหาฐานการผลิตใหม่ สะท้อนจาก ล่าสุด  ผลสำรวจบริษัทเอกชนสัญชาติสหรัฐที่มีธุรกิจในภาคใต้ของจีนทั้งหมด 219 บริษัท เมื่อวันที่ 21 ก.ย. -10 ต.ค.  พบว่าราว 70% กำลังพิจารณาเลื่อนหรือยกเลิกการลงทุนในจีนและจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอาเซียน อาทิ  เวียดนาม, ไทย

เนื่องจากกังวลต้นทุนเพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้าจะเป็นผลดีต่อไทยเนื่องจากเป็นกระตุ้นการซื้อที่ดินในอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก(EEC) ดีต่อ WHA([email protected])  AMATA([email protected]) และดีต่อกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์  SAT(FV@B29) ล่าสุดได้รับคำสั่งซื้อสินค้าใหม่จากบริษัทชิ้นส่วนจากสหรัฐ(Tier -1) คือ ผลิตชิ้นส่วนเพลาข้างกระบะ 1.5 ตัน (Axle Shaft) มูลค่าราว 70 ล้านบาท น่าจะส่งมอบใน ไตรมาส 4/61  และเพิ่มเป็น 400 ล้านบาทในปี 2562

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button