พาราสาวะถี

ชัดเจนในคำอธิบายว่าด้วยการแตกย่อย แยกสาขาไปตั้งพรรคใหม่ของบรรดาขาใหญ่บางรายและคนรุ่นใหม่บางคนของพรรคเพื่อไทย โดย จาตุรนต์ ฉายแสง ชี้ว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ถูกกระทำมากที่สุดจากระบบและกติกาภายใต้ยุทธศาสตร์ “การรัฐประหารครั้งนี้ต้องไม่เสียของ” และ “คสช.ต้องสืบทอดอำนาจยาวนาน”


อรชุน

ชัดเจนในคำอธิบายว่าด้วยการแตกย่อย แยกสาขาไปตั้งพรรคใหม่ของบรรดาขาใหญ่บางรายและคนรุ่นใหม่บางคนของพรรคเพื่อไทย โดย จาตุรนต์ ฉายแสง ชี้ว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ถูกกระทำมากที่สุดจากระบบและกติกาภายใต้ยุทธศาสตร์ “การรัฐประหารครั้งนี้ต้องไม่เสียของ” และ “คสช.ต้องสืบทอดอำนาจยาวนาน”

ยุทธศาสตร์เหล่านี้มุ่งขัดขวางสกัดกั้นไม่ให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลและทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่  2 ประการคือ ความเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรค เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยทั้งที่จนถึงขณะนี้ไม่มีข้อเท็จจริงหรือปัญทางกฎหมายใด ๆ ที่จะใช้ยุบพรรคได้เลย แต่ก็ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมาการยุบพรรคการเมืองบางพรรคก็เกิดขึ้นทั้งที่ไมได้ทำผิดอะไร

เมื่อมีข่าวว่ามีความพยายามที่จะยุบหรือมีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาทางยุบพรรคเพื่อไทย หลายคนก็ยังมั่นใจว่าไม่มีทางถูกยุบ แต่ก็มีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยเห็นว่าไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ถูกยุบ ควรเตรียมทางหนีทีไล่ไว้โดยไม่ประมาท หากจะหาเหตุนำไปสู่การยุบเวลานี้ที่ส่งสัญญาณกันมาชัด ๆ คือ 2 เรื่องอันเกี่ยวพันกับนายใหญ่ทั้งสิ้น

หนแรกคือการให้สัมภาษณ์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่น ที่ฮ่องกง ปมวิเคราะห์เพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ฝ่ายประชาธิปไตยได้คะแนนเกิน 300 เสียงและนายใหญ่พร้อมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี มีการรับลูกจากกกต.ขอตรวจสอบว่าเข้าข่ายครอบงำพรรคโดยมีโทษสูงสุดคือยุบพรรคหรือไม่ ต่อมาล่าสุดก็เป็นเรื่องการแจกปฏิทินที่มีรูปนายใหญ่คู่กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ใครต่อใครก็บอกว่าไม่ผิด

แต่นั่นเป็นในลักษณะของบุคคลให้และรับกันปกติ ทว่ามีความพยายามลากหรือหาเหตุให้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรคนายใหญ่ให้ได้ เท่ากับเป็นการแสดงท่าทีหาเหตุให้เกิดการยุบพรรค นี่แหละปัจจัยแรกที่สำคัญต่อการต้องแตกหน่อแยกกอมาตั้งพรรคใหม่กัน ส่วนปัญหาใหญ่ประการที่สองจากมุมมองของจาตุรนต์คือ สิ่งที่กฎหมายได้เขียนไว้

กล่าวคือระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ ถูกออกแบบเพื่อทำให้พรรคการเมืองทั้งหมดอ่อนแอ พรรคเล็กเสียเปรียบ พรรคขนาดกลางได้ประโยชน์ แต่หาทางป้องกันไม่ให้พรรคขนาดใหญ่ได้เสียงมากอย่างที่เคยได้ พรรคที่ได้เสียงจากเขตเลือกตั้งเกินครึ่งซึ่งปกติต้องถือว่าชนะท่วมท้น กลับมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเป็นพรรคเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร

พรรคใดยิ่งได้ส.ส.เขตมากก็ยิ่งมีโอกาสได้ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยหรือไม่ได้เลย พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากระบบเลือกตั้งที่แปลกประหลาดนี้มากที่สุด เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ที่นักการเมืองพรรคเพื่อไทยจะหาทางป้องกันไม่ให้ถูกกระทำหรือพยายามลดความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้น

โดยเฉพาะการแสวงหาช่องทางที่นักการเมืองแต่ละคนจะสามารถทำงานในระบบรัฐสภาได้ต่อไป ส่วนสาเหตุที่การดำเนินการต่าง ๆ ดูจะเป็นไปอย่างสับสน ก็น่าจะมาจากสภาพต่างคนต่างทำ การขาดการหารือวางแผนร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้นักการเมืองทุกคนในพรรคเพื่อไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงการคิดรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นและในที่สุดแต่ละคนก็ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง

นั่นคือคำอธิบายอย่างมีหลักการของเดอะอ๋อย แต่วันนี้คำถามที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สรุปแล้วหลุดจากเพื่อไทย กองเชียร์จะต้องเลือกพรรคการเมืองใดกันแน่ หากเป็นไปตามที่มีแหล่งข่าวรายงานความประสงค์ของนายใหญ่ก็คือ เสียงหลักเลือกส.ส.เขตเน้นไปที่เพื่อไทย ส่วนในระบบบัญชีรายชื่อให้ไหลไปที่พรรคไทยรักษาชาติ

ถึงขนาดที่มีข่าวว่าทักษิณสั่ง “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อย่าจัดตัวผู้สมัครส.ส.ของพรรคเพื่อธรรมที่มี สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นั่งกุมบังเหียนลงชิงชัยอย่างเข้มข้นในการเลือกตั้งหนนี้ เว้นเสียแต่ว่าเพื่อไทยพลาดท่าเสียทีถูกยุบตามข้อกังวลนั่นค่อยเดิมเกมกันอีกแบบ ถ้าเช่นนั้นพรรคอย่างเพื่อชาติจะวางสถานะของตัวเองไว้ตรงจุดไหนในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

การจะมองว่าถูกตัดขาดจากนายใหญ่คงไม่ถูกนัก ลำพัง จตุพร พรหมพันธุ์ อาจทำให้เชื่อได้ว่าเป็นสาเหตุที่พรรคการเมืองนี้จะไม่ได้รับการโอบอุ้มจากคนแดนไกล แต่การมีชื่อของ ยงยุทธ ติยะไพรัช ร่วมเป็นกองเชียร์ของพรรคเคียงข้างกับตุ๊ดตู่ ย่อมมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ และยิ่งน่าแปลกไปใหญ่ที่พ่ออยู่พรรคการเมืองนี้ โดยที่ลูกอย่าง “เดอะฮั่น” มิตติ ติยะไพรัช ไปนั่งเป็นเลขาธิการพรรคทษช.

ทุกกระบวนท่าจึงน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง การวางหมากกลหนนี้ของนายใหญ่จะเป็นไปอย่างที่คาดและเข้าเป้าตามความประสงค์หรือไม่ พอมีคนไปถาม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ คำตอบที่ได้คือ ต้องไปถามคนวางแผน เพราะตั้งมา 4 พรรคสมาชิกจะไปอยู่ทุกพรรคก็ไม่ได้ ต้องเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง นั่นแค่ชั้นเดียวเชิงเดียว แต่ลึก ๆ แล้วคงจะประเมินและเกาะติดกันอยู่เหมือนกัน เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันย่อมส่งผลถึงพรรคในคาถาคสช.อย่างพลังประชารัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กรณีนี้คงต้องมองกันยาว ๆ แต่ในระยะเฉพาะหน้าพลังประชารัฐได้รับการรับรองจากกกต.ให้เป็นพรรคการเมืองเต็มตัวแล้ว แรงกดดันก็จะไปตกอยู่กับ 4 รัฐมนตรีที่สวมหมวกบริหารพรรคการเมืองดังว่า จะลาออกจากตำแหน่งเมื่อใด ฟัง กอบศักดิ์ ภูตระกูล อธิบายแล้วคงจะในเร็ววันนี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สปิริต แต่มันเป็นอาการติดขัดของคนสวมหมวกสองใบเอง เพราะเวลาจะขยับตัวแต่ละทีต่างเต็มไปด้วยความระมัดระวัง

ดังนั้น ไขก๊อกแล้วมาลุยการเมืองเต็มตัวก็ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะในการใช้กลไกรัฐหาเสียง มีกุนซือระดับเซียนเหยียบเมฆรายล้อมรอบตัว เชื่อว่าคณะเผด็จการคงหาทางเชื่อมโยงสร้างความได้เปรียบได้ไม่ยาก ขณะที่การปลดล็อกให้ทุกพรรคได้ทำกิจกรรม หลังกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ 11 ธันวาคมนี้ ไม่น่าจะมีเหตุใดที่ให้ผู้มีอำนาจต้องยื้อเวลาออกไปอีก ถ้าเกิดขึ้นมันคงไม่ได้หมายความแค่ว่าจะเป็นปัญหาชีวิตกับพรรคการเมืองเท่านั้น แต่คงเป็นสัญญาณไปถึงการเลื่อนการเลือกตั้งกันเลยทีเดียว

Back to top button