ถึงคิวเชือด โกลด์แมน แซคส์

วันจันทร์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ดิ่งลง 7.46% เป็นหนึ่งในตัวแปรที่ฉุดกลุ่มหุ้นธนาคารในดัชนีดาวโจนส์ร่วงทั่วหน้า หลังจากมีรายงานว่า นายลิม กวน เอิง รมว.คลังมาเลเซีย เรียกร้องให้โกลด์แมน แซคส์จ่ายคืนเงินค่าธรรมเนียม “เต็มจำนวน”


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

วันจันทร์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ดิ่งลง 7.46% เป็นหนึ่งในตัวแปรที่ฉุดกลุ่มหุ้นธนาคารในดัชนีดาวโจนส์ร่วงทั่วหน้า หลังจากมีรายงานว่า นายลิม กวน เอิง รมว.คลังมาเลเซีย เรียกร้องให้โกลด์แมน แซคส์จ่ายคืนเงินค่าธรรมเนียม “เต็มจำนวน” (ไม่ระบุตัวเลขชัดเจน) ที่รัฐบาลมาเลเซียจ่ายให้แก่ทางธนาคารในการจัดตั้งกองทุนแห่งรัฐ (รูปแบบหนึ่งของกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ-SWF) ชื่อ วัน มาเลเซีย ดิเวลอปเมนต์ บีเอชดี (1MDB หรือ 1 Malaysia Development Bhd.) ซึ่งพัวพันกับข่าวอื้อฉาวของการทุจริตและติดสินบน โดยโกลด์แมน แซคส์เป็นผู้ดำเนินการในการทำข้อตกลง 3 ฉบับในการออกพันธบัตรในปี 2555 และ 2556 เพื่อจัดตั้งกองทุน 1MDB ซึ่งสามารถระดมเงินทุน 6.5 พันล้านดอลลาร์

การร่วงหนักของหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ถือเป็นการร่วงวันเดียวที่รุนแรงสุดในรอบ 7 ปี ได้ฉุดหุ้นกลุ่มธนาคารดิ่งลงด้วย โดยหุ้นซิตี้กรุ๊ป ดิ่งลง 2.3% หุ้นเวลส์ ฟาร์โก ร่วงลง 1.3% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ดิ่งลง 3.5% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ลดลง 0.6% และหุ้นเจพีมอร์แกน ร่วงลง 2.1%

วาณิชธนกิจอันดับหนึ่งของโลกมีชื่อโยงใยเข้ากับกรณีนี้นับแต่เดือนมกราคม 2560 เมื่ออัยการสวิตเซอร์แลนด์ ร้องขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลมาเลเซีย หลังตรวจสอบพบว่าเงินสดราว 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ถูกยักยอกออกไปจาก 1MDB อย่างเป็นปริศนา และเงินบางส่วนถูกโอนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปยังบัญชีเงินฝากในสวิตเซอร์แลนด์ของเจ้าหน้าที่รัฐบาลมาเลเซียทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ครั้งนั้น ทิม ไลสเนอร์ ประธานกรรมการบริหาร โกลด์แมน แซคส์ ของสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคอาเซียน ต้องเผ่นออกจากสิงคโปร์ไปกบดานในมุมมืดชั่วคราว เพราะเป็นคนสำคัญที่ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ด้านการเงินและการธนาคาร และนักการเมืองชั้นนำ เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ (M&A) ที่มีมูลค่าสูงถึง 18.8 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 ปี จนโกลด์แมน แซคส์ กลายเป็นธนาคารต่างชาติติดอันดับที่มีส่วนแบ่งทางตลาดสูงถึง 20.3% นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา

มีข้อมูลระบุชัดเจนว่า โกลด์แมน แซคส์ อยู่เบื้องหลังการจัดการขายตราสารหนี้ 3 ครั้งของ 1MDB มูลค่าสูงถึง 6.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2012-2013 โดยที่โกลด์แมน แซคส์ ได้รับเงินค่าธรรมเนียมและจัดการมากถึง 593 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าธรรมเนียมและจัดการตามปกติในมาเลเซีย

ข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมระบุว่า ค่าธรรมเนียมเกินจริง ถูกโอนเข้ากระเป๋าส่วนตัวใครบางคนรอบ ๆ ตัวนาจิบ ราซัค ถูกตั้งขึ้นมา และไม่มีคำตอบ

เรื่องฉาวนี้เป็นประเด็นใหญ่มากนับตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2559 เมื่อ 1MDB ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ได้ถูกคณะกรรมการเฉพาะกิจมาเลเซียซึ่งมีอัยการสูงสุดเป็นประธาน สั่งอายัดบัญชีธนาคารที่มีความเกี่ยวข้องจำนวน 6 บัญชี และจาก 17 บัญชีของธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง

กรณี 1MDB ส่งชื่อโกลด์แมน แซคส์ให้เหม็นรุนแรงที่สุดอีกครั้ง เมื่อผู้บริหารระดับสูง 3 คนรวมทั้งซีอีโอ นายลอยด์ แบลงไฟน์ ถูกระบุความผิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนโดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ว่าเชื่อมโยงกับการจ่ายใต้โต๊ะเจ้าหน้าที่รัฐมาเลเซีย และเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน แต่ยังไม่ได้กล่าวหาธนาคารโดยตรง

แม้วงเงินที่รัฐบาลมาเลเซียเรียกร้องจะไม่ได้มากมายอะไร และไม่กระทบกำไรต่อหุ้นของโกลด์แมน แซคส์มากนัก แต่ปัจจัย “ความไม่แน่นอน” ทำให้การขายหุ้นทิ้งเป็นความปลอดภัยที่กองทุนทั้งหลายพึงกระทำ

8 ปีก่อน โกลด์แมน แซคส์เคยถูกกล่าวหาว่าปิดบังนักลงทุนในการให้คำปรึกษาการระดมทุนของเฮดจฟันด์ที่นำเงินไปลงในตราสารอนุพันธ์เสี่ยงสูงด้านอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ จนกองทุนล่มสลายในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และยอมรับความผิดโดยละม่อม พร้อมยินดีจ่ายค่าปรับมหาศาลเพื่ออยู่รอดต่อมา จนถึงวันนี้

ครั้งนี้มีรายละเอียดต่างออกไป เมื่อนายทิม ไลสเนอร์ ที่ลาออกไปแล้ว ออกมาให้การยอมรับกับเจ้าหน้าที่สืบสวนของมาเลเซียว่า เขาจ่ายเงินใต้โต๊ะจำนวนหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ 1MDB เพื่อได้ดีลนี้มาจริง แล้วจัดการระดมทุนที่ให้ดอกเบี้ยตอบแทนสูงเกินจริง โดยเงินส่วนหนึ่งประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ได้ถูกกระจายไปเข้าบัญชีเขาและญาติที่ควบคุมอยู่

ความลับที่ถูกเปิดเผยมานี้เป็นแค่ส่วนยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะเจ้าหน้าที่สืบสวนของมาเลเซียระบุว่า ยังมีข้อมูลจำนวนมากของโกลด์แมน แซคส์เกี่ยวกับ 1MDB ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบตรวจสอบภายในยังถูกอำพรางเพื่อป้องกันการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่

ในชั้นต้น ทางโกลด์แมน แซคส์แถลงสั้น ๆ ว่า ยินยอมให้ความร่วมมือกับการสืบสวนเต็มที่ และอาจจะต้องจ่ายค่าปรับ “จำนวนที่มีนัยสำคัญ” ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไร เพราะล่าสุดสื่อเจาะลึกในสหรัฐฯ ระบุว่า นายลอยด์ แบลงไฟน์ (ปัจจุบันเป็นซีอีโอใหญ่สุด) ได้มีส่วนหารือร่วมกันระดมทุนและกระจายเงินที่ระดมมาได้โดยตรง นอกเหนือจากทิม ไลสเนอร์

เอกสารที่ศาลสหรัฐฯ ได้รับล่าสุด ระบุว่า นายแบลงไฟน์ และไลสเนอร์ ได้เข้าร่วมการหารือกับนายนาจิบ ราซัค ที่ห้องพักโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ในนิวยอร์ก เมื่อปี ค.ศ. 2009 โดยมีนายโจ๊ะ โลว์ (Jho Low) นักธุรกิจมาเลเซียร่วมวงด้วย

สิ่งที่ยังไม่จบจากกรณีของ 1MDB อยู่ที่การเปิดเผยรายละเอียดนอกเหนือจากเอกสาร 9 ชุดเดิม ที่แสดงถึงเส้นทางโอนเงินที่สูญหายไประหว่างการทำธุรกรรมการเงินข้ามประเทศ จาก 1MDB ที่ก่อตั้งโดยนายนาจิบ ราซัค ในปี ค.ศ. 2008 ตอนที่ยังเป็นรองนายกฯ เพื่อเอาเงินไปลงทุนใช้ประโยชน์จากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ แต่ได้กลายเป็นช่องทางปล้นเงินรัฐที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มาเลเซีย ด้วยธุรกรรมอันซับซ้อน โอนเงินไปมาผ่านบริษัท offshore ที่ถูกตั้งชื่อให้เหมือนกับบริษัทของรัฐบาลอาบูดาบี (แต่เป็นบริษัทปลอมที่ตั้งในบริติช เวอร์จิน) แล้วโอนเงินจากบริษัทนี้ไปบริษัทตัวแทนหลายแห่ง ก่อนลงเอยด้วยการโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของนายราซัค รวมกันแล้วถึง 700 ล้านดอลลาร์ ว่า โกลด์แมน แซคส์มีบทบาทในการจัดการมากน้อยแค่ไหน

ฐานข้อมูลและเส้นทางเงินเหล่านี้ถ้าเจาะลึกลงไป อาจจะพบธุรกรรม “ต้องสงสัย” อื่น ๆ ได้สะดวกขึ้นว่า ด้านมืดของวาณิชธนกิจข้ามชาตินั้นล้ำลึกแค่ไหน

กรณีของโกลด์แมน แซคส์ที่โยงกับ 1MDB ทำให้ต้องย้อนไปคิดถึงคำพูดของวาณิชธนกิจหรือที่ปรึกษาการเงินทั้งหลาย ที่ถือหลักว่า “ทำอะไรก็ได้เพื่อให้ดีลบรรลุภายใต้กฎหมาย ถ้าเกิดผิดกฎหมายก็ทำให้มันถูกต้องเสียด้วยวิธีการนอกจารีต” ว่าอาจจะกลายเป็นกับดักแห่งด้านมืดของวิชาชีพได้ง่ายมาก

การยอมรับความผิดของโกลด์แมน แซคส์ที่ยังไม่สิ้นกระบวนความนี้ มีเส้นทางให้เลือก 3 ทาง คือ 1) โยนความผิดให้บุคคลรับไปเต็ม ๆ ในฐานะ “แพะตัวใหญ่” บริษัทรอดไป 2) ทั้งบุคคลและโกลด์แมน แซคส์รับผิดร่วม “ฝ่ายละครึ่งราคา” แล้วบริษัทรอดสะบักสะบอม 3) ทั้งบุคคลและบริษัทถูกลงโทษตามฐานานุรูปของความผิด แล้วชื่อ โกลด์แมน แซคส์ จะเหลือแต่ตำนาน (ทำนองเดียวกับอาร์เธอร์ แอนเดอร์เสน ในกรณีเอนรอนเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน)

ลองมาลุ้นกันดีกว่าว่า ทางเลือกไหนเหมาะกับวาณิชธนกิจอันดับหนึ่งของโลกนี้

Back to top button