เปิด 30 รายชื่อหุ้น SET กำไร Q3/61 วูบหนักเกิน 50% ลุ้น Q4/61 ฟื้นตัวเด่น!

เปิด 30 รายชื่อหุ้น SET กำไร Q3/61 วูบหนักเกิน 50% ลุ้น Q4/61 ฟื้นตัวเด่น


ผ่านช่วงบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET)รายงานงบการเงินไตรมาส 3/61 ไปแล้วซึ่งตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 3/2561 ที่แจ้งงบแล้วราว 556 บริษัท คิดเป็น 92% ของมาร์เก็ตแคปทั้งตลาด ทำกำไรรวมได้ 2.56 แสนล้านบาท โดยหากเทียบกับไตรมาส 3/2560 เฉพาะบจ.ที่แจ้งงบแล้วพบว่า กำไรเติบโต 21.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 1.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทางทีมงานข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”ได้ทำการสำรวจกลุ่มหุ้นที่ทำกำไรเติบโตโดดเด่นไปแล้ว ส่วนในครั้งนี้จะขอนำเสนอกลุ่มที่มีกำไรไตรมาส 3/61 ลดลงบ้าง โดยคัดเลือกจากกำไรลดลงมากสุดเรียงไปหาน้อยสุดซึ่งคัดเฉพาะหุ้นที่มีกำไรลดลงเกิน 50% โดยมีหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 30 ตัว แต่ครั้งนี้จะขอนำเสนอข้อมูลประกอบให้นักลงทุนเพียง 5 อันดับแรกของตารางดังนี้

อันดับ 1 บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2561 สิ้นสุด 30 กันยายน 2561 มีกำไรลดลงเป็น 1.98 ล้านบาท ลดลง 99.13% จากปีก่อนมีกำไร 228.28 ล้านบาท โดยผลการปรับตัวลดลงเนื่องจากกำไรขั้นต้นต่อลิตรที่ลดลงตามการขอความร่วมมือจากภาครัฐในการรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในขณะที่ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทำให้พีทีจีมีกำไรขั้นต้นรวมเติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

ขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้นตามการขยายสาขา และมีต้นทุนทางการเงิน เท่ากับ 75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4 ล้านบาท จากไตรมาสที่แล้ว มาจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 3/61 บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดในช่องทางค้าปลีกอยู่ที่ระดับ 14.20% เพิ่มขึ้นจากปี 60 ซึ่งอยู่ที่ 12.70% คาดว่าไตรมาส 4/61 ส่วนแบ่งการตลาดน่าจะเพิ่มมากขึ้นอยู่ที่ 15-15.5% จากการเข้าสู่ช่วง High Season และจากกระแสการตอบรับที่ดีของสถานีบริการใน กทม. และปริมณฑล โดยในปีหน้าจะคัดเลือกการลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจนอนออยล์ให้มากขึ้น

บริษัทยังคงเป้าการเปิดสาขาของสถานีบริการน้ำมันและก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ 1,900 สาขา และจำนวนสาขาของธุรกิจ non-oil อยู่ที่ 500 สาขา ซึ่งรวมร้านสะดวกซื้อ Max Mart, ร้านกาแฟพันธุ์ไทย, ร้านคอฟฟี่เวิลด์, ร้านข้าวแกงครัวบ้านจิตร, ร้านซ่อมบำรุงสำหรับรถบรรทุก Pro Truck และสำหรับรถยนต์ Autobacs หลังจากมีกระแสการตอบรับที่ดีของการเปิดสถานีบริการในกทม. และปริมณฑล

 

อันดับ 2 บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.61 มีกำไรลดลงเป็น 6.27 ล้านบาท ลดลง 98.44% จากปีก่อนมีกำไร 401.19 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานมีกำไรลดลงส่วนใหญ่มาจากไตรมาส 3/61 บริษัทฯมีการบันทึกความเสียหายไฟไหม้ถังเก็บน้ำมันดิบของบริษัทย่อยที่ประเทศมาเลเซียจำนวน 345 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการขายและบริการไตรมาส 3/61 เพิ่มขึ้นเป็น 7,031.60 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 5,163.56 ล้านบาท

ด้านนายชัยวัฒน์ ศรีวรรณวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด  (มหาชน) หรือ TASCO  เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2561 บริษัทมียอดขายยางมะตอยอยู่ที่ 3.82 แสนตัน โดยแบ่งเป็นตลาดในประเทศจำนวน 0.92 แสนตัน และตลาดต่างประเทศจำนวน 2.90 แสนตัน ส่งผลให้ไตรมาส 3/2561 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ 7,032 ล้านบาท และมีผลกำไรสุทธิ 6 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 3 ปีนี้ บริษัทฯมีการบันทึกความเสียหายไฟไหม้ถังเก็บน้ำมันดิบของบริษัทย่อยที่ประเทศมาเลเซียจำนวน 345 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่ายอดขายยางมะตอยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จะฟื้นตัว เนื่องจากตลาดในประเทศจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น โดยได้รับแรงหนุนจากงบประมาณของภาครัฐปี 2562 ที่เริ่มเบิกจ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 สำหรับการซ่อมและสร้างถนน และตลาดต่างประเทศปริมาณขายจะดีมาก หลังจากโรงกลั่นยางมะตอยที่มาเลเซีย มีอุปทานน้ำมันดิบเข้ามาป้อนอย่างสม่ำเสมอในช่วงครึ่งปีหลัง เทียบกับช่วงครึ่งปีแรกมีเรือขนน้ำมันดิบเข้ามาเพียง 3 ลำเรือ กอรปกับราคายางมะตอยในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มว่า ปี 2561 เป็นปีที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเจอปัญหาเหตุการณ์ความล่าช้าของการจัดส่งน้ำมันดิบและเหตุการณ์ไฟไหม้ถังเก็บน้ำมันดิบที่โรงกลั่น โดยทิศทางธุรกิจปี 2562 เชื่อว่าผลประกอบการจะฟื้นตัว หลังจากปัญหาต่างๆ ได้คลี่คลาย

 

อันดับ 3 บริษัท ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPT รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 มีกำไรลดลงเป็น 1.15 ล้านบาท ลดลง 97.92% จากปีก่อนมีกำไร 55.10 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานไตรมาสเนื่องจากบริษัทมีรายได้ลดลง ขณะเดียวกัน 9 เดือนแรกมีกำไร 16.46 ล้านบาท ลดลง 81% จากปีก่อนกำไร 85.64 ล้านบาท

นายนพดล วิเชียรเกื้อ กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ทิศทางผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4/61 ถึงไตรมาส 1/62 บริษัทยังคงมุ่งเน้นการดำเนินงานหลัก โดยในไตรมาส 4 นี้ บริษัทถือว่าจะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุด เนื่องจากโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะเริ่มดำเนินการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเปิดหีบผลผลิตอ้อยรอบใหม่ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างเข้าประมูลงานดังกล่าวมูลค่ารวม 500 ล้านบาท คาดหวังได้รับงานราว 300 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถทราบผลได้ภายในไตรมาส 4 นี้

ขณะเดียวกันบริษัทยังอยู่ระหว่างประมูลงานติดตั้งตู้ไฟฟ้าระบบควบคุมเครื่องจักรและตู้ควบคุมการจ่ายไฟฟ้าระดับแรงดันต่ำ ให้แก่โรงงานน้ำตาลในประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 3 โครงการ มูลค่าโครงการละ 100 ล้านบาท คาดหวังว่าจะได้งานราว 2 โครงการ มูลค่ารวม 200 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถทราบผลได้ภายในไตรมาส 4/61 หรือไตรมาส 1/62 นอกจากนี้ ยังเข้าไปประมูลงานวางระบบไฟฟ้า ให้กับกรมชลประทาน การประปา เป็นต้น มูลค่างานประมาณ 200 ล้านบาท คาดเห็นความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้

ผลการดำเนินงานโดยรวมในปีนี้คาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ทำให้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มีการชะลอการลงทุนออกไป แต่ในปี 62 เชื่อว่า ทิศทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้าหมายรายได้จะเติบโตได้ 20-25% จากปีนี้เป็นไปตามยอดขายตู้ไฟฟ้าฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีการเติบโตดี อีกทั้งบริษัทมีแผนจะจัดตั้งสำนักงานขายที่ประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ภายในปีหน้า เพื่อเข้ารับงานในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมท้องถิ่น โดยตั้งเป้าจะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากปีนี้อยู่ที่ 10%

 

อันดับ 4 บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2561 มีกำไรลดลงเป็น 1.39 ล้านบาท ลดลง 96.01% จากปีก่อนมีกำไร 34.81 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิลดลงเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น 35.28 ล้านบาท

 

อันดับ 5 บริษัทวิค แอนด์ ฮุคลันด์ จำกัด (มหาชน) หรือ WIIK รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.61 รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2561 มีกำไรลดลงเป็น 1.13 ล้านบาท ลดลง 94.54% จากปีก่อนมีกำไร 20.60 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวมีกำไรลดลง เนื่องจากบริษัทมีต้นทุนจากธุรกิจน้ำเพิ่มขึ้น ส่วน 9 เดือนมีกำไร 17.62 ล้านบาท ลดลง 78% จากปีก่อนกำไร 78.41 ล้านบาท

 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2561 ของ บจ. แจ้งงบแล้วราว 556 บริษัท คิดเป็น 92% ของมาร์เก็ตแคปทั้งตลาด ทำกำไรรวมได้ 2.56 แสนล้านบาท โดยหากเทียบกับไตรมาส 3/2560 เฉพาะ บจ.ที่แจ้งงบแล้วพบว่า กำไรเติบโต 21.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 1.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาและหากดูเฉพาะ บจ.ที่เป็น real sector (ไม่รวมภาคการเงิน) มีกำไรสุทธิประมาณ 1.88 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

สำหรับรายกลุ่มที่แจ้งงบแล้ว พบว่า กลุ่มที่กำไรสุทธิเติบโตทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา คือ กลุ่มพลังงาน ซึ่งนำโดย PTT, PTTEP, BGRIM, BCP, EGCO และ EA กลุ่มปิโตรเคมี หนุนจาก PTTGC และ IVL กลุ่มยานยนต์ จาก STANLY และกลุ่มส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นำโดย DELTA กลุ่มขนส่ง หนุนด้วย BEM และ BTS กลุ่มค้าปลีก จาก COM7, HMPRO, CPALL, BJC กลุ่มรับเหมาฯ นำโดย PYLON, SEAFCO, CK, ITD, STEC, STPI กลุ่มโรงพยาบาล จาก BCH, BH, BDMS

ส่วนกลุ่มที่กำไรสุทธิเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา คือ กลุ่มสื่อ-บันเทิง หลัก ๆ มาจาก MAJOR กลุ่มท่องเที่ยว จาก CENTEL และกลุ่มเกษตร

ขณะที่กลุ่มที่กำไรสุทธิเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาแต่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ กลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม หลัก ๆ มาจาก CBG, TFG, TU และกลุ่มที่กำไรสุทธิลดลงทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนคือ กลุ่ม ICT ฉุดจาก ADVANC, INTUCH, DTAC, JAS และ JASIF กลุ่มวัสดุก่อสร้าง จาก SCC กลุ่มอสังหาฯ จาก CPN, LH, SIRI

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่ากำไรสุทธิของตลาดหุ้นไทยปี 2561 ที่ 1.07 ล้านล้านบาท ขณะที่กำไรรวมไตรมาส 3 ทำได้ใกล้เคียงกับที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 2.6 แสนล้านบาท จึงยังคงประมาณการกำไรปี 2561 ไว้เช่นเดิมก่อน

สำหรับแนวโน้มไตรมาส 4/2561 คาดว่ากำไรตลาดฯ จะชะลอตัวลงจากไตรมาส 3 โดยปัจจัยหลักมาจากกลุ่มที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มกำไรอ่อนตัวลง เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่ม ICT และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง

ส่วนกลุ่มที่มีแนวโน้มกำไรเติบโตขึ้น คือ กลุ่มค้าปลีก จากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยปลายปี และกลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม รวมทั้งสนามบินและสายการบิน จากการเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของฤดูกาลท่องเที่ยว แต่อาจไม่มีน้ำหนักมากพอ เมื่อเทียบกับแรงกดดันจากหุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่

ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button