“ซีไอเอ็มบีฯ”อัพเกรดคำแนะนำCK ลุ้นแบ็คล็อกพุ่ง1.15แสนลบ. รับกลุ่ม”CP”ตัวเต็งไฮสปีดเทรน

“ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี” อัพเกรดคำแนะนำ CK เป็น "ถือ" เป้า 25 บ. มองกลุ่ม "ซีพี" ตัวเต็งคว้างานประมูลไฮสปีดเทรนหนุนแบ็คล็อกทะลุ 1.15 แสนล้าน!


สืบเนื่องจากกรณีที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เปิดเผย รายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติทั่วไป เพื่อเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือ ไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งพบว่าทั้ง 2 กลุ่ม ประกอบไปด้วย 1.กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งส์ และพันธมิตร และ 2.กลุ่มบีเอสอาร์ ผ่านเกณฑ์การพิจารณา

ทั้งนี้ รฟท.ได้แจ้งไปยังเอกชนทั้งสองกลุ่มแล้วว่าผ่านเกณฑ์ และตอนนี้จะเริ่มต้นขั้นตอนต่อไป คือ เริ่มเปิดซองที่ 2 ด้านเทคนิค คาดว่าจะดำเนินการเสร็จไม่เกิน 3 สัปดาห์ โดยเกณฑ์จะพิจารณาตามทีโออาร์กำหนด และซองนี้จะมีคะแนนเป็นเกณฑ์ตัดสิน และเริ่มเปิดซองที่ 3 คือราคาในเดือนธันวาคมนี้ และจะทำการต่อรองอีก 2 สัปดาห์จากนั้นจะส่งผลการประกวดราคาให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะสามารถลงนามกับผู้รับงานได้ภายในวันที่ 31 มกราคม 2562

 

โดย บริษัทหลักทรัพย์ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากกรณีที่ผลการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะประกาศผลในวันที่ 3 ธันวาคม 2561 นั้น ล่าสุด บริษัทฯได้ทำการวิเคราะห์หุ้นของ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ซึ่งถือหุ้นอยู่ 5% ในกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งส์ และพันธมิตร (CP) ที่ร่วมยื่นประมูลในครั้งนี้ โดยมองว่า ว่าหากกลุ่ม CP ชนะการประมูลครั้งนี้ CK จะสามารถเพิ่มกำไรในปี 2563 ให้กับ CK ได้มากถึง 1 ใน 3 ของกำไรทั้งหมด

นอกจากนี้ ในกรณีที่กลุ่ม CP ชนะการประมูล จะทำให้งานในมือ (backlog) ของ CK จากเดิมที่มีอยู่ 5.54 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.15 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6 หมื่นล้านบาท) โดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่ถือหุ้นอยู่ 5% ใน CP ก็จะได้ส่วนแบ่งไปเป็นจำนวน 6 หมื่นล้านบาท เช่นกัน

ทั้งนี้ในส่วนของกำไรสุทธิของ CK บริษัทฯ คาดว่าจะเติบโตขึ้นสูงถึง 32% ในปี 2563 โดยคาดว่าจะสามารถลงนามได้ในเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม 2562 และจะต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการเตรียมการ โดยจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างร่วมกับ ITD ได้ในปี 2563 และใช้เวลาการก่อสร้างทั้งหมด 3 ปี ซึ่งจะเท่ากับว่า CK จะรับรู้รายได้ราว 2 หมื่นล้านบาท ต่อปี

ขณะที่ในส่วนของอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Net Gearing) ของ CK จะเพิ่มขึ้นจาก 1.2 เท่าในไตรมาสที่ 3/61 เป็น 1.3 เท่า ในกรณีที่ CK ต้องทำการกู้ยืมเงินเพื่อร่วมทุนในโครงการนี้ประมาณ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่ถึงจะสูง แต่ยังอยู่ในระดับที่คาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการได้

ทั้งนี้ มองว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าทั้งสองกลุ่มล้วนมีพันธมิตรที่เข้มแข็ง แต่เชื่อว่ากลุ่ม CP มีโอกาสที่จะชนะการประมูลมากกว่า BSR เนื่องจากกลุ่ม CP ยังมีความมั่นคงทางการเงินที่สูง มีความชำนาญในด้านธุรกิจการค้าปลีก และยังมี CK กับ ITD ที่ชำนาญในการก่อสร้างรางรถไฟ

ขณะที่มองว่า ถึงแม้ว่ากลุ่ม BSR จะมี STEC แต่ความสามารถ และความชำนาญยังน้อยกว่ากลุ่มของ CK และ ITD

ทั้งนี้ ปรับคำแนะนำจาก “ขายทำกำไร” เป็น “ถือ” หุ้น CK โดยมองว่า CP นั้นมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะชนะการประมูลครั้งนี้ และจะทำให้นักลงทุนคลายความกังวลจากตัวเลข backlog ที่อยู่ในระดับต่ำของ CK ไปได้ โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 25 บาท คำนวณจากค่า P/E ปี 2563 ที่ 23 เท่า, -0.5 s.d. จากค่าเฉลี่ย 5 ปี

 

อนึ่งกลุ่ม BSR เป็นความร่วมมือระหว่าง BTS, บริษัท ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH

ขณะที่กิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) ประกอบด้วยพันธมิตร คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD,บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM , บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ China Railway Construction Corporation Limited หรือ CRCC

Back to top button