นรกและสวรรค์บนบาทวิถี

ประเด็นเรื่องบาทวิถีหรือทางเท้าของเมืองใหญ่อย่าง กทม. ควรเป็นพื้นที่มีการอนุญาตให้ตั้งหาบเร่แผงลอยหรือไม่ เป็นวาทกรรมอันยาวนานกว่า 50 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติที่เป็นเอกฉันท์


พลวัตปี 2018  : วิษณุ โชลิตกุล 

ประเด็นเรื่องบาทวิถีหรือทางเท้าของเมืองใหญ่อย่าง กทม. ควรเป็นพื้นที่มีการอนุญาตให้ตั้งหาบเร่แผงลอยหรือไม่ เป็นวาทกรรมอันยาวนานกว่า 50 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติที่เป็นเอกฉันท์

กว่า 2 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้วยความเห็นชอบจาก คสช. ได้ฉวยจังหวะอันสะดวกจากอำนาจตามกฎหมาย เดินหน้าอย่างเข้มข้นเพื่อทวงคืนทางเท้าให้กับประชาชนได้กลับมาใช้สัญจรด้วยความสะดวกและปลอดภัย ด้วยการพยายามใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ที่ถือว่าการค้าขายบนทางเท้าเป็นเรื่อง ผิดกฎหมาย อย่างเข้มข้น

ภายใต้กรอบคิดดังกล่าว ทางเท้าหรือบาทวิถี ถือเป็นสมบัติของส่วนรวม หรือพื้นที่สาธารณะ ไม่ควรถูกจับจองตั้งร้านค้าหาบเร่แผงลอยกีดขวางแทบไม่เหลือพื้นที่ให้เดิน ภาพของผู้คนที่ต้องลงไปยืน-เดินบนถนน เสี่ยงต่อการถูกรถยนต์เฉี่ยวชน

หากมองทางด้านภูมิทัศน์อย่างเดียว พูดตามกรอบคิดดังกล่าวถูกต้องไม่มีอะไรให้ถกเถียง แต่มุมมองทางกฎหมายที่ว่า พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยเป็นพวก “ตีตั๋วถูก” หรือ “ตีตั๋วฟรี” ก็เป็นมุมมองที่ในทางเศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยาถือว่าคับแคบเกินไป

ยิ่งในมุมมองของชนชั้นกลางจำนวนมาก เวลาที่พูดถึง โครงข่ายทางเท้าและตรอกซอยของเมือง (urban network of trails and pathways) จะคิดถึงสวนสาธารณะ ต้นไม้ร่มรื่น ทางเดินและลู่วิ่งกว้าง คดเคี้ยว มีน้อยคนที่จะคิดถึงความงามและบทบาททางเศรษฐกิจของหาบเร่แผงลอย

ผลลัพธ์คือ ความแหว่งวิ่นทางวัฒนธรรมของชุมชนเมือง ที่เต็มไปด้วยความแห้งแล้ง ทางจิตใจของผู้คน

ปัญหาเรื่องหาบเร่แผงลอยในกทม.และเมืองใหญ่ทั่วโลก เป็นปัญหาปลายเหตุ การบริหารจัดการที่สำเร็จและล้มเหลว จึงขึ้นกับการตีโจทย์รากฐานให้ถูกต้อง

เจน เจคอปส์ เจ้าของงานเขียนว่าด้วยวิถีของเศรษฐกิจเมือง Death and Life of Great American Cities และ The Economy of Cities ยืนยันว่า สภาพแวดล้อมอันแออัดและหลากหลายของวิถีชีวิตในสังคมเมืองใหญ่นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือแหล่งผลิตนวัตกรรมใหม่อันไม่จบสิ้นทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม (ซึ่งแน่นอนว่าต้องรวมเอากิจกรรมของหาบเร่แผงลอยและร้านค้าย่อย ๆ เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้)

เจคอปส์ยกตัวอย่างเวนิส อัมสเตอร์ดัม และปารีส ที่ร้านค้าย่อยและหาบเร่แผงลอยเป็นเสน่ห์ของเมืองที่สำคัญมาก ในขณะที่เมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กและชิคาโกที่พยายามขจัดหาบเร่แผงลอยออกไป บาทวิถีกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อชั่วชั้นดีของมาเฟียและพวกหัวขโมย

การตรวจสอบเชิงทฤษฎีว่าเจคอปส์ถูกหรือผิดล่าสุดโดยนักวิจัยอเมริกัน เอ็ด เกลเซอร์ ในผลงาน Triumph of the City (1992) ก็ได้ผลลัพธ์เช่นเดิมคือ หากวิถีชีวิตทางสังคมเศรษฐกิจของเมืองถูกทำลายความหลากหลาย ด้วยข้อกฎหมายหรืออำนาจใด ๆ เมืองนั้นจะเริ่มขาดนวัตกรรม และเริ่ม “วาย” ลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

ปฏิบัติการที่เรียกสวยหรูของกทม.ว่า “การทวงคืนทางเท้าให้กับประชาชนได้กลับมาใช้สัญจรด้วยความสะดวกและปลอดภัย” ตามที่ดีไซน์ออกมาโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ UddC จุฬาฯ (ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ) ที่ได้ริเริ่มโครงการ “กรุงเทพฯ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2557 เพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่มีศักยภาพการเดินสูง ให้เป็นเส้นทางที่สามารถเดินได้ และเป็นเส้นทางที่เดินได้ดี โดยใช้ยุทธศาสตร์ด้านการผังเมือง ซึ่งปัจจุบัน โครงการเริ่มเข้าสู่ระยะที่ 2 และเปิดตัวไปในเดือน ก.พ. 2558 จึงมีพลังยิ่ง

มีตัวเลข ระบุเป็นทางการว่า จากจุดเริ่มแรกกวาดล้างคือแผงลอยผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมถึงบริเวณริมคลองคูเมืองเดิมและรอบศาลฎีกา นับกว่า 1,000 ราย ขยายตัวไปที่รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตลาดคลองถม ตลาดสะพานเหล็ก คลองโอ่งอ่าง ย่านรามคำแหง และ ฯลฯ จนสามารถยกเลิกการค้าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 235 จุด ในพื้นที่ 50 เขต มีผู้ค้าหาบเร่แผงลอยหายไปรวม 20,980 ราย

การหายไปของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย จำนวนมากเช่นนี้ จะมองว่า “โหด” หรือ “วิวัฒนาการ” ก็สุดแท้แต่

แม้จะมีข้ออ้างว่าการกวาดล้างดังกล่าว สามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักให้สัญจรคล่องตัวยิ่งขึ้น แต่ก็มีผลวิจัยของ กทม.เองยืนยันอย่างย้อนแย้งว่า ข้อมูลที่สำรวจมาได้พบว่า การตั้งวางสินค้าของบรรดาหาบเร่แผงลอย ที่มักเป็นประเด็นในการจัดการทางเท้าในกรุงเทพฯ นั้น กลับกลายเป็นว่า ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของการเดิน แต่กลับเป็นสิ่งสำคัญของบรรดานักสัญจรทางเท้าที่มักจะต้องการอาหารหรือของอื่น ๆ ระหว่างทาง

มาตรการทวงคืนทางเท้าจึงมีคำถามตามมาว่า การตั้งใจให้ กทม. เป็นเมืองเดินได้จะเป็นจริงหรือไม่ในอนาคต เพราะแค่ผ่านไปไม่เท่าไหร่ มีข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ว่า เมื่อหาบเร่แผงลอย หรือรถเข็นอาหารริมถนนหายไปจากทางเท้า แทนที่จะเป็นมิตรและให้คนเดินบนทางเท้าอย่างมีลักษณะความสุขและปลอดภัย ทางเท้ากรุงเทพฯ กลับกลายเป็นสวรรค์ของคนขับขี่จักรยานยนต์ส่วนตัวและรับจ้างให้ตำรวจต้องคอยตามจับ-ปรับไปทันที

การกวาดล้างหาบเร่แผงลอย ซึ่งตัดทอนห่วงโซ่ที่เชื่อมโยงความหลากหลายบนทางเท้า ด้วยความเข้าใจเถรตรงว่า ทางเท้า สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนเดินเท้าอย่างเดียว ลืมไปว่าทางเท้ามีไว้เพื่อรองรับมากกว่านั้น ยิ่งกว่านั้น บางครั้ง มีคนถือว่าทางเท้าเป็นแค่ส่วนประกอบหรือส่วนเกินของถนนและอาคารข้างถนนเสียอีก

หากสำรวจแบบเจาะลึก จะพบว่าทางเท้าในกทม.ที่มีขนาดกว้างกว่า 2 เมตรขึ้นไป มีสัดส่วนไม่น่าจะถึงครึ่งหนึ่งของเมืองโดยรวม สะท้อนว่า นโยบายทางเท้าแหว่งวิ่นไม่สมประกอบมายาวนาน และยังได้รับการแก้ไขช้ามาก

นอกจากนั้น ยังมีการสำรวจพบว่า ใน 1 ปี คนกรุงเทพฯ ต้องอยู่ในรถเป็นเวลาเฉลี่ย มากกว่า 800 ชั่วโมง เพราะมีสภาพเป็น “เมืองระยะขับ” (City of great distance) ที่ขยายตัวในแนวราบ ต้องพึ่งพารถยนต์ในการเดินทางจากบ้านมาสู่ศูนย์กลางเมือง ไม่เอื้อต่อการเดิน โดยคนที่มียานพาหนะส่วนตัวก็จะใช้รถส่วนตัวมาเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือขนส่งสาธารณะและเดินเท้า ส่วนคนที่ไม่มีรถส่วนตัวจะใช้ขนส่งสาธารณะมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ เดินเท้าและรถส่วนตัว ส่วนระยะทางเดินเฉลี่ย พบว่า เพศชายเดินเฉลี่ย 10.67 นาที หรือ 853.6 เมตร ในขณะที่เพศหญิง เดินเฉลี่ย 9.52 นาที หรือ 761.6 เมตร

ข้อมูลเหล่านี้ คงต้องถกเถียงกันไปอีกยาวนาน ว่าสวรรค์ของชนชั้นกลาง บนนรกของชนชันรากหญ้า หรือ สวรรค์ของหาบเร่แผงลอย บนนรกของคนเดินทางเท้า อย่างไหนควรเป็นหลัก หรือเป็นรอง

เรื่องนี้ อาจไม่เกี่ยวข้องกับราคาหุ้นในกระดานโดยตรง แต่มีนัยสำคัญทางการเมืองที่มากกว่าคณิตศาสตร์การเลือกตั้งธรรมดาในอนาคต

Back to top button