พาราสาวะถี

ความจริงหากปล่อยให้ กกต.เป็นผู้ชี้แจงแถลงไขหรือแจ้งข่าวแก่สื่อมวลชนเองน่าจะเป็นปัญหาน้อยกว่า แต่ก็พอจะเข้าใจได้ในฐานะทนายหน้าหอ ก็ต้องรีบบอกกล่าวพร้อมตีกันกรณีที่จะมีเสียงคัดค้านไว้ก่อน กับปมที่ วิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.เรียบร้อยแล้ว รอแค่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น


อรชุน

ความจริงหากปล่อยให้ กกต.เป็นผู้ชี้แจงแถลงไขหรือแจ้งข่าวแก่สื่อมวลชนเองน่าจะเป็นปัญหาน้อยกว่า แต่ก็พอจะเข้าใจได้ในฐานะทนายหน้าหอ ก็ต้องรีบบอกกล่าวพร้อมตีกันกรณีที่จะมีเสียงคัดค้านไว้ก่อน กับปมที่ วิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.เรียบร้อยแล้ว รอแค่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น

คำพูดประโยคต่อมาคือ คำวินิจฉัยของ กกต.ถือเป็นที่สุด ใครไม่พอใจให้ไปร้องศาลปกครองเอาเอง เป็นการเปิดและปิดประเด็นไปในคราวเดียวกัน เท่านี้ก็ฉายให้เห็นภาพแล้วว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 ออกมาเพื่อปกป้อง กกต.ด้วยเหตุใด เพราะความล่าช้าในการประกาศแบ่งเขตหรือจะแบ่งเขตให้ถูกใจใครบางคนบางพวก โดยไม่สนใจเสียงประชาชนหรือนักการเมืองที่เคยแสดงความเห็นไว้ก่อนหน้าที่คำสั่งดังว่านั้นจะออกมา

ได้เห็นโฉมของการแบ่งเขตที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะเป็นการโกงเลือกตั้งโดยวิธี Gerrymandering เหมือนที่มีการตั้งข้อสังเกตก่อนหน้าหรือเปล่า ต้องรอให้พรรคการเมืองได้ศึกษากันก่อน แต่ จาตุรนต์ ฉายแสง ชี้ว่า “การแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนหน้านี้มีการรับฟังความเห็นประชาชนให้ใครมาเสนอความเห็นได้เต็มที่จนได้ข้อสรุปไปแล้ว แต่การแบ่งเขตครั้งสุดท้ายคนทั่วไปไม่รับรู้ด้วย คนไม่กี่คนเสนอผ่านช่องทางพิเศษกันมาและก็ได้ผลตามนั้นอย่างน่าอัศจรรย์ เรียกว่าเอาเปรียบกันจนนาทีสุดท้าย

ขณะที่ ธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ก็แสดงความเห็นค้านต่อข้อแนะนำของวิษณุที่บอกให้ไปร้องศาลปกครองหากไม่พอใจผลการแบ่งเขตของ กกต. โดยตั้งคำถามว่าวิษณุจะสามารถไปเป็นพยานให้หรือไม่เมื่อพบกรณีการเสียสิทธิ์ของประชาชนในเขตที่มีปัญหาอยู่  และเชื่อว่าการไปร้องศาลปกครองก็จะไม่มีผลอะไร เพราะการทำหน้าที่ของ กกต.มีมาตรา 44 คุ้มครองอยู่แล้ว

พฤติกรรมอันเกี่ยวข้องกับกระบวนการแบ่งเขตเลือกตั้ง ตั้งแต่คำพูดที่ถูกตบหน้าด้วยมาตรา 44 ของประธาน กกต.กลายเป็นโมฆะบุรุษ จนกระทั่งมาถึงการส่งสัญญาณล่าสุดของวิษณุ จะไม่ทำให้คนเชื่อได้อย่างไรว่า สิ่งที่ทำกันอยู่นั้นเป็นการเอื้อให้กับนักการเมืองท้องถิ่นที่สนับสนุนรัฐบาล มิเช่นนั้น คงไม่มีบางคนบางพวกนำประเด็นเรื่องแบ่งเขตไปสร้างพลังดูดกันอย่างโจ๋งครึ่ม

แต่คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากมองทุกกระบวนการขับเคลื่อนหลังเผด็จการคณะนี้เข้ามามีอำนาจ ตั้งแต่ล้มรัฐธรรมนูญของตัวเองด้วยเหตุผลที่คนกันเองอย่าง บวรศักดิ์ อุวรรณโณ บอก “เขาอยากอยู่ยาว” มาจนถึงการชักเข้าชักออกของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แม้กระทั่งกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ยังใช้อภินิหาร จนทำให้ผู้นำเผด็จการผิดคำพูดอีกกระทอก

แต่ก็อย่างที่บอกเผด็จการจะดำรงอยู่ได้ต้องหน้าทนเท่านั้น ยิ่งเผด็จการยุคใหม่ใช้เนติบริกรรอบตัวออกกฎหมายทั้งปกป้องตัวเองและเล่นงานฝ่ายตรงข้าม คำถามของ Frithjof Schmidt จากพรรคกรีนของเยอรมนี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปัจจุบัน และเป็นอดีตสมาชิกสภาสหภาพยุโรป ต่อการที่ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของตัวเองให้การต้อนรับหัวหน้ารัฐบาลทหารไทยจึงมีนัยสำคัญที่น่าสนใจ

โดย ประภากร วงศ์รัตนาวิน กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิอาเซียนเฮาส์ โคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี ได้แปลถ้อยแถลงดังกล่าวของ Frithjof Schmidt มีเนื้อหาว่า รัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีให้การต้อนรับหัวหน้ารัฐบาลทหารไทยอย่างยกย่องให้เกียรติ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้มีการปฏิรูปทางการเมืองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

การกระทำดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาด แทนที่จะดำเนินนโยบายฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศภายใต้เงื่อนไขที่ประเทศไทยจะต้องปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้น และนำประเทศคืนสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตยรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกลับให้การรับรองความชอบธรรมแก่เผด็จการทหาร ซึ่งกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวไทยทั้งหญิงและชายอย่างรุนแรง

การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีดำเนินนโยบายที่เบี่ยงเบนไปจากทิศทางความสัมพันธ์ทางการเมืองของสหภาพยุโรปหรืออียู โดยอียูได้ตกลงกำหนดแนวทางการฟื้นฟูสัมพันธ์ด้านการเมืองกับประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2560 ภายใต้เงื่อนไขของการจัดการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยในเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า

นับตั้งแต่วันที่ทหารทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในปี  2557 การเลือกตั้ง ส.ส.ถูกเลื่อนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า ในปี 2559 ทหารได้พยายามขยายฐานอำนาจทางการเมืองของตัวเองโดยผ่านการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการลงประชามติที่เต็มไปด้วยข้อกังขาต่าง ๆ มากมาย และแทนที่จะให้การส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน ทหารกลับดำเนินการข่มขู่คุกคามผู้เห็นต่างการเมืองตลอดจนจำกัดลิดรอนสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองอย่างรุนแรงมากขึ้น

แน่นอนว่าท่าทีดังกล่าวของนักการเมืองเยอรมันรายนี้ ย่อมถูกตีความหรืออธิบายจากลิ่วล้อของเผด็จการว่าเป็นพวกฝ่ายค้านที่ย่อมไม่เห็นด้วยกับผู้นำเยอรมนีเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องอย่าลืมว่าสิ่งที่เป็นถ้อยแถลงออกมานั้น มันสอดคล้องสอดรับกับข้อเสนอและเรียกร้องของอียูที่มีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว หากกระบวนการเลือกตั้งที่ผู้นำเผด็จการย้ำทุกเวทีว่าจะโปร่งใส เป็นธรรม ไม่เป็นไปตามนั้น ภาพหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร

ด้วยความเชื่อมั่นของเผด็จการคิดว่าสถานการณ์ในประเทศจะเอาอยู่ เพราะกฎหมายพิเศษและอำนาจวิเศษยังอยู่ในมือครบครันจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดใหม่ แต่การใช้ทุกท่วงท่าเพื่อฟอกขาวตัวเองแม้คนในประเทศจะถูกบังคับให้ยอมรับผลเลือกตั้ง แต่หากผลดังกล่าวไม่เป็นที่พอใจของนานาชาติ ถามว่าการสืบทอดอำนาจและอยู่ในอำนาจต่อไปของหัวหน้าเผด็จการมันจะอยู่กันอย่างไร สำหรับคนเหลิงอำนาจคงไม่ได้ให้ความสนใจ แต่สำหรับคนที่อยากหลุดพ้นความทุกข์ยากคงไม่ได้คิดเช่นนั้นแน่นอน

Back to top button