DTAC เด้ง 3% โบรกฯแนะซื้อ เคาะเป้า54บ. คาดดึงความเชื่อมั่นลูกค้า หลังประมูลหลายคลื่นปีนี้

DTAC เด้ง 3% โบรกฯแนะซื้อ เคาะเป้า54บ. คาดดึงความเชื่อมั่นลูกค้า หลังประมูลหลายคลื่นปีนี้ โดย ณ เวลา 16.19 น. อยู่ที่ระดับ 47.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท หรือ 2.69% สูงสุดที่ระดับ 48 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 46.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 215.33 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ล่าสุด ณ เวลา 16.19 น. อยู่ที่ระดับ 47.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท หรือ 2.69% สูงสุดที่ระดับ 48 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 46.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 215.33 ล้านบาท

ด้าน บล.ทรีนีตี้ (28 พ.ย.61) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” DTAC ราคาเป้าหมาย 54 บาท/หุ้น โดยจากการที่ดีแทค ได้คลื่น 900 MHz จากการประมูลเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ดีแทค มีบริการคลื่นความถี่ที่ครอบคลุมทั้งย่านคลื่นความถี่ต่ำ (Low-band spectrum) และคลื่นย่านความถี่สูง (High-band spectrum) จากการถือครองใบอนุญาต 900 MHz จำนวน 10 MHz (2×5 MHz) รวมกับคลื่นเดิมที่มีอยู่ ได้แก่ 1800 MHz จำนวน 10 MHz (2×5 MHz) คลื่น 2100 MHz จำนวน 30 MHz (2×15 MHz) และคลื่น 2300 MHz จำนวน 60 MHz ที่ดีแทค เป็นพันธมิตรให้บริการโรมมิ่งบนคลื่น 2300 MHz ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ DTAC จึงมีแถบคลื่นความถี่ที่ให้บริการแก่ลูกค้าทั้งหมดกว้างถึง 110 MHz ซึ่งดีแทคจะนำคลื่น 900 MHz คลื่นใหม่นี้ มาให้บริการแทนคลื่น 850 MHz อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

โดยฝ่ายวิเคราะห์ฯ มองว่าการประมูลคลื่นจนครบทุกคลื่นที่ กสทช. นำออกมาประมูลในปีนี้ จะเกิดผลดีต่อความมั่นใจของลูกค้าต่อการให้บริการคลื่น 850 MHz อย่างต่อเนื่องจากสัมปทานที่ได้หมดอายุลงของ DTAC การประมูลดังกล่าว ยังช่วยเสริมในแง่ของความมั่นใจว่า Telenor บริษัทแม่จะยังคงลงทุนในประเทศไทยในระยะยาว รวมถึงน่าจะทุ่มงบมาช่วยเสริมการ Financing ค่าใช้จ่ายใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ด้วยมูลค่า 3.806 หมื่นล้านบาทอีกด้วย ที่สามารถใช้งานคลื่นความถี่นี้ได้ 15 ปี ไปจนถึงปี 2576

อีกทั้ง มองโอกาสที่ DTAC จะใช้ประโยชน์จากคลื่นทั้งหมดที่มีอยู่ในธุรกิจซึ่ง DTAC ค่อยๆสร้างขึ้นมา อย่าง LINE Mobile และบริการสัญญาณ Mobile ที่สามารถจับกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในตลาด Middle Market ได้เป็นอย่างดี โดยที่ในช่วงแรกๆ ของ 5G ใน 1-2 ปีหน้า DTAC มีโอกาสสูงที่จะปล่อยให้คู่แข่งทั้งสองออกตัวไปก่อนโดยจะทำหน้าที่เรียนรู้จาก First Mover เพื่อลดความผิดพลาดหลังจาก 2 ปีผ่านไปที่ DTAC ได้สร้างโครงข่ายของคลื่นที่เพิ่งประมูลใหม่เสร็จสิ้นแล้ว โดยที่ 5G ยังไม่ได้ไปไกลมากเกินที่จะไล่ทันแต่อย่างใด ซึ่งทำให้มั่นใจว่าต้นทุนด้านการสร้างเครือข่ายจะไม่สูงไปกว่าคู่แข่งแต่อย่างใดในช่วง 2 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ขยับราคาเป้าหมายใหม่ ที่ 54 บาท ด้วยวิธี Residual Value เนื่องจากภาพที่ชัดเจนในการใช้คลื่นทั้งหมดสำหรับบริการต่างๆยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยคำนึงถึงตัวเลขจำนวนผู้ใช้บริการรวมของ DTAC ที่เพิ่มขึ้นจากประเมินครั้งก่อน รวมถึงค่า Spectrum License ใหม่ภายใต้โครงสร้างเงินทุนที่ไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก และเปลี่ยนคำแนะนำเป็น “ซื้อ” เพื่อสะท้อนความมั่นใจว่า Telenor บริษัทแม่จะยังคงลงทุนในประเทศไทยในระยะยาว หลังจากตัดสินใจประมูลคลื่น 900 MHz

Back to top button