บอร์ด PPP ตีกลับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สั่งรฟม.จัดหารูปแบบ-แหล่งเงินลงทุนให้เหมาะสม

บอร์ด PPP ตีกลับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สั่งรฟม.จัดหารูปแบบ-แหล่งเงินลงทุนให้เหมาะสม


นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมได้พิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มูลค่าเงินลงทุนรวม 235,320 ล้านบาท ภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในส่วนตะวันออกได้ในปี 2566 และทั้งเส้นภายในปี 2568 โดยได้มอบหมายให้ รฟม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปหารือรูปแบบการลงทุนและแหล่งเงินที่เหมาะสม และเสนอกลับมายังคณะกรรมการ PPP โดยเร็ว

“ในวันนี้ ยังไม่ได้อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เนื่องจากค่างานโยธามีมูลค่าสูง จึงได้สั่งการให้ รฟม.นำกลับไปพิจารณาก่อนที่จะกลับมาเสนออีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนกุมภาพันธ์ 62 โดยมีประเด็นรายละเอียดในเรื่องเกี่ยวกับงานโยธา งานระบบ ซึ่งรฟม.ต้องกลับไปศึกษาเพิ่มเติมตามข้อสังเกตของคณะกรรมการ วันนี้จึงยังไม่ได้ข้อยุติ ยังไม่ได้มีการอนุมัติ และนำมาเสนออีกครั้งหนึ่ง” นายประภาศ กล่าว

โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะช่วยเชื่อมโยงการเดินทางของผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในเขตชานเมืองกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าสู่บริเวณศูนย์กลางเมืองได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งช่วยเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้สมบูรณ์ตามแผนแม่บท M-MAP และบรรเทาปัญหาการจราจรแออัดภายในเมือง

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ยังรับทราบความคืบหน้าตามมาตรการ PPP Fast Track และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก (มูลค่ารวม 128,235 ล้านบาท) และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (มูลค่ารวม 39,406 ล้านบาท) คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ภายในต้นปี 2562

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ยังได้ติดตามโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการกระจายการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาค และบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่นของหัวเมืองหลัก

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ PPP ยังคาดว่าจะนำเสนอโครงการมอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ มูลค่าโครงการ 79,006 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างกรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามความเห็นชอบของคณะกรรมการ PPP โดยเฉพาะการหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ภายในเดือนธันวาคมนี้

Back to top button