พาราสาวะถี

ปมบัตรเลือกตั้งไร้โลโก้และชื่อพรรคการเมือง ยิ่งฟังคำอธิบายของ กกต. โดยเลขาธิการและรองเลขาธิการ กกต. ยิ่งทำให้เห็นอาการแถ และไปกันใหญ่ ในเมื่อเหตุผลที่อ้างว่า การจัดพิมพ์โลโก้และชื่อพรรคจะเป็นปัญหาสำหรับการจัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งสถิติที่ผ่านมา มีผู้ใช้สิทธิ์หลักสองถึงสามแสนคน ทำไมไม่แก้ไขหรือใช้บัตรที่ไม่มีโลโก้หรือชื่อพรรคในจำนวนที่มีตัวเลขบ่งบอก ซึ่งอาจจะพิมพ์เกินไปเล็กน้อย


อรชุน

ปมบัตรเลือกตั้งไร้โลโก้และชื่อพรรคการเมือง ยิ่งฟังคำอธิบายของ กกต. โดยเลขาธิการและรองเลขาธิการ กกต. ยิ่งทำให้เห็นอาการแถ และไปกันใหญ่ ในเมื่อเหตุผลที่อ้างว่า การจัดพิมพ์โลโก้และชื่อพรรคจะเป็นปัญหาสำหรับการจัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งสถิติที่ผ่านมา มีผู้ใช้สิทธิ์หลักสองถึงสามแสนคน ทำไมไม่แก้ไขหรือใช้บัตรที่ไม่มีโลโก้หรือชื่อพรรคในจำนวนที่มีตัวเลขบ่งบอก ซึ่งอาจจะพิมพ์เกินไปเล็กน้อย

อย่าอ้างว่ากฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ทำบัตรเลือกตั้ง 2 แบบ ก็ ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต.บอกเองว่า เรื่องรูปแบบของบัตรเลือกตั้งไม่คิดว่ามีประเด็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะทั้งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเลือกตั้งก็ไม่ได้เขียน ระบุเพียงลักษณะรูปแบบของบัตรให้เป็นไปตามที่ กกต.กำหนด นั่นหมายความว่า กกต.สามารถกำหนดรูปแบบบัตรเลือกตั้งระหว่างที่ใช้ในประเทศและนอกราชอาณาจักรต่างกันได้

ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ความสำคัญกับคนส่วนน้อย แต่เมื่อการจะไม่พิมพ์โลโก้และชื่อพรรคการเมืองเป็นปัญหาที่อ้างว่าจะเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพื่อแก้ปัญหาก็ออกระเบียบเพื่อให้ง่ายต่อกระบวนการบริหารจัดการในส่วนนี้ ส่วนในประเทศหากเห็นว่าการไม่พิมพ์ทั้งสองอย่างถูกมองมีเจตนาแอบแฝง รุนแรงสุดถึงขั้นว่ารับใบสั่งจากเผด็จการ คสช. ก็ทำให้มันเป็นแบบที่ทุกฝ่ายมองว่าเป็นธรรมและไม่เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพวกใดเสีย

ไม่ต้องมาอ้างว่า แม้เป็นบัตรที่มีหมายเลขอย่างเดียวก็ไม่ได้ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะ กกต.ก็พยายามนำเสนอข้อมูลผู้สมัครและพรรคการเมืองให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทุกช่องทาง จนถึงหน้าหน่วยเลือกตั้ง แต่สำนักงานจะพยายามทำรูปแบบที่สมบูรณ์และบริหารจัดการแก้ปัญหาที่มีอยู่ให้ได้ ก็กรณีแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นตัวอย่างการโร่ไปขอมาตรา 44 มาคุ้มกะลาหัว มันเป็นหลักฐานทนโท่ว่า กกต.คณะนี้ทำงานกันอย่างตรงไปตรงมา ยึดหลักกฎหมาย และฟังเสียงประชาชนจริงหรือไม่

ที่ชัดเจนอีกประการคงเป็นถ้อยแถลงล่าสุดของ ธีรยุทธ บุญมี ที่วันนี้มีสถานะเป็นนักวิชาการอิสระ ชี้ชัดว่า คสช.ได้ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. กกต. ปิดกั้นการตรวจสอบ คนมองการเมืองรู้สึกสะดุดกับปัญหานี้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 พยายามที่จะสร้างให้มีความน่าเชื่อถือพอสมควร แต่ตอนนี้ความน่าเชื่อถือลดลง ความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช.ลดลงไปมาก เมื่อมีคดีพี่ใหญ่เรื่องนาฬิกา กกต. ก็เริ่มมีปัญหาเกิดขึ้น มีเสียงร่ำลือว่าจะเกิดอะไรต่าง ๆ ตามมา

แม้จะไม่ระบุชัด จะด้วยความเกรงใจผู้มีอำนาจหรือยังรักท่านผู้นำอยู่ก็มิทราบได้ แต่เสียงสะท้อนของธีรยุทธก็สอดรับกับเสียงอีกจำนวนไม่น้อยที่มองเห็น แต่มีประเด็นที่น่าสนใจว่า องค์กรอิสระที่ถูกมองว่าไม่อิสระนั้น เป็นเพราะรับใบสั่งมาทำให้ไม่เป็นอิสระ หรือทำตัวไม่อิสระเอง เพราะเกรงกลัวอำนาจอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือต้องการสอพลอเพราะมีบุญคุณต่อกัน

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ความพยายามในการที่จะสร้างความได้เปรียบทุกรูปแบบ ไม่เว้นแม้แต่การครอบงำองค์กรอิสระนั้น คำเตือนอีกประการของธีรยุทธที่ต้องคิดกันให้หนักก็คือ ในการเลือกตั้งที่จะถึง อย่าให้สังคมสรุปว่ามีอำนาจต่าง ๆ ทำให้เกิดการโกงการเลือกตั้งหรือเป็นการเลือกตั้งสกปรก แบบเดียวกับสมัยเผด็จการทหารปี 2500 เพราะมองไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยใดที่จะทำให้เกิดการชุมนุมในขณะนี้ นอกจากการชนะการเลือกตั้งที่มาจากการโกง

แน่นอนว่า ประเด็นการสืบทอดอำนาจนั้นไม่ต้องพูดถึงกันอีกแล้ว อย่างที่นักวิชาการเสื้อกั๊กว่า คสช.ตั้งใจสืบทอดอำนาจมานานแล้ว ตั้งแต่ล้มรัฐธรรมนูญฉบับประวัติศาสตร์มาเป็นร่างฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ถือเป็นการตัดสินใจสืบทอดอำนาจตั้งแต่ตอนนั้น ตั้งแต่ที่ให้พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ คนนอกได้ หรือให้อำนาจกับจำนวน ส.ว. 250 คน มีสิทธิเลือกนายกฯ หรือการเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ ตั้งใจอยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องสืบทอดอำนาจ

ภาพการเมืองหลังเลือกตั้งต่างหากที่หลายคนอยากจะเห็น โดยที่ธีรยุทธชี้ว่า การเมืองไทยในอนาคตจะเป็นประชาธิปไตยอิทธิพล เป็นการเมืองใต้เงื้อมมือทุนอิทธิพล พร้อมกับยกคำขวัญของรัฐบาลเผด็จการที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่หมายถึง รัฐมั่นคง ธุรกิจใหญ่มั่งคั่ง และอำนาจของคนกลุ่มนี้ยั่งยืน ขณะที่เวลานี้รูปแบบการประสานประโยชน์ระหว่างพลังทหาร ข้าราชการ กลุ่มอนุรักษ์ และกลุ่มทุนใหญ่ ก็ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะที่ความกล้าหาญของคนในองค์กรอิสระที่พยายามใช้เล่ห์เหลี่ยมทางกฎหมายอธิบายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองนั้น ก็อยากให้นึกถึงภาพของเนติบริกรบางคนที่หลงใหลได้ปลื้มกับการร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศว่าเป็นฉบับปราบโกง แต่พอมีกฎหมายเรื่องแสดงบัญชีทรัพย์สินที่รวมเอาตัวเองเข้าไปด้วย กลับเป็นคนแรกที่กระโดดหนีกระบวนการตรวจสอบดังว่า

เท่านี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่า เหล่าบรรดาคนดีทั้งหลายนั้นแท้จริงแล้วพฤติกรรมส่วนตัวหรือนิสัยเป็นไปตามภาพลักษณ์ที่ได้สร้างมาปกป้องตัวเองหรือไม่ คนในองค์กรอิสระก็เช่นเดียวกัน หากเห็นว่าคนพวกนี้จะคุ้มกะลาหัวให้จนชีวิตจะหาไม่ถือว่าคิดผิดมหันต์ เพราะท้ายที่สุดเมื่ออำนาจเปลี่ยนจะโดยทางหนึ่งทางใด หากไม่ยึดหลักการและความถูกต้องเสียแล้ว อนาคตตัวเองและองค์กรที่สังกัดนั่นแหละ จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เป็นองค์กรอิสระกังฉินที่ยอมสยบใต้อุ้งตีนเผด็จการ

วานนี้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้แล้ว หลังถูกดองจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษามา 90 วัน ฟังคำเตือนจาก จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาฯ กกต.แล้ว สังคมยิ่งเกิดคำถาม การที่บอกว่าผู้ที่จะสมัครหรือพรรคการเมืองไม่ควรกระทำการใด ๆ ที่ทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เพราะอาจเป็นเหตุให้มีการร้องเรียนให้ไต่สวนได้

ปุจฉาก็คือ การที่คนของบางพรรคการเมืองใช้หัวโขนความเป็นผู้มีอำนาจเคลื่อนไหวโดยอ้างการทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช่การหาเสียงนั้น กกต.เคยเก็บข้อมูลเหล่านี้และจะมีการพิจารณาหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้วหรือไม่ว่าเป็นการจงใจใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคที่ตัวเองสังกัดหรือไม่ ถ้าไม่แม้แต่จะคิดก็เลิกพูดได้แล้วกับคำว่าสุจริตและเที่ยงธรรม

Back to top button