การคลังที่เปราะบาง 

รายงานล่าสุดจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยรายงานหนี้สาธารณะคงค้างเดือนกันยายน 2561 ว่าภาครัฐไทยมีหนี้สาธารณะมากกว่า 7 ล้านล้านบาท พร้อมทั้งมีรายละเอียดบางส่วนระบุเพิ่มเติมว่า จากหนี้สาธารณะคงค้าง 6,780,953 ล้านบาท แยกเป็นหนี้ของรัฐบาลถึง 5,450,220 ล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

รายงานล่าสุดจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยรายงานหนี้สาธารณะคงค้างเดือนกันยายน 2561 ว่าภาครัฐไทยมีหนี้สาธารณะมากกว่า 7 ล้านล้านบาท พร้อมทั้งมีรายละเอียดบางส่วนระบุเพิ่มเติมว่า จากหนี้สาธารณะคงค้าง 6,780,953 ล้านบาท แยกเป็นหนี้ของรัฐบาลถึง 5,450,220 ล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด

นอกจากนั้น ข้อมูลหนี้สาธารณะเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่รัฐบาลคสช.เข้ามาบริหารประเทศ พบว่ามีหนี้สาธารณะ 5,655,420 ล้านบาท เมื่อเทียบกับหนี้สาธารณะปัจจุบันพบว่าเพิ่มขึ้น 1,125,533 ล้านบาท คิดเป็น 9%

ข้อมูลดังกล่าวน่าตกใจหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ต้องลงลึกในรายละเอียด เพราะคำว่า หนี้สาธารณะจะต้องพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

– หนี้จากการกู้เงินภายใต้แผนที่กำหนดไว้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 

– หนี้จากการชำระคืนหนี้ เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้

– หนี้จากการชำระคืนหนี้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 

– หนี้จากการกู้เพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ

– หนี้จากการก่อหนี้ต่างประเทศ

หากพิจารณาเทียบกับเมื่อสองเดือนก่อน (ที่มีการปรับเพิ่มวงเงินก่อหนี้รัฐบาลจากเดิม 50% เป็น 60% ซึ่งในมุมมองทั่วไปถือว่าเป็นเรื่องทางลบ เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ก่อหนี้แบบเสียนิสัยในอนาคต) ที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะประมาณ 42% ของจีดีพี ก็ยังถือว่าไม่น่ากลัว ยังห่างไกลจากความสุ่มเสี่ยงทางการคลังมากมาย

เพียงแต่หากเทียบกับตัวเลขทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศล่าสุดสิ้นเดือนตุลาคม 2561 จากข้อมูลของ ธปท. พบว่าได้ทรงตัวหรือถดถอยลง ที่ระดับ 6.44 ล้านล้านบาท (เทียบกับช่วงสิ้นปี 2560 ที่มีตัวเลขคิดเป็นสกุลดอลลาร์มากถึง 2.15 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินบาทเท่ากับ 6.731 ล้านล้านบาท) ก็น่าตั้งคำถามว่าฐานะการคลังของรัฐบาลไทย เริ่มเปราะบางมากขึ้นแค่ไหน แม้ว่าความสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาเงินทุนไหลออกจากประเทศของต่างชาติจะต่ำเพราะตัวเลขสัดส่วนหนี้ต่างประเทศของไทยต่ำมาก ดังจะเห็นได้จากตัวเลขหลายเดือนก่อน ที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 จำนวน 6,557,290.60 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้ในประเทศ 6,300,573.04 ล้านบาท หรือ 96.09% และหนี้ต่างประเทศ 256,717.56 ล้านบาท (ประมาณ 7,719.46 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือ 3.91% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด แถมยังเป็นหนี้ระยะยาวจากเงินกู้ญี่ปุ่นเสียมากกว่า 85% ทำให้อุ่นใจได้มาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช่ปัญหา หากพิจารณาถึงภาระที่ภาคการคลังของรัฐที่ต้องอาจจะแบกรับเพิ่มขึ้น

เรื่องแรกสุดคือ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

ปัจจุบันประเทศไทยติดอันดับที่ 14 ของโลก ที่มีสถิติหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงที่ 68% ของ GDP แถมยังเป็นประเทศแรกที่ไม่ใช่ประเทศในกลุ่มความมั่งคั่งสูง หรือประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้ว

ลองดูรายชื่อเอาก็ได้ว่าชาติอันดับที่ 1-13 ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, แคนาดา, เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์, สวีเดน, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, ฮ่องกง,​ และ โปรตุเกส ล้วนเป็นประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วทั้งหมด แต่ละประเทศมี GDP ต่อหัวอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ไทยอันดับ 14 เป็นประเทศกำลังพัฒนา มี GDP ต่อหัวอยู่ในระดับกลาง ๆ

สถิตินี้แปลว่า คนไทยจำนวนมากกำลังขับเคลื่อนตัวเองด้วยหนี้ โดยเฉพาะคนไทยกว่า 13 ล้านคน ทำอาชีพเกษตรกรรม (ปลูกข้าว) โดยเป็นผลผลิตหลักกว่า 60% ของการเกษตรกรรมทั้งประเทศ เป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะพืชผลทางการเกษตรมีราคาที่ต่ำเรื้อรัง

หนี้ภาคครัวเรือนเรื้อรังนี้ มีส่วนรบกวนระบบการเงินและธนาคารของประเทศในระยะยาวอย่างเลี่ยงไม่พ้น

ที่ผ่านมา ทางออกของการแก้ไขความเสี่ยงนี้ พร้อมกับการ “แสร้งโง่” ของรัฐไทยคือการหว่านเงินช่วยเหลือระยะชั่วครั้งชั่วคราวในรูป “เฮลิคอปเตอร์มันนี่” (จะเรียกว่า ประชานิยม ไทยเข้มแข็ง หรือประชารัฐก็สุดแท้แต่) ที่มีลักษณะ “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” และ “ยื้อเวลาออกไป” โดยไม่ได้แก้สมุฏฐานของโรคเลย

มาตรการเข้มข้นของเฮลิคอปเตอร์มันนี่ ได้ถูกรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นำมาใช้อย่างเพลิดเพลินกับอำนาจสั่งการเหนือสังคม ผ่านมาตรการเรียกแรงเชียร์จากข้าราชการที่พึงพอใจจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือคนกลุ่มอื่น ๆ และยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น นอกจากไม่ได้ก่อมรรคผลต่อจีดีพีและความมั่งคั่งหรือเพิ่มสวัสดิการสังคมอะไรแล้ว ตรงข้ามกลับเพิ่มความเหลื่อมล้ำ และความคับข้องใจสั่งสมให้กับคนที่ไม่ได้รับ “ส่วนบุญ” จากการเลือกปฏิบัติมากขึ้นในระยะยาว

ที่ร้ายกว่านั้น ยังมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงต่อฐานะทางการคลังของรัฐบาลมากขึ้นในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ

หากไม่ลืมกัน ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 จะเกิดขึ้นแค่ 2 สัปดาห์ ผู้บริหารแบงก์ชาติที่ทรงภูมิยังออกมาบอกว่า ฐานะของประเทศไม่เคยมีปัญหา…แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร รู้กันดี

 

Back to top button