PTTEP ร่วง 5%-วอลุ่มแน่น! ตลาดกังวลผลตอบแทนรัฐสูง กดดันรายได้ในอนาคต

PTTEP ร่วง 5%-วอลุ่มแน่น! ตลาดกังวลผลตอบแทนรัฐสูง กดดันรายได้ในอนาคต ล่าสุด ณ เวลา 15.41 น. อยู่ที่ 127.50 บาท ลบ 6.50 บาท หรือ 4.85% สูงสุดที่ 135.50 บาท ต่ำสุดที่ 126.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 4.50 พันล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ล่าสุด ณ เวลา 15.41 น. อยู่ที่ 127.50 บาท ลบ 6.50 บาท หรือ 4.85% สูงสุดที่ 135.50 บาท ต่ำสุดที่ 126.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 4.50 พันล้านบาท

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง คาดว่าเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าคงที่ราคาก๊าซธรรมชาติที่ PTTEP เสนอให้กับกระทรวงพลังงานต่ำกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะกดดันรายได้ในอนาคตต่ำกว่าคาดการณ์

โดย นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า จากข้อเสนอค่าคงที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ 116 บาท/ล้านบีทียู สำหรับทั้งสองแปลง เมื่อเทียบกับราคาปัจจุบัน ที่ 165 บาท/ล้านบีทียู สำหรับแปลงเอราวัณ และ 214.26 บาท/ล้านบีทียู สำหรับแปลงบงกช แล้วเทียบเท่าส่วนลดค่าใช้จ่ายราคาก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศ เท่ากับ 550,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี ตามเงื่อนไขการผลิตขั้นต่ำ หรือปีละ 55,000 ล้านบาท และหากนำส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากทั้ง 2 แปลง มาใช้ลดค่าใช้จ่ายผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 29 สตางค์ต่อหน่วย ไปอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 10 ปี

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เราใช้เพียง 58% ของก๊าซธรรมชาติทั้งหมด เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงประมาณการได้ว่า หากเฉลี่ยส่วนลดให้ผู้ใช้ก๊าซทุกรายตามสัดส่วนการใช้จะประหยัดไฟฟ้าได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย

ด้านข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ผู้ชนะการประมูลยังได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐมากกว่า 50% โดยข้อเสนอดังกล่าวมากกว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาท รวมถึงยังสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แปลง ได้ต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ซึ่งจะสามารถสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้กับประเทศ เพื่อเป็นรากฐาน ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ การพัฒนาทั้ง 2 แปลงนี้ ในช่วงระยะเวลา 10 ปีแรกของสัญญาแบ่งปันผลผลิต คาดว่า สามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และ ส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไร ที่เป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติ ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานพนักงานคนไทย ในสัดส่วน 98% และยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท รวมทั้งยังก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท

ส่วนของการให้หน่วยงานรัฐเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 25% นั้น เนื่องจากบริษัทที่ชนะการประมูลของทั้ง 2 แปลง คือ บริษัทในเครือของ PTTEP ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ในส่วนของข้อเสนอดังกล่าวบริษัทที่ชนะการประมูลจึงเข้าเงื่อนไขด้านการเข้าร่วมของหน่วยงานรัฐ โดยแปลง G1/61 (แปลงเอราวัณ) ในสัดส่วน 60% และ แปลง G2/61 (แปลงบงกช) ในสัดส่วน 100% ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยทั้ง 2 แปลง อยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างสูงสุด

อนึ่ง ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวในเรื่องของราคาโดยการเสนอราคาในแหล่งเอราวัณต่ำกว่า 170 บาท/ล้านบีทียู และเสนอราคาก๊าซฯในแหล่งบงกชที่ต่ำกว่า 190 บาท/ล้านบีทียู จากราคากลางที่กำหนดไว้ไม่เกิน 214 บาท/ล้านบีทียู จะมีผลต่อราคาเป้าหมายของเประมาณ 3 บาท เนื่องด้วยสมมุติฐานอยู่ที่ 200 บาท/ล้านบีทียู (Sensitivity Analysis Figure 1-5)

Back to top button