ทุนใหญ่-ทุนผูกขาด

เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลเผด็จการอนุญาตให้มีการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งได้ ก็ถึงเวลาเล่นปาหี่ของทุกพรรคการเมือง 


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล 

เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลเผด็จการอนุญาตให้มีการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งได้ ก็ถึงเวลาเล่นปาหี่ของทุกพรรคการเมือง

หนึ่งในกิจกรรมปาหี่ที่แทบจะทุกพรรคการเมืองกระทำคือการประดิษฐ์ หรือผลิตนโยบายพรรคที่คาดว่าจะสร้าง “จุดขายที่โดดเด่น” เพื่อนำเสนอตัวเอง

นโยบายที่ดูซ้ำๆกันชนิด “ลอก” กันมา เช่น เพิ่มอำนาจประชาชน ไม่เอาเกณฑ์ทหาร พัฒนาระบบคมนาคมในประเทศ เห็นกันดาษดื่นโดยยากจะแยกได้ว่าจะทำกันได้จริงจังแค่ไหน

มีน้อยพรรคที่นำเสนอแนวทางยกเลิกรัฐธรรมนูญ หรือลดอำนาจกองทัพในเวทีการเมือง ซึ่งขัดหูขัดตาพวกนิยมทหาร

นโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งที่น่าจะถือเป็นจุดเด่นของบางพรรคการเมืองคือเรื่องของภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ที่เกิดจากกติกาเอื้อให้ทุนใหญ่ใช้พลังล็อบบี้อันทรงอิทธิพลหาประโยชน์จากการผูกขาดตัดตอน

ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดคือ นอกจากความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง แล้ว ผลพวงข้างเคียงที่สำคัญลึกซึ้ง อยู่ที่สังคมจะก้าวข้ามกับดักชาติรายได้ปานกลางไม่ได้ เพราะไม่สามารถไปต่อในสภาพที่คนจนจนลงทุกวัน และคนรวยรวยขึ้นทุกวันได้

ความล้มเหลวที่จะก้าวข้ามกับดักชาติรายได้ปานกลาง ทำให้การพูดถึง “คลื่นลูกที่ 4″ หรือ เศรษฐกิจ 4.0 เป็นเรื่องตลก

การลดความเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจ จะไม่เกิดขึ้นตราบใดที่ยังไม่สามารถลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การทำความเข้าใจว่าด้วยการผูกขาดทางเศรษฐกิจ และธุรกิจ (กลุ่มทุน) ผูกขาด ที่ยังมีความลักลั่น และผิวเผิน ทำให้เกิดแนวโน้มที่อาจจะเกิดการ “เหมาโหลทางนโยบาย” ได้

นั่นคือ คำว่า “ทุนใหญ่” และ “ทุนผูกขาด” กลายเป็นคำที่ถูกตีความหมายว่าเป็นคำเดียวกัน (หลายคนพานสรุปอย่างมักง่ายว่าเป็น ทุนสามานย์) ทั้งที่ต่างกันโดยสาระ แม้มูลค่าใกล้เคียงกัน

กล่าวอย่างง่ายๆคือ ความใหญ่ และผูกขาดต่างกันในเชิงคุณภาพ ไม่ใช่เชิงปริมาณ

ความเข้าใจเหมารวม ทำให้เกิดการบิดเบือนและหลงผิดได้ เพราะทุนใหญ่อาจจะไม่ได้เกิดจากการผูกขาด และทุนผูกขาดไม่จำเป็นต้องใหญ่เสมอไป

คำว่าผูกขาด มีการศึกษามาเยอะแยะแล้ว และได้ข้อสรุปว่า การผูกขาดมีสองรูปแบบหลักคือ ผูกขาดด้านการผลิต-ขายสินค้าและบริการ กับผูกขาดซื้อ

การผูกขาดทั้งสองรูปแบบ ยังแบ่งซอยเป็นการผูกขาดรายเดียว และ ผูกขาดน้อยราย

ในทางทฤษฎี เงื่อนไขที่ชี้วัดสำคัญว่าจะเกิดการผูกขาด อยู่ที่ 1) การลดทอนการแข่งขันในตลาดลง (การลดจำนวนคู่แข่ง การขจัดคู่แข่ง การสร้างกติกาไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแข่งขันหรือการล็อกสเปก) 2) การทำให้สินค้าหรือบริการทดแทนไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นน้อยลง 3) การสร้างเงื่อนไขให้เกิดค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เช่นกำหนดให้ตลาดมีการแข่งขันน้อยราย(กรณีธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจดิวตี้ฟรี หรือธุรกิจการบิน)

ตัวแปรเสริมสำคัญที่ทำให้การผูกขาดสามารถดำรงอยู่ได้ หนีไม่พ้นกติกาของรัฐที่เอื้อให้ แต่มีบางกรณีที่เป็นข้อยกเว้น (นานๆครั้งจะเกิดขึ้น) ที่การผูกขาดสามารถเกิดขึ้นโดยธรรมชาติได้ เช่นจากความเหนือกว่าทางด้านเทคโนโลยี หรือจากโมเดลธุรกิจที่เหนือกว่าช่วงเวลาหนึ่ง

การผูกขาดด้วยกติการัฐ สามารถแก้ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น ธุรกิจยางมะตอยปูถนน มีการกำหนดคุณสมบัติแบบล็อกสเปกเพื่อให้บริษัทเดียวในประเทศเท่านั้นที่สามารถยื่นประมูลได้ อย่างนี้ต้องแก้ที่กติการัฐ แต่กรณีสัมปทานสำรวจขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย หรือโทรคมนาคม มีธรรมชาติและความเสี่ยงที่จำต้องให้เฉพาะทุนใหญ่เท่านั้นเข้ามาแข่งขัน ไม่ถือเป็นการผูกขาดตัดตอนเพราะไม่เช่นนั้นก็ต้องให้รัฐเข้าทำเอง ซึ่งก็เป็นการผูกขาดโดยรัฐ

ธุรกิจบางอย่าง ยากจะเป็นธุรกิจผูกขาดได้ ไม่ว่าผู้เล่นจะใหญ่และมีอิทธิพลแค่ไหน เช่นธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะการแข่งขันเพื่อเข้า-ออกจากธุรกิจทำได้ง่าย ยากจะผูกขาดตัดตอนได้ เนื่องจากสภาพการแข่งขันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

การกล่าวหาทุนใหญ่แบบเหมารวมว่า ทุนก่อสร้าง ทุนอสังหาฯ ทุนการเงิน ทุนพลังงาน ทุนอุตสาหกรรมแปรรูป ทุนโทรคมนาคม ทุนขนส่ง ทุนสินค้าบริโภค ทุนค้าส่ง-ค้าปลีก ทุนโรงพยาบาล ทุนธุรกิจบริการ ทุนสินค้าบาป ทุนสีเทา ทุนสื่อมวลชน ล้วนเป็นทุนผูกขาดทั้งหมดจึงต้องระวัง เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดการหลงทางจนเกิดภาวะ“เจตนาดี ประสงค์ร้าย”ได้

การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนในสังคม มีทางเลือกใหญ่ๆคือ 1) ทำให้คนจนมีรายได้มากขึ้น โดยที่คนรวยไม่ได้ยากจนลง 2) ทำให้คนรวยที่ขี้เกียจเพราะอำนาจผูกขาดตัดตอนขยันขึ้นเพราะกติกาที่เปิดให้แข่งขันมากขึ้น โดยที่คนจนไม่ได้ยากจนกว่าเดิม 3) ทำให้คนรวยยากจนลง แล้วคนจนยังจนเท่าเดิม 4) ทำให้คนจนเท่าเทียมกันทั้งประเทศ 5) ทำให้กิจการของเอกชนย่ำแย่ แล้วรัฐทำการผูกขาดเสียเอง

การระบุถึงทุนใหญ่ และทุนผูกขาด หากไม่ระวังรอบคอบ ปล่อยให้คลุมเครือสับสน เพียงเพราะโหนกระแส นอกจากไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา “รวยกระจุก จนกระจาย” ยังจะทำให้ปัญหายุ่งยากตามมาอีกมากมาย

 

Back to top button