ก.ล.ต.ชวนปปช.ออมเงินรองรับวัยเกษียณ แนะผู้บริหารผลักดันให้คำแนะนำพนักงานลงทุน

ก.ล.ต.ชวนปปช.ออมเงินรองรับวัยเกษียณ แนะผู้บริหารผลักดันให้คำแนะนำพนักงานลงทุน


นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ”ตลาดทุนไทยกับการสร้างเสถียรภาพทางการเงิน”ว่า การขยายขนาดของตลาดทุนให้ใหญ่และมีความมั่นคงมากขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดย ก.ล.ต.ได้ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาออมผ่านการลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น ผ่านการลงทุนในกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการลงทุนในหุ้น เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนมีเงินออมเพื่อรองรับหลังวัยเกษียณ ซึ่งปัจจุบันพบว่าประชาชนไทยไม่มีการออมและการลงทุน เกิดจากรายได้ที่ไม่พอกับค่าใช้จ่าย การขาดความรู้ และการขาดวินัย ทำให้ยังเห็นสัดส่วนการออมและการลงทุนน้อยมาก

โดย ก.ล.ต.แนะนำให้ประชาชนหันมาออมผ่านกองทุนรวม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในลักษณะแบบ Dollar cost average (DCA) ซึ่งเป็นการออมอย่างสม่ำเสมอและมีวินัย ประกอบกับเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนของแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับวินัยในการออมและการลงทุนยังต้องพึ่งพาผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ เช่น กรณีของพนักงานบริษัท ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้นำในการสร้างพฤติกรรมการออม ให้คำแนะนำและให้ความรู้ด้านการออมและการลงทุนอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังพยายามผลักดันโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในบริการคำแนะนำในการลงทุนให้กับลูกค้า เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการบริการด้านคำแนะนำอย่างทั่วถึง จากปัจจุบันที่กลุ่มที่สามารถเข้าถึงการบริการด้านคำแนะนำการลงทุนได้ดีเป็นกลุ่มที่มีความมั่งคั่ง (Wealth) เท่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าของหลายธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเพียงกลุ่มลูกค้าที่มีสัดส่วนไม่มากนัก ทำให้ ก.ล.ต.ต้องมามองว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคนได้รับคำแนะนำและได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และใช้บริการได้ง่ายที่สุดอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งล่าสุดได้มีโครงการ Wealth Advisory ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยในการให้บริการเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างถูกต้อง และเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้บริการได้

สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้พนักงานขององค์กรต่างๆ มีเงินออมพอใช้ในช่วงหลังเกษียณอายุ คือ โครงการเกษียณสุข ซึ่ง ก.ล.ต.ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนบริษัทที่สนไจเข้าสมัครโครงการบริษัทเกษียณสุขเพิ่มขึ้นเป็น 250 บริษัท เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นายจ้างให้การสนับสนุนการออมแก่พนักงานทุกคนมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนบริษัททั้งหมดในประเทศที่มีอยู่ราว 17,000 บริษัท โดยที่ ก.ล.ต.ก็ยังเดินสายไปพูดคุยกับนายจ้างบริษัทต่างๆเพื่อทำความเข้าใจ เพราะ ก.ล.ต.เห็นถึงบทบาทของนายจ้างที่มีผลต่อการตัดสินใจของพนักงานในการดำเนินการต่างๆอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนายจ้างเป็นแรงผลักดันที่ดีที่จะกำหนดสิ่งต่างๆในองค์กร โดยเฉพาะการออมของพนักงาน

พร้อมกับแนะนำให้สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการควรแบ่งสัดส่วนเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้นเป็นขั้นต่ำ 10% ของเงินเดือน เพื่อทำให้มีเงินออมรองรับไนการดำเนินชีวิตช่วงเกษียณต่อได้ เพราะปัจจุบันสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 60-70% ของสมาชิกทั้งหมด มีเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเฉลี่ยรายละไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอหากจะนำไปใช้เพื่อการดำเนินชีวิตในช่วงเกษียณ

Back to top button