สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ

สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศประจำวันที่ 8 ม.ค. 2562


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นติดต่อกัน 3 วันทำการเมื่อคืนนี้ (8 ม.ค.) ขานรับความหวังที่ว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะมีความคืบหน้าด้วยดี ซึ่งสัญญาณบวกดังกล่าวได้ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มเทคโนโลยีดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นเฟซบุ๊กที่พุ่งขึ้นกว่า 3% หลังจากเจพีมอร์แกนจัดอันดับให้หุ้นเฟซบุ๊กเป็นหนึ่งในหุ้นที่น่าลงทุนในปี 2562

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,787.45 จุด พุ่งขึ้น 256.10 จุด หรือ +1.09% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,897.00 จุด เพิ่มขึ้น 73.53 จุด หรือ +1.08% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,574.41 จุด เพิ่มขึ้น 24.72 จุด หรือ +0.97%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (8 ม.ค.) ขานรับความหวังที่ว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะประสบความสำเร็จด้วยดี โดยปัจจัยดังกล่าวช่วยหนุนตลาดหุ้นยุโรปดีดตัวขึ้นปิดในแดนบวก แม้มีรายงานว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีหดตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 3 ก็ตาม

ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.87% ปิดที่ 345.85 จุด

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,803.98 จุด เพิ่มขึ้น 56.17 จุด หรือ +0.52% ขณะที่ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,861.60 จุด เพิ่มขึ้น 50.72 จุด หรือ +0.74% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,773.27 จุด เพิ่มขึ้น 54.10 จุด หรือ  +1.15%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (8 ม.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ส่งสัญญาณคืบหน้า ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยรัฐบาลอังกฤษยืนยันว่า รัฐสภาจะลงมติต่อร่างข้อตกลง Brexit ในวันที่ 15 ม.ค.นี้

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,861.60 จุด เพิ่มขึ้น 50.72 จุด หรือ +0.74%

 

สกุลเงินปอนด์และยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (8 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) รวมทั้งเศรษฐกิจยูโรโซนที่ส่งสัญญาณชะลอตัว หลังจากมีรายงานว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีหดตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 3

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1442 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1478 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2719 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2769 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7139 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7142 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.63 เยน จากระดับ 108.60 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9812 ฟรังก์ จากระดับ 0.9794 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3282 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3296 ดอลลาร์แคนาดา

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 7 เมื่อคืนนี้ (8 ม.ค.) ทำสถิติปิดในแดนบวกยาวนานที่สุดในรอบ 18 เดือน ขานรับการคาดการณ์ที่ว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะมีความคืบหน้า นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก)

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. พุ่งขึ้น 1.26 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 49.78 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 1.39 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 58.72 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (8 ม.ค.) เนื่องจากการพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องของตลาดหุ้นสหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังสร้างแรงกดดันต่อตลาดทองคำเช่นกัน

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 4 ดอลลาร์ หรือ 0.31% ปิดที่ 1,285.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 4.30 เซนต์ หรือ 0.27% ปิดที่ 15.713 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 2.50 ดอลลาร์ หรือ 0.30% ปิดที่ 821.80 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 21.20 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 1261.40  ดอลลาร์/ออนซ์

 

Back to top button