คุณตลาด กับ ทอยน์บี

หลังจากดัชนีดาวโจนส์อุตสาหกรรมบวกแรงเกือบทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา จากข่าวดีประดังขึ้นมาหลายหลากพร้อมกัน วันศุกร์ที่ผ่านมาก็เริ่มออกอาการล้าให้เห็น หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือค่าเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค. ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับการปิดหน่วยงานของรัฐบาล (ชัตดาวน์) ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรส เกี่ยวกับการสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

หลังจากดัชนีดาวโจนส์อุตสาหกรรมบวกแรงเกือบทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา จากข่าวดีประดังขึ้นมาหลายหลากพร้อมกัน วันศุกร์ที่ผ่านมาก็เริ่มออกอาการล้าให้เห็น หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือค่าเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค. ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับการปิดหน่วยงานของรัฐบาล (ชัตดาวน์) ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรส เกี่ยวกับการสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก

การถดถอยลงของ CPI ทำให้เกิดการตีความนัยสำคัญของการส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยอ้างเหตุผลว่า สามารถยืดหยุ่นและมีความอดทนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเฟดสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินตามขอบเขตที่สมควร หากเศรษฐกิจมีแนวโน้มย่ำแย่ลง และการที่อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำและสามารถควบคุมได้ ซึ่งกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงที่รู้กันว่าการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปีนี้มีขีดจำกัดอย่างมาก หากพิจารณาเหตุปัจจัยบวกและลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะพบว่าปัจจัยลบยังคงมากกว่าบวก เพราะมีทั้งปัญหาระยะสั้นและระยะยาวในระยะสั้น การชัตดาวน์งบประมาณจากความขัดแย้งทางด้านศักดิ์ศรี ซึ่งสร้างความหวาดกลัวและวิกฤต จากการที่ทรัมป์ยืนยันต้องสร้างกำแพงให้จงได้ ไม่ว่าจะต้องปิดหน่วยงานรัฐอีกนานเพียงไร ชี้ว่าพวกเดโมแครตเป็นเหตุให้เกิดอาชญากรรมจากคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

แต่ฝ่ายเดโมแครตชี้ว่าพร้อมให้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อความมั่นคงตามแนวพรมแดน แต่ไม่ใช่ด้วยการสร้างกำแพง ปล่อยให้คนอเมริกันต้องจ่ายภาษีหลายพันล้านดอลลาร์สร้างกำแพงที่ไม่น่าจะช่วยกันคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีพูดว่าเม็กซิโกต้องเป็นคนจ่าย

ส่วนในระยะกลาง นักลงทุนยังวิตกว่าสงครามการค้าที่ยังไม่จบลงง่าย ไม่เพียงแต่จะทำให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แต่ยังจะทำให้ตัวเลขยอดส่งออก ยอดขาย และกำไรของบริษัทอเมริกันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีนจะย่ำแย่ลงตามบริษัทแอปเปิล อิงก์ ที่ประกาศปรับลดคาดการณ์รายได้ โดยระบุถึงยอดขาย iPhone ที่ซบเซาในจีน รวมทั้งคาดการณ์ว่าบริษัท สตาร์บัคส์ จะเป็นบริษัทต่อจากแอปเปิลที่จะปรับลดคาดการณ์รายได้ จากยอดขายที่ตกต่ำในจีน

ล่าสุด ผู้จัดการกองทุนใหญ่หลายรายในวอลล์สตรีท ออกคำเตือนว่า กองภูเขาหนี้มหาศาลในตลาดตราสารหนี้ของบริษัทอเมริกัน 122 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 6 เท่าของจีดีพี กำลังย่างเข้าสู่ภาวะอันตรายจากการชักหน้าไม่ถึงหลังทางการเงิน เพราะคาดหมายว่าตลอดปีนี้ ตัวเลขอัตราเติบโตที่แท้จริง (หักลบด้วยเงินเฟ้อแล้ว) จะอยู่ที่เพียง 0.5% เท่านั้น สถานการณ์ดังกล่าวนอกจากจะรบกวนขาขึ้นของดัชนีดาวโจนส์ในระยะปีนี้แล้ว ยังมีแนวโน้มนำไปสู่การถดถอยความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจอเมริกันในระดับโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอัตราเร่ง

จากเดิมเมื่อหลายปีก่อน สำนักวิจัยของบริษัทบัญชีระดับโลก PWC เคยออกบทวิเคราะห์ที่ระบุว่า หากไม่มีสงครามใหญ่เกิดขึ้น จีนจะกลายเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกภายในปี ค.ศ. 2050 แต่ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดของอังกฤษ ได้เปิดเผยรายงานว่า ภายในปี 2030 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะร่วงอยู่ในอันดับสามของโลก รองจากจีนและอินเดีย ….เร็วกว่าที่ PWC คาดเอาไว้ 20 ปี ทีเดียว

การถดถอยของ Pax Americana ที่รวดเร็วเกินคาดนี้ เป็นไปอย่างสอดคล้องกับคำเตือนแห่งศตวรรษของนักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษ อาร์โนลด์ ทอยน์บี ว่าด้วยเรื่องของความท้าทาย และการสนองตอบทางประวัติศาสตร์

ทอยน์บี ศึกษารวบรวมและประมวลข้อมูลอันหลากหลายเพื่อจะค้นหาพลังขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ แต่ละอารยธรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร และเสื่อมสูญไปได้อย่างไร ทำไมอารยธรรมแต่ละแห่งถึงเกิดขึ้นมาและเบิกบาน แต่บางอารยธรรมกลับล่มสลาย

ทอยน์บี พบว่า ความท้าทาย ได้แก่ปัจจัยต่าง ๆ ที่อยู่รอบด้านที่ก่อให้เกิดอารยธรรมต่าง ๆ ขึ้นมา เช่นภูมิอากาศ ภูมิประเทศ การรุกรานจากภายนอก ความขัดแย้งจากภายใน ฯลฯ ซึ่งล้วนมีลักษณะสองด้านในตัวเองคือเป็นทั้งปัจจัยบวกและลบ

ส่วนการสนองตอบ ได้แก่ โครงสร้างทางด้านจิตสำนึกของชนชั้นนำ และวัฒนธรรมในแต่ละอารยธรรมที่ทำหน้าที่ตอบสนองความท้าทายต่าง ๆ ภายใต้เงื่อนเวลาและสถานการณ์ต่าง ๆ กัน

หนึ่งในคำตอบที่ทอยน์บีได้สรุปอย่างมีนัยสำคัญคือ ความล้มเหลวของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมจนไม่สามารถเผชิญความท้าทายได้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อารยธรรมล่มสลาย แต่ความล้มเหลวทั้งหลายนั้น ขมวดปมไปที่การที่ชนชั้นนำของสังคมไม่เรียนรู้และล้มเหลวที่จะตอบสนองอย่างสร้างสรรค์ต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เพราะติดยึดในความสำเร็จของพวกเขาเองในอดีต

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ กรอบโครงสร้างของสังคมใหม่จะเคลื่อนเข้ามาแทนที่กรอบโครงสร้างสังคมเก่า และนั่นอาจหมายถึงการล่มสลายของอารยธรรมในที่สุดได้

ตัวอย่างที่เด่นชัดก็คือ อารยธรรมโรมัน ที่หยิบยืมอารยธรรมกรีกมาผสมผสานเข้ากับการจัดรูปโครงสร้างกองทัพและระบอบการเมืองภายใน จนกลายเป็นจักรวรรดิขนาดใหญ่ที่มีคนหลากชาติพันธุ์มารวมอยู่ในสังคมเดียวกัน แต่ไม่สามารถจัดการให้ลงตัวได้ดี เพราะชนชั้นปกครองไม่ยอมปรับสภาพความหลากหลายให้พอเหมาะพอดี ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การล่มสลายในที่สุด อารยธรรมจีน และอินเดีย เป็นตัวอย่างของอารยธรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างทางสังคมได้ยืดหยุ่นมากกว่า และแม้ว่าบางครั้งจะต้องเผชิญกับการยึดครองจากภายนอกบ้าง แต่ท้ายสุดก็ฟื้นตัวกลับมาโดยไม่ล่มสลาย เพียงแต่ต้องจ่ายด้วยต้นทุนที่แพงมหาศาลเท่านั้น

ทุนนิยมแบบอเมริกันเริ่มเดินมาถึงตรอกตัน และตลาดหุ้นเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง ของคำทำนายโดยนัยของทอยน์บี เริ่มตั้งแต่ปีนี้ไป

 

Back to top button