พาราสาวะถี

เปิดหน้าเล่นแบบไม่ต้องเหนียม ไม่ต้องเกรงเสียงวิจารณ์ใด ๆ ดังนั้น เรื่องที่บอกว่ากกต.จะเคาะวันเลือกตั้งเป็น 24 มีนาคมนี้ เกิดจากการชี้แนะของ วิษณุ เครืองาม คงไม่ผิด ยืนยันได้จากสิ่งที่เนติบริกรประจำรัฐบาลกระทุ้งต่อมาคือปม 60 วันของการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ที่ไม่นับรวมกับ 150 วันในการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ


อรชุน

เปิดหน้าเล่นแบบไม่ต้องเหนียม ไม่ต้องเกรงเสียงวิจารณ์ใด ๆ ดังนั้น เรื่องที่บอกว่ากกต.จะเคาะวันเลือกตั้งเป็น 24 มีนาคมนี้ เกิดจากการชี้แนะของ วิษณุ เครืองาม คงไม่ผิด ยืนยันได้จากสิ่งที่เนติบริกรประจำรัฐบาลกระทุ้งต่อมาคือปม 60 วันของการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ที่ไม่นับรวมกับ 150 วันในการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ

ท่าทีของกกต.คือต้องทำทุกอย่างให้จบในกรอบ 150 วันเพราะกลัวว่าจะมีใครไปยื่นตีความแล้วทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ โดยที่ 7 เสือกกต.พร้อมด้วยบุคคลที่เกี่ยวข้องอาจต้องรับผิดชอบความผิดทางแพ่งและอาญาที่จะตามมา ซึ่งวิษณุย้ำเหมือนเป็นการสอนมวยกกต.ว่า “เขาให้ 60 วัน คุณก็จะเอาให้มันสั้นเอง โดยสร้างข้อจำกัดตัวเอง ติดโน่นติดนี่”

ก่อนจะจี้ต่ออีกว่า กลัวมันมีได้ 2 ทางคือ กลัวว่าใช้ 60 วันซึ่งจะเกินกรอบ 150 วันแล้วจะมีปัญหา แต่ต้องกลัวด้วยว่าเมื่อไปสร้างข้อจำกัดตัวเองให้การประกาศผลต้องอยู่ในกรอบ 150 วัน มันจะทำให้การทำอะไรก็ตามไม่ละเอียด รอบคอบ จะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า อย่างนี้จึงควรกลัวด้วยเหมือนกัน ควรใช้เวลา 60 วันให้เต็มที่จะไปบีบตัวเองให้มันเหลือ 40 กว่าวันทำไม

ไม่เพียงแต่จะชี้แนะกกต.เท่านั้น วิษณุยังแขวะไปถึงคนที่สะกิดเตือนกกต.ต่อปม 60 วันด้วยว่า คนที่คิดว่าต้องรวมถือว่าแปลกมากไปเอาที่ไหนมา มีคนเดียวในประเทศไทย แน่นอนว่าคงไม่ต้องบอกว่าหมายถึงใคร คนคนนั้นก็คือ สมชัย ศรีสุทธิยากร นั่นเอง ที่ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเนติบริกรของเผด็จการทุกราย โดยเฉพาะกับ มีชัย ฤชุพันธุ์ หัวขบวนร่างกฎหมายทุกฉบับของคณะรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม ยังมีมุมย้อนแย้งในความเห็นของวิษณุอยู่เหมือนกัน เมื่อนักข่าวถามว่าหากเลยวันที่ 9 พฤษภาคมแล้วมีคนสงสัยไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องนี้ เนติบริกรตอบทันทีว่า อย่างนั้นถือเป็นความขัดแย้งแต่ความขัดแย้งแบบนี้ไม่ค่อยดี เพราะถ้าไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้วศาลวินิจฉัยว่าเลยกรอบมันทำไม่ได้จะมีปัญหา เพราะไม่สามารถย้อนเวลากลับได้ และถึงตอนนั้นไม่ใช่กกต. ประชาชนก็สามารถยื่นให้ตีความได้ จึงเป็นเหตุผลให้กกต.พยายามจะทำให้ทันภายในเวลา 150 วัน

เป็นความเข้าใจต่อกระบวนการของกกต. ขณะเดียวกันก็ยังมีความกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่ที่อดแปลกใจไม่ได้ก็คือแล้วทำไมวิษณุจึงยืนยันเหมือนอยากให้กกต.ลองของ ด้วยการแยก 60 วันในการรับรองผลเลือกตั้งออกจาก 150 วัน หรืออีกนัยคืออยากให้กกต.เป็นผู้ไปยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เสร็จสิ้นเสียก่อนที่จะจัดการเลือกตั้ง

หากจะสรุปถึงต้นตอของปัญหาที่ยังคาราคาซังกันอยู่อย่างนี้ ก็ต้องโทษไปที่องคาพยพของเผด็จการที่ทำหน้าที่เขียนตัวบทกฎหมายนั่นแหละ ที่ไม่ทำอะไรให้กระจ่างชัด มิหนำซ้ำ ยังเข้าข่ายทำให้มีการขัดกันเองระหว่างกฎหมายแม่กับกฎหมายลูก ซึ่งบางฝ่ายก็มองไปถึงประเด็นที่ว่า เป็นเจตนาที่จะให้เป็นเช่นนั้น หรืออีกด้านก็คือกะจะวางยาฝ่ายตรงข้าม แต่ทำไปทำมาจะสะดุดขาตัวเองเสียของเสียอย่างนั้น

น่าแปลกใจที่มือกฎหมายรัฐบาลพยายามตอกย้ำประเด็นเรื่องเงื่อนเวลาต่อกกต. แต่ฝ่ายกองทัพอย่าง พลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กลับมองอย่างเข้าใจและเชื่อใจ โดยย้ำ ข้อมูลทุกอย่างได้ชี้ชัดไปแล้วการเลือกตั้งมีขึ้นแน่นอนและจะไม่ส่งผลเป็นโมฆะ เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะควบคุม จัดการให้มีการเลือกตั้งและประกาศผลในกรอบเวลาที่กำหนด

นั่นหมายความว่า ฝ่ายกองทัพเองก็ประเมินสถานการณ์อันเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งว่าจะเดินไปในทิศทางไหน เพราะจะต้องนำมาประกอบการวางแผนงานด้านความมั่นคง เนื่องจากหากไม่มีความชัดเจน หาคำตอบไม่ได้ ก็ยากที่จะไปทำความเข้าใจกับฝ่ายที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามกำหนด และไม่เพียงแต่จะชัดเจนในเรื่องวันเวลาตามกฎหมายกำหนดเท่านั้น ยังต้องชัดแจ้งในเรื่องของกระบวนการที่จะตามมาหลังการเลือกตั้งด้วย

น่าดีใจที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมองสถานการณ์เวลานี้ว่า อยู่ในสภาวะปกติ ไม่มีการเดินขบวน ยับยั้ง ปิดล้อมไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง โดยเชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงน่าจะเป็นไปด้วยความราบรื่น แน่นอนหากปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองบนวิถีประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือแม้แต่คนไม่อยากเลือกตั้งจะในนามเรียกขานอย่างไรก็แล้วแต่หรือจะจัดตั้งมาหรือไม่ ก็ขอให้เห็นเป็นความเคลื่อนไหวอันปกติ ธรรมดา

หน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงคือป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง ไม่ใช่จะไปยกเอาว่ามีคนที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายเลือกตั้ง แล้วจะนำไปสู่สถานการณ์อันเลวร้าย วิธีคิดแบบนี้ไม่ใช่แนวทางของคนที่รักษาความมั่นคงอย่างแน่นอน เพราะหากปฏิบัติกันโดยสุจริตใจ ไม่ว่าจะมีกี่พวก กี่ความเห็นที่แตกต่าง ต้องปล่อยให้คนเหล่านั้นได้แสดงออก โดยผู้เกี่ยวข้องมีหน้าที่ดูแลให้เกิดความสงบ ยิ่งมีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะกำกับควบคุมอยู่แล้ว ยิ่งทำให้กระบวนการทำงานเป็นไปได้ง่ายกว่าในอดีต

ส่วนเรื่องการปฏิวัติรัฐประหาร เบื้องต้นจะขอเชื่อตามที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดบอกไว้ก่อนว่า อย่ามองไกลไปถึงขนาดนั้น ต่อการตีความคำพูดของ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกที่ว่า “อย่ามาล้ำเส้นกัน” อาจเป็นเพราะก่อนหน้านั้นผบ.ทบ.ไม่การันตีเรื่องจะมีรัฐประหารอีกกระมัง เลยทำให้คนนำไปคิดมาก แต่หากอ่านท่าทีที่แสดงออกต่อคณะเผด็จการแล้ว ไม่มีเหตุหรือสัญญาณใดที่จะต้องปฏิวัติซ้ำหรือซ้อน

อีกสัญญาณว่าเลือกตั้งไม่ขยับแน่แล้ว คงเป็นกรณี 4 รัฐมนตรีพลังประชารัฐ ลาราชการเมื่อวันศุกร์เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค ชัดเจนว่าเรื่องหนึ่งเพื่อเตรียมพร้อมเตรียมแผนสำหรับเลือกตั้งและอีกเรื่องคือพิจารณารายละเอียดก่อนส่งหนังสือชี้แจงเรื่องการระดมทุน 600 กว่าล้านให้กกต. แต่คนไม่ได้สนใจในประเด็นเหล่านั้น คำถามตัวโตเวลานี้คือเมื่อไหร่ 4 รัฐมนตรีจะไขก๊อก ต้องเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นไปถึงไหน แต่เรื่องนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกใจเย็น ๆ เพราะเรื่องมารยาทมันสอนกันไม่ได้

Back to top button