พาราสาวะถี

หลังจากพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ และกกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว สิ่งที่เป็นกระบวนการต่อมาเพื่อยืนยันถึงการเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเต็มตัว คือประกาศอันเกี่ยวข้องทั้งหมดของกกต. ที่ต้องนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ล่าสุด เมื่อวานเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศของกกต.ทั้ง 5 ฉบับ


อรชุน

หลังจากพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ และกกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว สิ่งที่เป็นกระบวนการต่อมาเพื่อยืนยันถึงการเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเต็มตัว คือประกาศอันเกี่ยวข้องทั้งหมดของกกต. ที่ต้องนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ล่าสุด เมื่อวานเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศของกกต.ทั้ง 5 ฉบับ

ประกอบด้วย กำหนดวันเลือกตั้งส.ส. วันรับสมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เรื่องจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด เรื่องการสมัครรับเลือกตั้งส.ส. กำหนดวันและเวลาออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลาง และเรื่องกำหนดวัน เวลา ยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนส.ส.ก่อนวันเลือกตั้ง

ที่คลอดตามมาติด ๆ คือ ระเบียบกกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองต้องไปทำความเข้าใจและเลี่ยงการกระทำที่เข้าข่าย ส่วนใครที่ไม่เห็นด้วยก็ถือเป็นสิทธิ เสรีภาพ สามารถแสดงความเห็นว่ากันไปตามครรลอง ส่วนจะไปล้ำเส้นใคร สร้างความไม่พอใจต่อใคร นั่นเป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายที่จะไปว่ากัน

พอพูดถึงข้อกฎหมายคงไม่มีใครเถียงที่ วิษณุ เครืองาม ยืนยันพวกโวยว่ารัฐบาลนี้เอาเปรียบ “กรุณาไปดูว่ากฎหมายมาตราใดที่ห้าม” มันก็ต้องเป็นเช่นนั้น ในเมื่อทุกตัวอักษรใครเป็นคนร่างย่อมรู้กันดี มิเช่นนั้น คงไม่เกิดคำพูดตอกย้ำถึงความเป็นรัฐบาลอำนาจเต็ม จนไปถึงขั้นที่บอกว่ารัฐบาลนี้จะทำอะไรก็ได้ เพราะไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ

การอ้างเรื่องของงานและภารกิจเป็นสิทธิของรัฐบาลเผด็จการด้วยเหมือนกัน แต่เรื่องความเหมาะสมหรือมารยาท คงต้องฝากเนติบริกรประจำรัฐบาลที่เคยพูดว่า มนุษย์นั้นไม่ได้อยู่ได้ด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียว มันยังมีเรื่องของกาลเทศะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หรือพูดให้ชัดก็คือ มารยาททางการเมือง สปิริตทางการเมือง เป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ บังคับกันไม่ได้ อยู่ที่ใจอันมีสำนึกของคนล้วน ๆ

ต้องไม่ลืมว่านอกจากอำนาจเต็มที่วิษณุว่าแล้ว ยังมีอำนาจพิเศษและวิเศษอย่างมาตรา 44 ที่อยู่ในมือของหัวหน้าเผด็จการด้วย ซึ่งก็เป็นหัวขบวนคนเดียวกันกับที่พรรคการเมืองอย่างพลังประชารัฐจะเสนอให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคด้วย แม้ว่าล่าสุด อุตตม สาวนายน จะออกมาแบไต๋ว่าจะมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร่วมเป็นแคนดิเดตในส่วนของพรรคด้วยก็ตาม

ตัวจริงเสียงจริงยังไงเสียก็ต้องบิ๊กตู่ คนที่มาประกบก็แค่เพื่อทำให้ดูดี ไม่ถูกครหาว่าเป็นพรรคที่เป็นสะพานในการสืบทอดอำนาจของเผด็จการแค่นั้นเอง เพราะ สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพลังประชารัฐหัวขบวนในการเดินสายดูดก่อนหน้านี้ ยอมรับตรง ๆ หากพลเอกประยุทธ์ปฏิเสธเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคคงเป็นเรื่องใหญ่และคงปรับตัวไม่ทัน

ฝากความหวังกันไว้ขนาดนี้ จะทำให้ผิดหวังกันเชียวหรือ ประกอบกับทุกอย่างที่ทำกันมาตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีก็เพื่อการนี้โดยเฉพาะ คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การแทงกั๊ก ดึงจังหวะ ยึกยื้อ ก็แค่หนึ่งในกระบวนการเพื่อไม่ให้น่าเกลียดเท่านั้น อย่างไรเสีย ภายในต้นเดือนหน้าเขียนแปะข้างฝารอได้เลยว่า หัวหน้าคสช.ตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกฯพลังประชารัฐแน่นอน

ยิ่งได้เห็นการประกาศนโยบายของพรรคสืบทอดอำนาจไปวันวาน ทุกอย่างมันก็คือสิ่งที่รัฐบาลเผด็จการได้ทำในเวลานี้นั่นเอง ไม่ต้องอ้างกระบวนการฟังเสียงประชาชน ไม่ต้องบอกว่าเป็นพรรคที่ประชาชนมีส่วนร่วม แนวคิดทิศทางและการก้าวเดินหลังจากนี้ หากไม่มีส่วนยึดโยงใด ๆ ขอท้าว่า แกนนำพลังประชารัฐ อย่านำเอาเรื่องบัตรคนจนไปขายฝัน อย่านำเอาสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำมาไปโพนทะนา

ไม่มีทางที่จะเป็นเช่นนั้นได้ คำถามง่าย ๆ คือ พรรคเกิดใหม่มีผลงานกันแล้วหรือ คำตอบคือไม่มี แล้วที่นำไปคุยโม้โอ้อวดกันตั้งแต่ที่บางพวกยังเป็นกลุ่มการเมืองจนกระทั่งปฏิสนธิกันสำเร็จ เป็นผลงานของใคร ก็ของรัฐบาลเผด็จการทั้งสิ้น หากเป็นพรรคการเมืองอื่นหรือพรรคที่อยู่ตรงข้าม ป่านนี้คงถูกเล่นงานไปแล้ว แต่พอเป็นอีกพวกทุกอย่างเลยเดินกันได้สะดวกโยธิน

หลังถนนสายเลือกตั้งกดปุ่มให้เดินกันอย่างเป็นทางการ ถือเป็นข่าวดีสองเด้งสำหรับรัฐบาลเผด็จการ หนึ่งคือม็อบอยากเลือกตั้งประกาศยุติการชุมนุมใหญ่ที่นัดหมายในวันที่ 26 มกราคมนี้ แต่ก็ยังแสดงจุดยืนไม่หยุดเคลื่อนไหว เพราะต้องจับตาการเลือกตั้ง ด้วยเจตนารมณ์จะไม่ยอมให้การเลือกตั้งกลายเป็นเพียงพิธีกรรมสืบทอดอำนาจเผด็จการ

อีกหนึ่งเด้งที่ถือเป็นสิ่งสำคัญคือ แถลงการณ์ของสหภาพยุโรปหรืออียู ที่แสดงความยินดีต่อไทยในการประกาศวันเลือกตั้ง แต่อาจจะเป็นการดีใจที่ไม่สุด เพราะความยินดีของอียูนั้น ยังมีเงื่อนไขที่ฝ่ายกุมอำนาจไม่น่าจะชอบใจ โดยอียูมองว่าเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทย ขณะที่การยกเลิกข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในเดือนที่ผ่านมา นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

เพราะอียูตั้งตารอที่จะได้เห็นการรณรงค์หาเสียงเป็นไปอย่างเปิดกว้างและสงบเรียบร้อย โดยที่เสรีภาพในการแสดงออกอันจำเป็นต่อกระบวนการทางประชาธิปไตยได้รับการรับรอง ไม่เพียงเท่านั้น ยังคาดหวังว่าจะได้เห็นการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ มีการแข่งขัน และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย โดยเป็นธรรมต่อทุกพรรคการเมือง ซึ่งนำไปสู่การแต่งตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

พอถึงเวลานั้น คงต้องไปลุ้นกันอีกว่าถ้าผู้นำรัฐบาลเป็นคนหน้าเดิม ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว นานาประเทศ โดยเฉพาะอียูจะประเมินการเลือกตั้งของไทยเป็นอย่างไร สิ่งที่จะช่วยได้คือกกต.ต้องเชิญผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศเข้ามาดูการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อเชื่อมั่นในการทำงานที่โปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น เพราะสิ่งที่ทำเป็นผลดีต่อประเทศไม่ใช่ดีแค่กับใครพวกใดพวกหนึ่งเท่านั้น

Back to top button