เปิดสถิติ Window Dressingปีไหน “เจ๊ง” – ปีไหน “เจ๋ง”

ใกล้ถึงวันสิ้นสุดไตรมาส 2 ทีไร นักลงทุนมักคาดหวังการทำ Window Dressing น่าจะเกิดขึ้นทุกที แต่หารู้หรือไม่ว่า สถิติย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลับไม่เป็นเหมือนกับที่จินตนาการกันไว้ ผลตอบแทนที่ได้นั้น “ไม่คุ้มค่ากับการรอคอย...”


ใกล้ถึงวันสิ้นสุดไตรมาส 2 ทีไร นักลงทุนมักคาดหวังการทำ Window Dressing น่าจะเกิดขึ้นทุกที แต่หารู้หรือไม่ว่า สถิติย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลับไม่เป็นเหมือนกับที่จินตนาการกันไว้ ผลตอบแทนที่ได้นั้น “ไม่คุ้มค่ากับการรอคอย…”

ด้วยเหตุนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”  จึงได้ทำการสำรวจข้อมูลย้อนหลังของวันปิดสิ้นงวดในช่วงครึ่งปี (1 ม.ค.-30 มิ.ย.) ตั้งแต่ปี 53-57 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาดว่าจะมีการทำ Window Dressing เพื่อให้นักลงทุนได้เห็นภาพชัดเจนได้ขึ้นว่าปรากฏการณ์นี้ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่

 

จากข้อมูลสถิติที่ได้นำมาวิเคราะห์จะเห็นว่าการเข้าลงทุนหุ้นในช่วงไตรมาส 2 จากการทำ Window Dressing จะให้ผลตอบแทนได้คุ้มค่าที่สุดในช่วง 14 วันก่อนวันปิดสิ้นงวด และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปีที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดคือปี 53 โดยให้ผลตอบแทนที่ 3.8% ขณะที่ปี 56 เป็นเพียงปีเดียวที่ผลตอบแทนติดลบ 5.01% ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ

สำหรับการเข้าลงทุนในช่วง 7 วันก่อนหน้าวันปิดสิ้นงวดนั้น ให้ผลตอบแทนได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยในปี 57 ซึ่งเป็นปีที่ดัชนีปรับตัวขึ้น 23.84 จุด แต่ผลตอบแทนที่ทำได้อยู่แค่ 1.63% เท่านั้น ขณะที่ปีอื่นๆ กลับให้ผลตอบแทนไม่ถึง 1% แถมในบางปียังมีผลตอบแทนติดลบอีกต่างหาก

ขณะที่การเข้าลงทุนในช่วง 1 วันก่อนหน้าวันปิดสิ้นงวดนั้น เป็นการเข้าเก็งกำไรในระยะสั้นเกินไป จึงให้ผลตอบแทนค่อนข้างน้อย โดยในปี 54 ให้ผลตอบแทนสูงสุดแค่ระดับ  0.78% ส่วนในปีอื่นๆ ให้ผลตอบแทนไม่ถึง 0.40% เสียด้วยซ้ำไป

 

ตารางแสดงผลตอบแทนจากการทำ Window Dressing (ณ วันสิ้นงวด 30 มิ.ย.)

table20150625

 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการเก็งกำไรหุ้นในช่วงที่มีการทำ Window Dressing นั้น ให้ผลตอบแทนได้ไม่มากนัก อีกทั้งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของกองทุนในปีนั้นๆ ทำผลงานไว้ได้ดีขนาดไหนด้วย หรือแม้กระทั่งราคาหุ้นในตลาดมีการปรับตัวขึ้นมาแล้ว ก็มักจะไม่มีปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นให้เห็น

ดังนั้น นักลงทุนควรหันมาสนใจหุ้นรายตัวมากกว่าสนใจการเคลื่อนไหวของดัชนี เพราะมีหุ้นหลายตัวที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งรองรับ มีเงินปันผลที่สม่ำเสมอ น่าจะเป็นตัวเลือกลำดับแรกที่นักลงทุนนึกถึง

เนื่องจากวันนี้เราซื้อหุ้น ไม่ได้ซื้อดัชนี!

Back to top button