ตู่ได้ทีแต่ไม่จบง่าย

หลังเหตุการณ์วันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนได้ชัยชนะโดยไม่ต้องลงทุน เพราะความสุ่มเสี่ยงจนพลาดพลั้งของพรรคไทยรักษาชาติ จากการวางหมากของคนที่คุณก็รู้ว่าใคร


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

หลังเหตุการณ์วันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนได้ชัยชนะโดยไม่ต้องลงทุน เพราะความสุ่มเสี่ยงจนพลาดพลั้งของพรรคไทยรักษาชาติ จากการวางหมากของคนที่คุณก็รู้ว่าใคร

อย่างน้อย ผู้คนก็มัวแต่หันไปสนใจทษช. จนลืมวิพากษ์วิจารณ์การที่หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ถือ ม.44 ลงเป็นแคนดิเดตพรรคพลังประชารัฐ อย่างได้เปรียบคนอื่นทุกประตู

เห็นจะมีแต่พรรคอนาคตใหม่ ที่ยืนหยัดเรียกร้องให้ตู่ลาออก พร้อมประกาศจุดยืนเว้นระยะห่างจาก “พรรคทักษิณ”

เหตุการณ์วันศุกร์ ยังทำให้กระแส “เกลียดแม้ว” ทะลักขึ้นมากลบ “ไม่เอาตู่” อย่างน้อยก็ชั่วขณะ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กระแสหลักยังถกกันว่าสมควรให้อำนาจที่อยู่มา 5 ปี ไปต่อหรือไม่

บางคนอาจแย้งว่า ไม่มีผลอะไร เพราะสังคมไทยเลือกข้างไปหมดแล้ว แต่ความเป็นจริงคนตรงกลาง ๆ หรือคนที่ไปข้างหนึ่งข้างใดไม่สุด ก็มีเยอะ ยกตัวอย่าง คนที่เกลียดชัง “ระบอบทักษิณ” แต่เบื่อหน่าย “ระบอบประยุทธ์” ก็ไม่ใช่น้อย คนเหล่านี้ที่กำลังลังเล อาจหวนกลับไปหนุนลุงไว้ก่อน

มองในภาพรวม ก็เป็นอย่างที่ อ.อนุสรณ์ อุณโณ ชี้ว่าพลังอนุรักษนิยมที่หลับใหลและแตกกระจายมา 4-5 ปี ถูกปลุกให้กลับมาเกาะเกี่ยวกันใหม่ เพื่อปกป้อง “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” ไว้ควบคุมอำนาจเลือกตั้ง

หรืออย่างน้อยก็จะมีผลต่อการดึงพรรคร่วมรัฐบาล พรรคที่อ้างว่าไม่ทะเลาะกับใคร หรือพรรคยกก้นตัวเองเป็นก๊กที่สาม หลังเลือกตั้งก็จะมีข้ออ้างเต็มปาก “ไม่เอาระบอบทักษิณ” เข้าร่วมกับตู่ (แม้รู้กันตั้งนานแล้ว แต่ก็อ้างได้เต็มปาก)

กระนั้นนี่ยังเป็นสถานการณ์ชั่วขณะ กว่าจะเลือกตั้งยังเหลือเวลาเดือนครึ่ง ซึ่งสถานการณ์ยังพลิกได้เช่นกัน ข้อแรก ก็ระวังจะเป็นเช่นทุกครั้ง คือเมื่อคิดว่าได้เปรียบ ฝั่งที่บดขยี้ก็จะย่ามใจ ล้ำเส้น จนกระแสตีกลับ เช่นต้านนิรโทษลักหลับ ก็ไปถึงปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้งและทำรัฐประหาร

ครั้งนี้ก็มีแรงยุให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ แถมจะลากไปถึงเพื่อไทย ทั้งที่สิ่งที่สังคมเห็นว่าไม่เหมาะสมนั้น ในทางกฎหมายก็ยังไม่มีใครชี้ชัดว่าผิดหรือไม่ หรือถ้ากรรมการบริหารพรรคผิด แล้วผู้สมัครทั้งพรรค จะไปตัดสิทธิเขาได้อย่างไร เพราะหลายคนไม่เกี่ยวข้องเลย เช่นจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งพูดชัดว่า พรรคเชิญมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่กลับไม่เสนอชื่อ

ข้อสอง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ พรรคอนาคตใหม่ชี้ว่าเป็นความพยายาม Set Zero เปลี่ยนสมการทางการเมือง แม้ไม่สำเร็จ ก็น่าคิดว่า 14 ชั่วโมงนั้นจะส่งผลต่อการเมืองในอนาคตอย่างไร 14 ชั่วโมงไม่ได้เป็นความว่างเปล่า แม้คนทั่วไปยังสับสน มองอะไรไม่ออก แต่ก็เชื่อว่าไม่จบง่าย อย่างที่นักศึกษาธรรมศาสตร์แปรอักษรว่า “คอยดูกันต่อไป”

ข้อสาม การหวนกลับมาเข้มแข็งของพลังอนุรักษนิยม หนุนการสืบทอดระบอบรวมศูนย์อำนาจ จะเพิ่มกระแสต้านเป็นด้านกลับ ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับ “พรรคทักษิณ”

คนจำนวนมากวิตกว่าระบอบนี้จะนำไปสู่วิกฤติ จึงอยากให้ “หาทางลง” ซึ่งหากย้อนมอง 14 ชั่วโมง ของความพยายาม Set Zero แม้ผู้ยึดมั่นหลักการประชาธิปไตยไม่เห็นด้วย แม้กระแสสังคมเห็นว่าล้ำเส้น ไม่สมควร แต่ก็จุดประกายให้คนทั่วไปอยากเห็นการหาจุดลงตัวของทุกฝ่ายด้วยเช่นกัน

นี่จะเป็นแรงกดดันระบอบตู่ในระยะต่อไป

 

Back to top button