อุณหภูมิการเมือง กับคุณตลาด

อุณหภูมิการเมืองไทยเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้ง ไม่ใช่เพราะว่าการแข่งขันชิงอำนาจรัฐในกติการัฐธรรมนูญ 2560 สูสีคู่คี่ แต่เพราะมีคนบางคนพยายามสร้างอภินิหารทางกฎหมายพาการเมืองออกนอกลู่นอกทาง


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล 

อุณหภูมิการเมืองไทยเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้ง ไม่ใช่เพราะว่าการแข่งขันชิงอำนาจรัฐในกติการัฐธรรมนูญ 2560 สูสีคู่คี่ แต่เพราะมีคนบางคนพยายามสร้างอภินิหารทางกฎหมายพาการเมืองออกนอกลู่นอกทาง

ใครที่คิดว่าการเลือกตั้งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการฉุดสังคมไทยให้ขึ้นจากหล่ม ให้ก้าวข้ามความขัดแย้ง คงต้องล้มเลิกความคาดหวังเพราะว่าปรากฏการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ สะท้อนว่าการเลือกตั้งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเกมแย่งอำนาจ

ที่สำคัญผู้เล่นคนสำคัญในเกมนี้ ยังคงเป็น “ผีทักษิณ” ที่ยังวนเวียนหลอกหลอนไม่สร่างซา                                                   

ปฏิกิริยาของตลาดหุ้นวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ติดลบไปถึงเกือบ 14 จุด สะท้อนอารมณ์ของ “คุณตลาด” ต่อความไม่แน่นอนทางการเมือง หลายคนเกินเลยไปถึงมุมมองว่าอาจจะไม่มีการเลือกตั้ง หรือหากจะมีก็เป็นแค่ปาหี่บนย่างก้าวใต้เงาเผด็จการอำนาจนิยม

เบื้องหลังปฏิกิริยาสุดขั้วของมุมมองที่อาจจะถูกหรือผิดยังไม่ชัดเจน เพราะมีคนจำนวนน้อยลงที่เชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างยุติธรรม-โปร่งใส เนื่องจากสิ่งบ่งชี้ระบุว่า จะเกิดได้ แต่จะไม่ใช่การเลือกตั้งครั้งนี้

ปรากฏการณ์ตลาดหุ้นมีดัชนีติดลบ ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่า และนักลงทุนต่างชาติพลิกขายในทุกตลาดเก็งกำไรของไทย บ่งบอกความกังวลจากความไม่แน่นอน เพราะยามนี้ ยากจะบอกได้ชัดเจนว่า สิ่งที่ผีทักษิณกำลังดิ้นรนต่อสู้ชนิด “สู้ไป-กราบไป-โดนหลอกไป” มีเป้าหมายชัดเจนอะไรกันแน่นอนจากการเดินหมากผิดครั้งแล้วครั้งเล่า

ที่ผ่านมาแม้การเดินเกมทางการเมืองของ ผีทักษิณ จะพยายามให้เป็นแบบ “หลายชั้น” โดยที่มักจะมีมุมมองในเกมการเมืองสองสามชั้นเสมอ ๆ และเหนือกว่าใคร ๆ อย่างเห็นได้ชัด แต่จุดจบมักจะตกม้าตายเสมอ

ครั้งนี้ก็เช่นกัน การแตกพรรคเป็นหลายพรรคตามสูตร “แตกแบงก์พัน” จนถึงปรากฏการณ์เปลี่ยนชื่อของผู้สมัคร ส.ส.หลายคน เพื่อหวังผลทางการเมือง หลบเลี่ยงเกณฑ์การหาเสียงเลือกตั้งคราวนี้ ข้อหนึ่งที่ระบุว่า ห้ามใช้รูปบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัครส.ส.เขต หัวหน้าพรรค หรือว่าที่นายกฯ ในการหาเสียง ไม่ว่าจะเป็น ป้าย คัตเอาต์ หรือรถแห่เด็ดขาด เงื่อนไขข้อนี้แหละที่ “ทักษิณ” แก้ด้วยวิธีที่ใคร ๆ ก็คาดไม่ถึง

ล่าสุด เกมเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นคู่แข่งนายกรัฐมนตรี จนนำไปสู่สถานการณ์ให้ต้องมีพระบรมราชโองการจากสำนักพระราชวัง และมีผลข้างคียงตามมา ในรูปข่าวลือว่า 1)อาจมีการยุบพรรคการเมืองบางพรรค 2) การทำรัฐประหาร และ 3) ไม่มีการเลือกตั้ง ก็สะท้อนชัดเจนว่า อิทธิฤทธิ์ของผีทักษิณยังมากเกินระดับธรรมดา

ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนนี้ นอกจากตอกย้ำว่า ผีทักษิณมีคุณสมบัติพิเศษชนิด “หมอผีระอา” จากอุปนิสัยไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ใด ๆ พร้อมจะทำการเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายเสมอ สปอตไลต์ต้องสาดส่อง ชื่อต้องไม่หายไปจากหน้าสื่อ เพื่อให้ทุกการจดจำยังคงอยู่ไปยาวนาน

น่าเสียดายที่ผีทักษิณ น่าจะใช้ความชาญฉลาดเหล่านี้ในทางสร้างสรรค์ ไม่ใช่เพื่อทำลายล้างเช่นนี้

14 ปีที่สูญเปล่าไปกับการต่อสู้แย่งอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำไทย ท่ามกลางโจทย์ใหญ่ที่ถูกมองข้ามโดยเฉพาะ “กับดักชาติรายได้ปานกลาง” ที่ไทยยังไม่อาจก้าวข้ามไปได้ เพราะอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจไทยนับแต่วิกฤติต้มยำกุ้งมีน้อยปีมากที่สามารถเติบโตได้เกิน 5% ต่อปี จนล่าสุดในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา เติบโตเป็นอันดับรองบ๊วย คืออันดับที่ 8 จาก 10 ประเทศอาเซียน ที่อันตรายกว่านั้นก็คือ IMF ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยไว้แล้วว่า ในช่วงปี 2562-2566 เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการเจริญเติบโตตกต่ำลงมาเป็นอันดับที่ 9 ชนะเพียงสิงคโปร์เท่านั้น แสดงว่าทางราชการไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจชาติ และยังจมปลักในกับดักชาติรายได้ปานกลางต่อไป

ร้ายกว่านั้น ช่องว่างความเหลื่อมล้ำแบบ “รวยกระจุก จนกระจาย” ที่นับวันรุนแรงยิ่งขึ้น

ทำให้วัฏจักรของการกดขี่หลากรูปแบบรอวันปะทุในอนาคตข้างหน้า

ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทำให้คนหันไปย้อนรอยคำพูดเก่าแก่ของ วอลแตร์ ที่ว่า จงตัดสินคนจากคำถามของเขา อย่าตัดสินเขาจากคำตอบ

ที่สำคัญหากคนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะสมาชิกชนชั้นนำในสังคมไทย ยังยึดกุมปรัชญาของเฮเกล ว่าด้วย “นายกับบ่าว” อันอื้อฉาวของเขา (ที่ทำลายล้างข้อเสนอของรุสโซสุดขั้ว) ก็ยิ่งมีคำถามเพิ่มเติมว่า การกดขี่เป็นสภาวะธรรมชาติของมนุษย์ หรือเป็นเจตจำนงสามานย์ของคนบางกลุ่มกันแน่

คำถามนี้ นักลงทุนในตลาดหรือ คุณตลาด จะมองข้าม คงไม่ได้อีกแล้ว เพราะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

 

Back to top button