พาราสาวะถี

พูดแล้วฟังดูเหมือนดีแต่พอเห็นประโยคท้ายก็ไม่ได้แตกต่างจากนักการเมืองทั่วไปแต่อย่างใด สำหรับถ้อยแถลงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตอบคำถามสื่อหลังประชุมครม.เมื่อวันอังคาร อะไรที่จบแล้วก็ขอให้จบกันไป อย่าให้มีปัญหาต่อไปอีก แต่วันนี้ก็ยังไม่พ้น เพราะยังมีคนโพสต์เรื่องต่าง ๆ ในโซเชียล เราต้องลดความขัดแย้งให้ได้มากที่สุด


อรชุน

พูดแล้วฟังดูเหมือนดีแต่พอเห็นประโยคท้ายก็ไม่ได้แตกต่างจากนักการเมืองทั่วไปแต่อย่างใด สำหรับถ้อยแถลงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตอบคำถามสื่อหลังประชุมครม.เมื่อวันอังคาร อะไรที่จบแล้วก็ขอให้จบกันไป อย่าให้มีปัญหาต่อไปอีก แต่วันนี้ก็ยังไม่พ้น เพราะยังมีคนโพสต์เรื่องต่าง ๆ ในโซเชียล เราต้องลดความขัดแย้งให้ได้มากที่สุด

ฝากขอบคุณสื่อมวลชนทุกสำนักด้วย ขอให้มีการปรับตัว ตนเองก็ปรับตัวด้วย นักการเมืองและพรรคการเมืองทุกพรรคก็ต้องปรับตัว ไม่ได้บอกว่าใครทำดีทำเลว แต่เราต้องปรับตัวเพื่อให้ประเทศเดินหน้าด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องขอร้องทุกคน ท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นการหาเสียงด้วยสโลแกนของตัวเองที่สร้างขึ้นมานับตั้งแต่การยึดอำนาจ

ทั้ง ๆ ที่มีคำถามตัวโต ในเมื่อคนจนจะอดตายกันอยู่แล้ว มันจะมั่นคง มั่งคั่งได้อย่างไร ไม่ต้องมองไปถึงความยั่งยืน เอาแค่ให้ลืมตาอ้าปากได้ก็พอแล้ว แต่หากเข้าใจว่าวันนี้ผู้นำเผด็จการก็คือนักการเมืองคนหนึ่ง และเป็นอีกหนึ่งแคนดิเดตนายกฯที่จะขอกลับมาสืบทอดอำนาจ ก็คงจะพอหลับหูหลับตาให้อภัยได้ ถ้าจะมีการขายของพ่วงท้ายในการใช้เวลาราชการแถลงงานของรัฐบาลบ้าง

คงไม่ต้องไปเรียกร้องให้ลาออก คงไม่ต้องอธิบายว่ามีความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไรในทางการเมือง ในเมื่อเขาหน้าทนกันมาขนาดนี้ ยกเอาข้อกฎหมายทั้งที่เป็นกฎหมายทั่วไปและอำนาจของเผด็จการมาสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง ทุกอย่างรอไปชี้ชัดกันในวันที่ 24 มีนาคมนี้หากยังมีการเลือกตั้งอยู่ (เชื่อแน่ว่าคนจำนวนไม่น้อยจนถึงนาทีนี้ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะได้เลือกตั้ง)

สถานการณ์ทางการเมืองที่สุดท้ายไม่อาจจะทำให้อยู่ในภาวะสงบราบคาบได้ก่อนเลือกตั้ง แต่กลับเป็นภาวะจำยอมด้วยแรงบีบคั้นหลายประการ ที่จำเป็นต้องเดินหน้าไปสู่การหย่อนบัตรของประชาชน บนคำถามที่ว่า รายทางกระบวนการการแข่งขันจะเป็นไปด้วยความเป็นธรรม เสรีและโปร่งใสหรือไม่ ซึ่งก็ยังเป็นเครื่องหมายคำถามที่ไร้คำตอบอยู่ดี

แต่คำสั่งปิดวอยซ์ ทีวี เป็นเวลา 15 วันของกสทช.ล่าสุด น่าจะเป็นภาพสะท้อนของข้อกังขาทั้งหมดได้เป็นอย่างดี สิ่งที่หลายคนสงสัยก็คือ มีแต่ทีวีช่องนี้ที่วิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมืองและผู้มีอำนาจที่ส่อให้เห็นว่าเป็นการวิจารณ์ข้างเดียว พุ่งเป้าไปที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างนั้นหรือ เปล่าเลยมีอีกหลายช่องโดยเฉพาะพวกที่อุ้มสมเผด็จการ การนำเสนอเนื้อหานั้นชัดเสียยิ่งกว่าชัดว่า มุ่งทำลายล้างพวกหนึ่งพวกใดเป็นการเฉพาะ

ทำไมผู้คุ้มกฎถึงมองไม่เห็น หรือด้วยข้ออ้างที่ว่าไม่มีใครร้องเรียน ซึ่งก็น่าแปลกที่เวลาผู้ถูกสั่งปิดถามว่าแล้วใครร้องก็จะมีอาการแถไถกันไปสารพัด นี่คือตัวอย่างของการเลือกปฏิบัติได้เป็นอย่างดี คนที่จะอธิบายกระบวนการทำงานที่กลางกะเท่เร่นี้ได้เป็นอย่างดีก็คือ สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกสทช.ผู้หญิงที่มีสปิริตสูงส่งกว่าผู้ชายบางคนที่ได้ชื่อว่าเป็นอดีตนายทหารใหญ่เสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่เหมือนกันต่อการดำเนินการกับสื่อในช่วงที่มีการเลือกตั้ง เชื่อว่ากรณีของวอยซ์ ทีวี ไม่น่าจะเป็นรายแรกและรายเดียว ที่อยู่ในข่ายจะถูกสั่งปิดตามมาเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นทีวีเสื้อแดงอย่างพีซ ทีวี โดยเหตุผลหรือคำอธิบายจากฝ่ายกำกับดูแล ก็ไม่มีอะไรมากมีเนื้อหาที่เข้าข่ายยุยง ปลุกปั่น และได้รับการร้องเรียนจึงเห็นสมควรให้ระงับการออกอากาศไว้เป็นการชั่วคราว

กรณีที่เกิดขึ้นหากเป็นภาวะปกติทั่วไปคงไม่เป็นปัญหา แต่ในยามที่ประเทศกำลังจะมีเลือกตั้งคงต้องตั้งคำถามไปยังองค์กรวิชาชีพสื่อทั้งหลายว่า มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องเคลื่อนไหวกันอย่างเป็นจริงเป็นจังเพื่อปลดแอกผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการจนทำให้กระบวนการทำงานในวิชาชีพเสียหาย

ต้องไม่ลืมว่า คำสั่งคณะเผด็จการที่ใช้บังคับสื่อนั้นยังคงมีอยู่ 2 ฉบับได้แก่ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 97/2557 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 103/2557 โดยคำสั่งแรก ห้ามบุคคลและสื่อทุกประเภทสัมภาษณ์นักวิชาการ อดีตข้าราชการและองค์กรอิสระ ในลักษณะที่อาจขยายความขัดแย้งหรือนำไปสู่ความรุนแรง และห้ามการวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคสช. เจ้าหน้าที่ของคสช. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง หากฝ่าฝืนให้ระงับการเผยแพร่ทันทีและให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดความผิดฐานนั้นดำเนินการตามกฎหมาย

ขณะที่คำสั่งที่ 103/2557 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับที่ 97 ให้สื่อวิจารณ์การทำงานของคสช.ได้บ้าง แต่ห้ามวิจารณ์โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ หากฝ่าฝืนจะส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพสอบสวนทางจริยธรรม ซึ่งเมื่อมีกระบวนการที่ต้องใช้การตีความเข้ามาเกี่ยวข้อง ย่อมเป็นเรื่องง่ายที่ผู้มีอำนาจจะสั่งการหรือแทรกแซงได้

ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจต่อการรับใช้อำนาจเผด็จการคสช. จึงมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ที่ให้อำนาจกสทช.ตัดสินและกำหนดกับสื่อมวลชนโดยเว้นโทษความผิดแพ่งและอาญาต่อคณะทำงาน นั่นหมายความว่า กสทช. สามารถออกคำสั่งควบคุมสื่อได้โดยไม่ต้องรับผิด นี่จึงเป็นความมั่นใจที่ทำให้องค์กรแห่งนี้ไม่อินังขังขอบต่อเสียงวิจารณ์ที่ว่ารับใช้ผู้มีอำนาจผ่านกฎหมายเผด็จการ โดยไม่สนใจว่าตัวเองมีกฎหมายเฉพาะขององค์กรอยู่

คงต้องยอมรับความเป็นจริงกันว่า ยุคสมัยที่มีการสร้างอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบครบวงจร โดยมีพวกต้นทุนทางสังคมสูงก้มหัวให้เผด็จการกดขี่ เป็นเรื่องยากที่สื่อจะมาเรียกร้องถามหาสิทธิและเสรีภาพ ยิ่งได้ฟังผู้นำเผด็จการสั่งการหน่วยงานต่างจังหวัดห้ามหอกระจายข่าวทั่วประเทศกว่า 7 หมื่นแห่งใช้การไม่ได้ (อย่าให้เสีย) ยิ่งทำให้เห็นถึงความพยายามในการที่จะทำสงครามข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ประชาชนเชื่อและคิดเห็นไปในทางเดียวกันทั้งหมด

ในบริบทที่อ้างว่าประเทศกำลังจะเป็นประชาธิปไตย แต่วิธีการของทั้งฝ่ายกุมอำนาจและองคาพยพโคตรเผด็จการ มันจึงชวนให้สงสัยกันต่อไปว่าแล้วหลังการเลือกตั้งสถานการณ์ของบ้านเมืองว่าด้วยการยอมรับเพื่อสร้างความเชื่อมั่นมันจะเกิดขึ้นอย่างนั้นหรือ คนทั่วไปตอบได้ว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าถามฝ่ายเผด็จการก็จะได้รับคำตอบอย่างเดียวว่าทุกอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แน่นอน

Back to top button