จัดกลยุทธ์ลงทุน! รับค่าเงินบาทแข็ง ชู 17 หุ้นเด่นรับอานิสงส์เต็ม-แนะเลี่ยงกลุ่มส่งออก

จัดกลยุทธ์ลงทุน! รับค่าเงินบาทแข็ง ชู 17 หุ้นเด่นรับอานิสงส์เต็ม-แนะเลี่ยงกลุ่มส่งออก


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”ทำการสำรวจและรวบรวมกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่ามานำเสนอ เนื่องจากช่วงนี้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าในรอบ 5 ปี โดยครั้งนี้อาศัยบทวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย,บล.ทิสโก้,บล.เคทีบี(ประเทศไทย) และ บล.กสิกรไทย มาประกอบการข้อมูลลงทุน ตามบทวิเคราะห์ระบุไว้ดังนี้

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเมื่อวันที่ 20 ก.พ.62 ว่า เงินบาทแข็งค่าทะลุแนว 31.10 ไปที่ระดับ 31.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งนับเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 5 ปี โดยทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท ยังคงสอดคล้องกับการแข็งค่าของเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค

ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขายเพิ่มเติม ท่ามกลางความคาดหวังมากขึ้นว่า การเจรจาเพื่อลดข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน  น่าจะมีสัญญาณที่โน้มเอียงไปในทางที่ดีขึ้น โดยการลดความกังวลของนักลงทุน ทำให้ความต้องการสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น เงินดอลลาร์ฯ และเงินเยน ลดลงตามไปด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้นักลงทุนต่างชาติจะมีสถานะขายสุทธิทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย รวมกันประมาณ 20.4 พันล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปี 2562 (ซึ่งแตกต่างจากภาพของช่วงเดียวกันในปี 2561) แต่เงินบาทก็ยังมีทิศทางแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ และเมื่อเทียบกับระดับปิดสิ้นปี 2561 แล้ว เงินบาทยังแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ

โดยเฉพาะเงินหยวนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยโดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 4.7% เป็นอันดับที่หนึ่งของสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่ เงินหยวนแข็งค่า 2.2% ตามมาเป็นอันดับที่ 3 (รองจากเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่แข็งค่าขึ้นประมาณ 3.7%)

แม้การแข็งค่าของค่าเงินบาทและการส่งออกไทยอาจจะมีความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่สูงนักในบางช่วงเวลาและค่าเงินอาจจะไม่ใช่เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่มีผลต่อภาคการส่งออก แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินของประเทศที่เป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งของไทย (โดยเฉพาะ จีน และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน) น่าจะเพิ่มแรงกดดัน และมีผลกระทบต่อเนื่องต่อธุรกิจในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว

เพราะนอกจากการแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าว จะลดทอนแต้มต่อของความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคา และทำให้รายรับของภาคการส่งออกที่แปลงกลับมาเป็นเงินบาทลดลงแล้ว และยังเป็นการแข็งค่าในจังหวะที่ภาคต่างประเทศของไทยต้องรับมือกับปัจจัยท้าทายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวโน้มการชะลอตัวของปริมาณการค้าและเศรษฐกิจโลก

ในระยะข้างหน้าปัจจัยสำคัญในระยะสั้นที่อาจมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาท ประกอบด้วย ผลการเจรจาเพื่อลดข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สัญญาณดอกเบี้ยจากการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รอบวันที่ 19-20 มี.ค. 2562  และประเด็นความเสี่ยงอื่นๆ อาทิ สถานการณ์ BREXIT ของอังกฤษ

กราฟแสดงทิศทางค่าเงินบาท

 

บล.ทิสโก้ ระบุว่า เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องและกำลังทดสอบระดับ 31 บ./$ ซึ่งเป็นการแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 6 ปี คาดจะเป็นผลดีต่อกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า และหุ้นได้ประโยชน์บาทแข็งค่า อาทิ  COM7, SYNEX, TOA, TVO ขณะที่หลีกเลี่ยงหุ้นส่งออกไปก่อน

 

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า Strategy Stock Pick เก็งกำไรหุ้นได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง: PTT EGCO TOP GULF THAI BJC TPIPL และ IVL โดยบริษัทที่มีหนี้ต่างประเทศเป็นดอลลาร์สหรัฐสูงอย่างบริษัทในกลุ่มปตท. EGCO* THAI* GULF BJC TPIPL และ IVLและบริษัทที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าจากค่าประเทศอย่าง กลุ่มสายการบิน (THAI* AAV BA) TVO SYNEX และ TOA*ขณะที่บริษัทที่จะได้รับผลกระทบในเชิงลบได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มส่งออก

 

บล.กสิกรไทย ระบุว่า รายงานการประชุมของกนง.ระบุว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังคงมีความจำเป็นอยู่เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในหลายๆด้าน โดยการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่ง KS research คาดการขึ้นดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วงปลายปีนี้

ด้านค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนตัวของ dollar index เป็นผลมาจากทิศทางด้านนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทยที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทำให้นักลงทุนสลับการลงทุนจากสกุลเงินดอลลาร์ไปยังสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ทองคำ และสินทรัพย์เสี่ยง

นอกจากนี้หากการเจรจาข้อพิพาทการค้าเป็นไปในทางบวกจะยิ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้นักลงทุนออกจากสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างสกุลเงินดอลลาร์ซึ่งจะกดดันให้ dollar index อ่อนตัวลงและจะส่งผลให้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น โดยมอง SET Index มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น เพิ่มการลงทุนในกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า

กลยุทธ์การลงทุนน่าทยอยสะสม

1.กลุ่มเก็งกำไรผลประกอบการโดยคัดกรองหุ้นที่ผลประกอบการเติบโต เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ เทียบไตรมาสก่อนหน้า และยังมี upside ได้แก่ BJC CPALL COM7ROBINS BANPU MTC SAWAD AMATA PSH SIRI SPALI MEGA ERW AOT* LPN* GLOBAL* SC* (*ประกาศงบออกมาแล้ว)

2.กลุ่มหุ้นที่มีเงินปันผลสูงกว่า 4% TISCO HANA SPRC ADVANC PTT LPN

3.กลุ่มได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็งค่า BGRIM PTTEP STEC AMATA WHA 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button