เครดิตสหรัฐฯ ที่ขอบเหว

โดนัลด์ ทรัมป์กับพวก ยังคงเดินหน้าไม่ยี่หระกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และเลือกที่จะหลอกคนอเมริกันที่เอียงขวาจนหน้ามืดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในยุคของเขาเติบโตดีที่สุดในรอบทศวรรษ แต่นั่นก็ไม่อาจหลอกได้นาน เพราะแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตเร็วกว่าที่เคยเป็นจริง แต่ตัวเลขขาดดุลงบประมาณก็เพิ่มขึ้นอีก 17% เป็น 779,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2012 ก็ส่งสัญญาณเลวร้ายมาให้เห็น


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล 

โดนัลด์ ทรัมป์กับพวก ยังคงเดินหน้าไม่ยี่หระกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และเลือกที่จะหลอกคนอเมริกันที่เอียงขวาจนหน้ามืดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในยุคของเขาเติบโตดีที่สุดในรอบทศวรรษ แต่นั่นก็ไม่อาจหลอกได้นาน เพราะแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตเร็วกว่าที่เคยเป็นจริง แต่ตัวเลขขาดดุลงบประมาณก็เพิ่มขึ้นอีก 17% เป็น 779,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2012 ก็ส่งสัญญาณเลวร้ายมาให้เห็น

ล่าสุดสัปดาห์นี้ ตัวเลขหนี้สินของสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ 22 ล้านล้านดอลลาร์ แซงหน้าตัวเลขจีดีพีที่คาดว่าจะต่ำกว่า 20 ล้านล้านดอลลาร์เรียบร้อย  ในขณะที่พรรครีพับลิกันซึ่งมักจะประท้วงเรื่องปัญหาหนี้สินและตัวเลขขาดดุลงบประมาณกลับยังทำเป็นนิ่งเฉย

ตอนที่ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ หนี้สินซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ยืมมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณเรื้อรังและดอกเบี้ยที่พอกพูนขึ้นอยู่ที่ราว ๆ 19.95 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐฯ มีหนี้สาธารณะเทียบเท่ากับจีดีพี

ระดับหนี้สาธารณะที่สูงเกิน 100% ของจีดีพี ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นห่วงโซ่ เฟดตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ “ระหว่างเขาควาย” เพราะด้านหนึ่งถูก “ขึงพืด” จำกัดขีดความสามารถในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะจะทำให้ต้นทุนการเงินและภาระหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก แต่อีกด้านหนึ่งก็จำต้องสู้กับเงินเฟ้อที่ตั้งเค้ามาจากผลพวงของสงครามการค้าโดยเฉพาะกับจีน ในขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่ำมาก ๆ ต่ำกว่าไทยด้วยซ้ำ

ตัวเลขดังกล่าว ทำให้คนเริ่มคิดถึงคำเตือนเมื่อปลายเดือนมกราคมของนางเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานเฟดที่บอกสั้น ๆ ว่า “ถ้าดิฉันมีไม้กายสิทธิ์ ก็จะทำการขึ้นภาษี และลดการใช้จ่ายของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวกับเงินบำเหน็จบำนาญ”

ปัญหาหนี้รัฐบาลที่สะท้อนการคลังย่ำแย่ โยงกับตัวเลขขาดดุลงบประมาณอย่างแยกไม่ออก 

ตัวเลขล่าสุดของปีงบประมาณระบุว่า สหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณ 7.79 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 17% จากปีที่แล้ว โดยมีสาเหตุจากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% ก่อนหน้านี้ ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มจากปีก่อน 3.0 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้รายจ่ายพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี แต่รายได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งผิดคาดมาก จากเดิมที่เชื่อกันว่าการลดภาษี จะย้อนกลับมาทำให้รายได้ภาษีเพิ่มขึ้นตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่เน้น “ใช้อุปทานสร้างอุปสงค์” ที่เคยใช้ได้ผลในยุคโรนัลด์ เรแกน เมื่อกว่า 30 ปีก่อน

นางเยลเลน เตือนว่า ปัญหาหนี้ของรัฐบาลจะมีความรุนแรงและจะระบาดหนักในช่วงที่คนเกิดยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงวัยเกษียณพอดี ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีรายจ่ายเกี่ยวกับเงินบำเหน็จบำนาญและค่ารักษาพยาบาลมากมาย

ก่อนหน้านี้ นางเยลเลน ได้เคยออกมาเตือนถึงความเสี่ยงที่เป็นผลมาจากความหละหลวมของมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อในตลาด ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขหนี้สินภาคเอกชนในปัจจุบันของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์

นางเยลเลน ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนลเชียล ไทมส์ ของอังกฤษว่า “รู้สึกกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในเชิงระบบที่เป็นผลมาจากเงินกู้เหล่านั้น เพราะมาตรฐานการปล่อยเงินกู้หละหลวมลงไปมาก ในขณะที่กฎระเบียบการปล่อยสินเชื่อก็ผ่อนคลายลง”

การขาดดุลงบประมาณที่เชื่อมโยงต่อถึงยอดหนี้สาธารณะสหรัฐฯ มีเค้าลางมาตั้งแต่ต้นปีนี้แล้ว หากมองข้อมูลเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ หนี้สาธารณะสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากถึง 2.15 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่าตัวเลขจีดีพีทั้งปีของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งตัวเลขดังกล่าว จะถูกแซงในจำนวนสะสมขึ้นเรื่อย

มองไปในอนาคต ตัวเลขคาดการณ์ล่วงหน้าของสำนักงานกรรมาธิการงบประมาณของรัฐสภา (CBO-Congressional Budget Office) ล่าสุดระบุว่า ยอดขาดดุลงบประมาณล่าสุดที่เป็นสถิติใหม่สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา 8.04 แสนล้านดอลลาร์ (จากประมาณการเมื่อเดือนมิถุนายนที่ 5.63 แสนล้านดอลลาร์) นั้นยังต่ำไป ในอนาคตสิ้นปี ค.ศ. 2020 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า จะเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์

สำนักงบประมาณแห่งสภาคองเกรส (CBO) คาดการณ์ว่า ตัวเลขดังกล่าวจะพอกพูนขึ้นจนถึงระดับ 900,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

ยอดสะสมหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ มีความหมายมากกว่าปกติตรงที่ว่า อัตราการเติบโตของหนี้ได้แซงหน้าอัตราการเติบโตของจีดีพีในแต่ละปีมากขึ้นต่อเนื่องเป็นลูกโซ่

หากนำข้อมูลในสิ้นปีที่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เกิดขึ้น ค.ศ. 2008 มาเทียบตัวเลขข้างต้น จะยิ่งสยดสยองมากขึ้น เพราะในปีนั้น สหรัฐฯ มีขนาดจีดีพีที่ระดับ 14.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มียอดหนี้สาธารณะต่ำกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยอดหนี้ที่ระดับ 22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยืนยันว่าภายใน 10 ปีมานี้ อัตราเติบโตของหนี้สาธารณะสูงมากถึง 123% โดยมีขนาดคิดเป็น 106% ของจีดีพี ส่งผลให้ต้องทำงบประมาณขาดดุล

สหรัฐฯ เคยทำงบประมาณเกินดุลได้อยู่ 4 ปีในยุคของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งเศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟูสุดขีด ก่อนที่จะบัญชีงบดุลจะกลับมาติดลบตัวแดงอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช นำกองทัพสหรัฐฯ บุกอิรัก นโยบายลดภาษีที่ ทรัมป์ ประกาศใช้เมื่อปลายปี 2017 รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณสูงขึ้น โดยเฉพาะในด้านกลาโหม ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้สหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตที่สุดในโลกต้องเผชิญปัญหาขาดดุลงบประมาณมากขึ้น

ดูเหมือนคำเตือนทั้งหลายจะไม่เข้าหูทรัมป์เอาเลย ล่าสุดทรัมป์ ให้สัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “ถ้าเราไม่มีกองทัพที่เข้มแข็ง คุณก็อย่ามัวห่วงเรื่องหนี้สินเลย เพราะคุณจะเจอปัญหาที่ใหญ่ยิ่งกว่านั้นอีก และเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ก็พยายามโต้แย้งว่า มาตรการลดภาษีซึ่งคาดว่าจะทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะ 10 ปี จะไปให้ผลชดเชยในแง่ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็จะช่วยให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นตามไปด้วย

ข้อเท็จจริงชี้ว่า คำโต้แย้งเป็นแค่ลมปาก ปีที่ผ่านมา อัตราเติบโตของจีดีพีสหรัฐฯ ก่อนหักด้วยเงินเฟ้อ อยู่ที่ระดับ 4.4% (ถ้าหักด้วยเงินเฟ้อแล้วจะมีอัตราการเติบโตเพียงแค่ 2.5% เท่านั้น) แต่ตัวเลขอัตราเติบโตของหนี้สาธารณะกลับเพิ่มขึ้นถึง 6% หากนำมาคำนวณเทียบกัน จะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตของหนี้สาธารณะมากกว่าจีดีพีถึง 36%

จากการฉายภาพอนาคต CBO ระบุว่า งบประมาณปีหน้าคาดว่าจะติดลบ หรือขาดดุลประมาณ 9.81 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าภายใน 11 ปีข้างหน้าตัวเลขขาดดุลงบประมาณจะพอกพูนไปที่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ แต่นักลงทุนส่วนหนึ่งเชื่อว่าน่าจะมากกว่า เพาะรายได้จากภาษีที่ลดลงจากผลพวงของสงครามการค้า

ข้อเท็จจริงดังกล่าว บ่งบอกว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่งเริ่มต้นครั้งใหม่เท่านั้น เพราะหนี้สาธารณะจะทะลุเพดานขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามการขาดดุลงบประมาณ พร้อมกับคำถามเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น (โดยไม่ต้องขึ้นภาษี) ว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้ซ้ำรอยแบบที่เคยเกิดกับเมืองดีทรอยต์เมื่อหลายปีก่อน

ที่สำคัญการที่รัฐบาลมีหนี้เพิ่มขึ้น ต้องออกพันธบัตรมาดูดซับเงินจากตลาดทวีคูณ ทำให้เฟดลำบากในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะถ้าขึ้นดอกเบี้ย จะเป็นภาระต่อรัฐบาลในการชำระคืนหนี้ แต่จะลดก็ยากเพราะรัฐบาลอเมริกันต้องออกพันธบัตรมาแย่งทุนเอกชนมากขึ้น

ข้อมูลระบุว่า  รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องจ่ายดอกเบี้ยหนี้สาธารณะในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้วเพิ่มขึ้นจากช่วง 1 ปีก่อนหน้าถึง 13,000 ล้านดอลลาร์

ภาวะเช่นนี้ จะดำรงอยู่อีกนานเท่าใด 

คำตอบอยู่ที่โดนัลด์ ทรัมป์ คนเดียว

Back to top button