สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวานนี้

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 28 ก.พ.62


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (27 ก.พ.) หลังจากนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ ส่งสัญญาณว่า สหรัฐและจีนยังไม่มีแนวโน้มที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าในเร็วๆนี้ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของข้อตกลงการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันนักลงทุนซึมซับถ้อยแถลงในวันที่สองของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งยังคงย้ำว่า เฟดจะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และวางแผนที่จะยุติการปรับลดงบดุลในปีนี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,985.16 จุด ลดลง 72.82 จุด หรือ -0.28% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,792.38 จุด ลดลง 1.52 จุด หรือ -0.05% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,554.51 จุด เพิ่มขึ้น 5.21 จุด, +0.07%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (27 ก.พ.)  เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถาน ขณะที่จับตาการประชุมซัมมิตรอบสองระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่เปิดฉากขึ้นแล้วเมื่อวานนี้ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

ดัชนี Stoxx Europe ลบ 0.28% ปิดที่ 372.58 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,225.35 จุด ลดลง 13.36 จุด หรือ -0.26% และ ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,487.33 จุด ลดลง 53.46 จุด หรือ -0.46% ขณะที่ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,107.20 จุด ลดลง 43.92 จุด หรือ -0.61%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบเมื่อคืนนี้ (27 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทนุวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองระหว่างอินเดียและปากีสถาน และการแข็งค่าของเงินปอนด์กดดันหุ้นกลุ่มส่งออกด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,107.20 จุด ลดลง 43.92 จุด หรือ -0.61%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (27 ก.พ.) หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐร่วงลงอย่างหนักในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่ซาอุดีอาระเบียยืนยันที่จะเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิต แม้เผชิญแรงกดดันจากสหรัฐก็ตาม

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 1.44 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 56.94 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.18 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 66.39 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 คืนนี้ (27 ก.พ.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาความคืบหน้าในการทำข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งการประชุมสุดยอดครั้งที่สองระหว่างผู้นำสหรัฐและเกาหลีเหนือซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศเวียดนามในขณะนี้

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 7.30 ดอลลาร์ หรือ 0.55% ปิดที่ 1,321.20 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 16 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 15.766 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 9.50 ดอลลาร์ หรือ 1.1% ปิดที่ 869.90 ดอลลาร์/อนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ดิ่งลง 42.50 ดอลลาร์ หรือ 2.8% ปิดที่ 1,477.20 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 ก.พ.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เน้นย้ำในระหว่างการแถลงต่อสภาคองเกรสเป็นวันที่สองว่า เฟดจะยุติการปรับลดงบดุลภายในปีนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.03 เยน จากระดับ 110.52 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0010 ฟรังก์ จากระดับ 0.9990 ฟรังก์ อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3148 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3167 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1370 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1396 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3308 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3273 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7140 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7193 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button