กรณีหุ้น JMART

เมื่อวานนี้ราคาหุ้น “เจ มาร์ท”  JMART ปรับลงแล้ว


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร 

เมื่อวานนี้ราคาหุ้น “เจ มาร์ท”  JMART ปรับลงแล้ว

ปิดลบ 0.15 บาท มาที่ 7.25 บาท (-2.03%)

จากหลายวันก่อนหน้านี้ราคาวิ่งขึ้นมาโดยตลอด หรือนับจากก่อนประกาศผลประกอบการ และเลยมาหลังแจ้งผลประกอบการไตรมาส 4/2561 และของปี 2561

อย่างที่รับรู้กันไปแล้ว เจ มาร์ท ผลประกอบการออกมาไม่ดีนัก

ปี 2561 ขาดทุนสุทธิไป 277 ล้านบาท

ต่างจากปี 2560 ที่มีกำไร  490 ล้านบาท

ปี 2559 กำไรสุทธิ 438 ล้านบาท

และปี 2558 กำไรสุทธิ 322 ล้านบาท

มีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับ เจ มาร์ท และทำไมราคาหุ้นถึงวิ่งขึ้นสวนกับทิศทางผลประกอบการ

ราคาหุ้น เจ มาร์ท  ณ วันที่ 26 ก.พ. ปิด 5.75 บาท แต่เมื่อแจ้งผลประกอบการปี 2561 วันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลับพลิกบวก 0.55 บาท มาที่ 6.30 บาท

หลังจากนั้น ราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาทุกวัน หรือ 5 วันทำการ (ถึงวันที่ 5 มี.ค.) ราคาหุ้นบวกขึ้นมากว่า 28–29%

ราคาหุ้นวิ่งสวนผลประกอบการแบบนี้ ย่อมเกิดปุจฉา หรือคำถามจากนักลงทุนแน่นอนครับ

ปัจจุบัน เจ มาร์ท มีสถานะเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี (Holding Company)

เจ มาร์ท เข้าไปถือหุ้นยังบริษัทต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น เจมาร์ท โมบาย, เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT), เจเอเอส แอสเซ็ท, เจฟินเทค, เจ แคปปิตอล , ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER), JP Insurance ฯลฯ

แต่รายได้หลัก ๆ ของ เจ มาร์ท กว่า 65% มาจาก เจเอ็มทีฯ

รองลงมาคือ เจมาร์ท โมบาย ราว ๆ 15% และรายได้ที่เหลือมาจากบริษัทอื่น ๆ ที่มีสัดส่วนรองลงมา

ปี 2561 เจ มาร์ท ขาดทุนกว่า 277 ล้านบาท

เหตุที่ขาดทุนมาจากบริษัทลูกและในเครือเกือบทุกแห่งมีผลประกอบการขาดทุนนำโดย “เจมาร์ท โมบาย” ที่เผชิญกับยอดขายของ ไอโฟน (iPhone) ที่ตกต่ำอย่างมาก

และราคาของไอโฟนได้ร่วงลงเร็วมาก

ขณะที่ เจ มาร์ท มีสต๊อกสินค้าของไอโฟนอยู่จำนวนมาก

ส่วนบริษัทอื่น ๆ ต่างมีผลประกอบการขาดทุนเช่นกัน รวมถึง เจฟินเทค ที่มีแผนจะเข้าตลาดหุ้นในเร็ว ๆ นี้

มีเพียง เจเอ็มทีฯ เพียงบริษัทเดียวที่มีผลประกอบการเป็นบวก หรือมีกำไรสุทธิของไตรมาส 4/2561 กว่า 131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% ส่วนทั้งปีกำไร 505 ล้านบาท เพิ่ม 27%

สถานะของ เจเอ็มทีฯ จึงเปรียบเสมือนเป็นอภิชาตบุตร หรือเป็น flagship (เรือธง) ของ เจ มาร์ท เลยก็ว่าได้

เจเอ็มทีฯ ทำธุรกิจอยู่ 2 อย่าง

อย่างแรกคือ ติดตามทวงถามหนี้ที่สถาบันการเงินจ้างให้ทวงถาม

รายได้จากตรงนี้เขาจะคิดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์จากที่ทวงถามได้ (ประมาณ 7.5-10% หรืออาจจะมากกว่านี้)

ปัจจุบันมีหนี้ที่ให้ทวงถามอยู่ราว ๆ 2 หมื่นล้านบาท

และสิ้นปี 2562 ยอดหนี้ที่จะให้ทวงถามจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 หมื่นล้านบาท ตามหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ที่เพิ่มขึ้น

สมมุติว่า หากปีนี้ เจเอ็มทีฯ ทวงหนี้ได้ 2,000 ล้านบาท (จากยอด 20,000 ล้านบาท)

หากได้รับค่าทวงถามที่ 10% ก็จะได้แน่ ๆ 200 ล้านบาท

ข่าวว่า เจเอ็มทีฯ เป็นทีมงานที่ทวงถามหนี้แบบมีกลยุทธ์ที่แยบยลแทบจะเก่งที่สุดในประเทศไทย และปัจจุบันบริษัทก็อยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

อย่างที่สอง คือ ธุรกิจการบริหารหนี้เสีย

ปี 2562 เจเอ็มทีฯ เขาวางเป้าซื้อไว้ที่ไว้ 4.5 พันล้านบาท เพิ่มจากปี 2561 อยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท

บทวิเคราะห์ของโบรกฯ เช่น  บล.บัวหลวง เชื่อว่า ปีนี้กำไรของเจเอ็มทีฯ เพิ่มขึ้นเป็น 615 ล้านบาท เพิ่ม 22%

ส่วนผลประกอบการของบริษัทลูก น่าจะพลิกกลับมามีกำไรได้

เช่นเดียวกับทีมผู้บริหารของ เจ มาร์ท นำโดย “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” ประธานกรรมการ ที่วันก่อนหน้านี้ ผมมีโอกาสไปนั่งจับเข่าคุยกันมา พวกเขาก็คาดว่าปีนี้บริษัทลูกที่ขาดทุน น่าจะกลับมามีกำไรได้

และมีโอกาสสูงที่จะเริ่มเห็นได้ในไตรมาส 1/2562

 

Back to top button