นกหลงรัง

บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV แจ้งข่าวยกเลิกแผนการเข้าซื้อหุ้นบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK จากกลุ่มจุฬางกูร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 55% หลังจากก่อนหน้านี้บริษัทได้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการลงทุนดังกล่าว แต่ยังมิได้มีข้อตกลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และยังไม่ได้กระทำการใดที่มีผลผูกพันบริษัทเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น NOK แต่อย่างใด นอกจากไม่แปลกแล้ว ยังไม่เป็นผลดีเอาเสียเลย


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV แจ้งข่าวยกเลิกแผนการเข้าซื้อหุ้นบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK จากกลุ่มจุฬางกูร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 55% หลังจากก่อนหน้านี้บริษัทได้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการลงทุนดังกล่าว แต่ยังมิได้มีข้อตกลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และยังไม่ได้กระทำการใดที่มีผลผูกพันบริษัทเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น NOK แต่อย่างใด นอกจากไม่แปลกแล้ว ยังไม่เป็นผลดีเอาเสียเลย

แม้โดยข้อเท็จจริง การซื้อขายเปลี่ยนมือจะไม่มีผลอะไรกับ NOK ในเรื่องส่วนของผู้ถือหุ้น หรือมูลค่าทางบัญชี เพราะเป็นแค่การเปลี่ยนมือการถือครองธรรมดา แต่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชะตากรรมอันหมิ่นเหม่ของบริษัทสายการบินโลว์คอสต์รายนี้ จะยิ่งหมิ่นเหม่มากกว่าเดิม

การเพิ่มทุนครั้งล่าสุด ที่ทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น 40% จากเดิม (2,271.99 ล้านหุ้น เป็น 3,108.51 ล้านหุ้น) แม้จะขายหุ้นได้ในราคาเกินจริง 2.75 บาทต่อหุ้น ทำให้ได้เงินสดเข้ามาเสริมสภาพคล่อง และแก้ปัญหาส่วนทุนติดลบได้ถึง 2,300 ล้านบาท

หากนำเงินเพิ่มทุนดังกล่าวมาหักกลบกับตัวเลขส่วนทุนติดลบเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2561 จำนวน 1,467.65 ล้านบาท เท่ากับล่าสุด NOK มีส่วนทุนแค่ ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพออย่างแน่นอน เพราะหากนำไปเทียบกับการขาดทุนสุทธิในปี 2561 ที่มากถึง 2,600 ล้านบาทเศษ ความเป็นไปได้ที่ NOK จะต้องเพิ่มทุนอีกรอบในปีนี้ มีสูงมาก

คำถามคือ ใครจะกล้าเพิ่มทุนสำหรับบริษัทที่มีชะตากรรมหมิ่นเหม่ ขาดทุนแบบ “ถมไม่เต็ม” ไปเรื่อย ๆ

ข้อเท็จจริงน่าเจ็บปวดนี้ ทำให้ทางออกที่ NOK จะตกเป็นเหยื่อของวิศวกรรมการเงินอย่างช่วยไม่ได้ เปิดโล่งขึ้นมา หากว่าปาฏิหาริย์ไม่มีเกิดขึ้น

สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไป หากคาดเดาไม่ผิด การที่กลุ่มทุนอย่างจุฬางกูร ที่กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเจ้าหนี้ของ NOK หลังจากการเพิ่มทุนครั้งที่สาม มีสัดส่วนถือครองหุ้นระดับ 55% คงตกเป็นข่าวลือ ว่ากำลังเจรจาขายหุ้นที่ถือในมือทั้งหมด ให้กับกลุ่มที่สนใจกลุ่มโน้นกลุ่มนี้

ข่าวลือประเภทนี้ หากไม่นับเรื่องราคาหุ้น NOK ที่ร้อนแรงผิดปกติเป็นครั้งคราว ก็ไม่มีความหมายอะไรมากมายเกี่ยวกับการดำเนินงานของสายการบิน เพราะตราบใดที่ยังไม่มีคำตอบสำหรับคำถามตามมาอย่างต่ำ 3 เรื่องคือ

– ฐานะทางการเงินของ NOK จะฟื้นได้หรือไม่ เพราะนอกจากภาระเรื่องของ NOK เองแล้ว ยังมีบริษัทร่วมทุนที่ชื่อ นกสกู๊ต ที่ยังต้องอัดฉีดทุนแก้ขาดทุนเช่นกัน

– เครื่องบินทั้งหมดของเจ้าของใหม่จะเชื่อมโยงกับของ NOK ส่วนใหญ่เป็น โบอิ้ง หรือไม่

– การใช้เงินอีกก้อนหนึ่งทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ จะสร้างภาระต่อราคาหุ้นของเจ้าของทุนใหม่ หลังดีลจบมากน้อยแค่ไหน

ระหว่างที่คำถามข้างต้นยังไม่มีคำตอบ ข่าวลือและการขาดทุน จะยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นจากนักลงทุนลงไปต่อเนื่อง

ปรากฏการณ์ของ NOK นับตั้งแต่เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยในปี 2557 เป็นต้นมา จึงเป็นกรณีศึกษาว่าด้วย เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่ต้องการสร้าง ไฟติ้งแบรนด์ ในธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ กับโมเดลธุรกิจที่เดินสู่ทางตันเป็นเช่นไร

บทเรียนนี้ คนที่รู้ซึ้งแก่ใจน่าจะเป็นกลุ่มจุฬางกูรที่ตกกระไดพลอยโจน กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จนเริ่มทนไม่ไหวต้องตัดสินใจขายหุ้น NOK ทิ้งเพราะเดินทางถึงจุดที่ต้องตัดขาดทุนแล้ว เนื่องจากดูสภาพอนาคตของ NOK ค่อนข้างมืดมน

 

Back to top button