พาราสาวะถี

ไม่รู้ว่าคิดโจทย์ไว้ล่วงหน้าแล้วทยอยปล่อยของ หรือสบช่องหลังการยุบพรรคไทยรักษาชาติ การประกาศจุดยืนผ่านคลิปสองของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงเป็นประเด็นที่สังคมยังตั้งข้อกังขา กับถ้อยแถลงที่ว่า “ชัด ๆ เลยนะครับ ผมไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯต่อแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ และ 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจย่ำแย่ เศรษฐกิจเสียหายมามากพอแล้ว หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ”


อรชุน

ไม่รู้ว่าคิดโจทย์ไว้ล่วงหน้าแล้วทยอยปล่อยของ หรือสบช่องหลังการยุบพรรคไทยรักษาชาติ การประกาศจุดยืนผ่านคลิปสองของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงเป็นประเด็นที่สังคมยังตั้งข้อกังขา กับถ้อยแถลงที่ว่า “ชัด ๆ เลยนะครับ ผมไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯต่อแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ และ 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจย่ำแย่ เศรษฐกิจเสียหายมามากพอแล้ว หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ

ขณะที่เพจเฟซบุ๊กของอภิสิทธิ์ได้เปลี่ยนภาพปกในเฟซบุ๊ก Abhisit Vejjajiva จากเดิมที่เป็นภาพผู้สมัครของพรรคทั้ง 500 คนร่วมกันชูมือ พร้อมคำขวัญในการหาเสียงประชาธิปัตย์ ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต มาเป็นภาพข้อความที่ว่า “เลือกประชาธิปัตย์ ตัดวงจรอุบาทว์ เผด็จการ คนโกง” คำถามคือทำไมเพิ่งตาสว่างเอาตอนใกล้เลือกตั้ง เป็นท่าทีของอภิสิทธิ์คนเดียวหรือคนทั้งพรรค

เพราะหลังจากอภิสิทธิ์แสดงท่าทีดังกล่าว ปรากฏว่าในโซเซียลมีเดียของกองเชียร์ทั้งหลายต่างแสดงความผิดหวัง ประกาศเลิกสนับสนุนกันยกใหญ่ หากมีใครในพรรคบอกว่านี่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวก็คงจะยุติแรงกระเพื่อมดังกล่าวได้ ซึ่งไม่น่าจะมีใครทำเช่นนั้น เพราะรู้กันอยู่ว่าเป้าหมายของการเล่นเกมนี้ไม่ได้อยู่ที่กองหนุนที่ยังไงก็เชื่อว่าต้องเลือกพรรคเก่าแก่แน่นอน

การประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนเผด็จการ เป้าหมายของอภิสิทธิ์ย่อมอยู่ที่ลูกค้าใหม่หรือฝ่ายสนับสนุนระบอบทักษิณตามที่ตัวเองและเครือข่ายอุปโลกน์สร้างระบอบดังว่านี้ขึ้นมา เนื่องจากเห็นได้ชัดว่ากระแสของสังคมต่อการเลือกตั้งครั้งนี้มีเพียงแค่สองซีกเท่านั้นคือ เอากับไม่เอาประยุทธ์ และชัดเจนด้วยเช่นเดียวกันว่าฝั่งที่ไม่เอานั้นมีมากกว่าฝั่งเลือกหนุนเผด็จการ

ขณะเดียวกัน ผลพวงจากการยุบพรรคไทยรักษาชาติ มีคะแนนอยู่จำนวนมหาศาลที่กำลังชั่งใจว่าจะเทให้ใครดี เด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่าจะต้องหันไปเลือกพรรคที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ดังนั้น บทบาทที่เปลี่ยนไปของอภิสิทธิ์จึงไม่ใช่เรื่องปกติแน่ เช่นเดียวกับจังหวะก้าวของ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จากที่กั๊กเดินทางสายกลางไม่เลือกข้าง ไม่สร้างความขัดแย้ง ยังต้องแสดงจุดยืนหลังการเลือกตั้งว่าด้วยตัวนายกฯอย่างชัดเจนเป็นทางการครั้งแรก

โดยที่เสี่ยหนูยืนยันว่านายกฯจะต้องผ่านการเลือกโดยส.ส.เท่านั้น นั่นเท่ากับเป็นการประกาศไม่เห็นด้วยกับการที่ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงจะเข้ามาเพื่อยกมือโหวตให้คนสืบทอดอำนาจ ไม่เพียงเท่านั้นยังประกาศจุดยืนไม่ร่วมงานกับทหารหรือเป็นนอมินีของใครด้วย เรียกได้ว่าพอถึงโค้งสุดท้ายต่างประกาศซื้อใจฝ่ายประชาธิปไตยกันอย่างเต็มที่

ที่สำคัญทำไมต้องเป็นหัวหน้าของสองพรรคการเมืองดังว่า เพราะทั้งสองพรรคถูกคาดหมายว่าหลังการเลือกตั้งจะไปจับมือกับพรรคสืบทอดอำนาจตั้งรัฐบาลเป็นแน่ เมื่อมีโจทย์เช่นนี้สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือ ท่าทีที่แสดงออกวันนี้ แล้วเกิดการพลิกลิ้นในวันข้างหน้า ทั้งสองผู้นำของพรรคการเมืองที่เคยจูบปากกันเมื่อคราวงูเห่าภาคสอง จะสร้างวาทกรรมใดมาหักล้างคำพูดที่ตัวเองได้ประกาศไว้ในวันนี้

ประเภทเสียบเพื่อชาติ หากยังคิดและพูดอยู่ก็ถือว่าดูถูกประชาชนเป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งนี้คงจะเกิดขึ้นได้ยากกว่าในอดีต โดยมีเงื่อนไขที่จะทำให้พรรคอ้างจุดยืนพร้อมพลิกลิ้นได้ทันที คงเป็นเรื่องของพรรคสืบทอดอำนาจที่จะต้องชนะเลือกตั้งให้ได้หรือถ้าแพ้ก็ต้องมีเสียงส.ส.ติดมือไม่น้อยกว่า 150 ที่นั่งอย่างที่ตั้งเป้ากันไว้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองและ(ดึง)ดูดให้พวกรอเสียบทั้งหลายตัดสินใจกันง่ายขึ้น

จากเงื่อนไขการเลือกตั้งที่มีอยู่ และยังมีส.ว.ลากตั้งเป็นตัวแปรตัวป่วนนี่เอง สิ่งที่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โพสต์หลังการยุบพรรคไทยรักษาชาติจึงเป็นเรื่องที่ทำให้เชื่อได้ว่ามีโอกาสเกิดขึ้น เลือกตั้งเที่ยวนี้ “ของเก๊” มันแยะ หวังจะเก็บเศษเหรียญไปแลกเป็นแบงก์ร้อยต้องระวังให้ดี ไหน ๆ จะให้ชูวิทย์วิเคราะห์แปะไว้ข้างฝาไม่เกินสิ้นปีได้เลือกตั้งใหม่

ไม่ได้มีแต่ชูวิทย์เท่านั้นที่คิดเช่นนี้ โดยที่ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.ก็เห็นด้วย โดยมองว่า คนที่เคยเห็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 อธิบายเช่นนั้นมีความเป็นไปได้สูงมาก เชื่อว่าการมีกฎกติกาเช่นนี้จะไม่ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและอายุของสภาชุดนี้อาจจะอยู่ได้ไม่นาน วันนี้ถ้าเลิกพูดว่าเลือกตั้ง 24 มีนาคมไม่มีอุบัติเหตุ คนจำนวนไม่น้อยก็คงมองไปทิศทางแบบนี้เช่นกัน เพราะยังนึกกันไม่ออกว่าโฉมหน้ารัฐบาลหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร

ในเมื่อฝ่ายกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมีธงชัดต้องได้อยู่และไปต่อเท่านั้น แต่การไปต่อถ้าเต็มไปด้วยการต่อรอง ย่อมสั่นคลอนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และสิ่งที่มันน่าหัวร่อสำหรับกองเชียร์เผด็จการแบบไม่ลืมหูลืมตาก็คือ แม้แต่ความเห็นของตัวเองยังขัดแย้งกันเอง เพราะพากันยกหางเผด็จการว่าเข้ามาแล้วมีถนนหนทางเพิ่ม มีรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง โดยย้อนรัฐบาลในอดีตว่าไม่มีปัญญาทำเพราะเป็นรัฐบาลผสม แล้วไง ถ้าผู้นำเผด็จการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งคิดว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวอย่างนั้นหรือ

ถ้าขบวนการสร้างข่าวของเผด็จการสำเร็จ ก็ต้องยอมรับว่าได้ผลเฉพาะคนที่เชียร์แบบนี้นี่แหละ ไม่ว่าอะไรจะชั่วช้าสามานย์ก็มองเป็นความสวยงามทั้งนั้น แต่ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พวกหนึ่งพวกใดหรือพรรคใดพรรคหนึ่งจะชี้ชัดฟันธงว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งหมดอยู่ที่ปลายปากกาของประชาชนที่จะเป็นผู้พิพากษาในวันที่ 24 มีนาคมนี้ และหวังว่าจะไม่มีประเภทเสียงของคนต่างจังหวัดไม่เท่ากับคนกรุงเทพฯอย่างที่ด็อกแต๋วรายนั้นเคยพูดไว้อีก

ด้านอดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ วันเสาร์ที่ผ่านมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวนำโดย จาตุรนต์ ฉายแสง และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศตั้ง “กลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตยโดยเล็งเปิดเวทีปราศรัยอย่างน้อย 4 เวที 4 ภูมิภาค เป้าหมายคือชวนเลือกพรรคฝั่งประชาธิปไตยไม่เลือกเผด็จการสืบทอดอำนาจ แต่ฟันธงไว้ล่วงหน้าได้เลยเมื่อถึงเวลาคงเจอกับการสกัดกั้นด้วยข้อกฎหมายสารพัด อยู่ที่ว่าจะออกโรงโดยฝ่ายกุมอำนาจที่อ้างเรื่องความมั่นคงหรือใช้องค์กรที่จัดการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ รอดูกันต่อไป

Back to top button