ตลกร้ายจากลอนดอน

ถ้าหากโจนาธาน สวิฟท์ คนเขียนนวนิยายเสียดสีชื่อดังในอดีตของอังกฤษ บังเอิญมีอันต้องคืนชีพมาเกิดอีกครั้ง แล้วได้เห็นการคว่ำร่างข้อเสนอถอนตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรเมื่อคืนที่ผ่านมา คงมีเรื่องให้เขียนล้อเลียนเพิ่มขึ้น


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล 

ถ้าหากโจนาธาน สวิฟท์ คนเขียนนวนิยายเสียดสีชื่อดังในอดีตของอังกฤษ บังเอิญมีอันต้องคืนชีพมาเกิดอีกครั้ง แล้วได้เห็นการคว่ำร่างข้อเสนอถอนตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรเมื่อคืนที่ผ่านมา คงมีเรื่องให้เขียนล้อเลียนเพิ่มขึ้น

เหตุผลคือพฤติกรรมในรัฐสภาอังกฤษยามนี้ค่อนข้างคล้ายเหตุการณ์ที่รัฐสภาเมืองลิลลิพัตในนิยายไม่มีผิด

การลงคะแนนเสียงในรัฐสภาอังกฤษ มีมติซ้ำเดิมเมื่อ วันที่ 15 มกราคม ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของอังกฤษลงมติไม่รับข้อตกลงเบร็กซิตของนายกรัฐมนตรีเทรีซา เมย์ อย่างท่วมท้น

ประเด็นคือ การคว่ำร่างถอนตัวในขณะที่ใกล้กำหนดวันที่สหราชอาณาจักรจะต้องออกจากสหภาพยุโรป หรืออียู ในวันที่ 29 มีนาคมนี้งวดเข้ามาทุกที

มติคว่ำข้อตกลงนี้อีกครั้ง ทำให้เหลือแค่ 2 ทางเลือกเท่านั้นคือ สหราชอาณาจักรต้องออกจากอียูโดยไร้ข้อตกลงหรือกำหนดวันดังกล่าว (29 มีนาคม) อาจจะถูกเลื่อนออกไป

ว่าไปแล้วการคว่ำร่างนี้ มีสาระสำคัญน้อยมากเพราะเป็นร่างว่าด้วยรายละเอียดที่ไม่สลักสำคัญมากนัก

ที่ว่าไม่สำคัญเพราะข้อตกลงนี้ยังไม่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและอียูแต่อย่างใด นี่เป็นแค่ข้อตกลงที่จะช่วยให้การออกจากอียูของสหราชอาณาจักรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและคนที่อยู่ในสหราชอาณาจักรและประเทศสหภาพยุโรป

โดยภาพรวมแล้ว ทุกอย่างจะเป็นไปตามปกติเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 21 เดือนหลังจากวันที่ 29 มี.ค. ระหว่างนั้นสหราชอาณาจักรและอียูจะเจรจาข้อตกลงทางการค้าอย่างถาวร

สาระที่เป็นประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงมากที่สุดในข้อตกลงนี้ ซึ่ง ส.ส.จากรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย คือ “แผนกั้นหลัง” หรือ “แบ็กสต็อป” (backstop) ที่ทั้งรัฐบาลอังกฤษและสหภาพยุโรป (อียู) เห็นพ้อง เพื่อไม่ให้ต้องกลับมาใช้การกำหนดพรมแดนแบบเข้มงวด หรือ hard border ซึ่งหมายถึง การตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรระหว่างไอร์แลนด์เหนือ (ที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร) และประเทศไอร์แลนด์ซึ่งอยู่ในอียู

แบ็กสต็อปนี้ มีผลให้สหราชอาณาจักรยังอยู่ในข้อตกลงศุลกากรของอียู โดยไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการแก้ไข ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ ส.ส. หลายกลุ่ม โดยเฉพาะจากไอร์แลนด์เหนือ

ส.ส. เหล่านี้ต้องการให้มีการกำหนดวันสิ้นสุดที่แน่นอนของ “แผนกั้นหลัง” ซึ่งอียูปฏิเสธมาตลอด

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นยามนี้ ทำให้หลายคนย้อนคิดไปถึงข้อถกเถียงในรัฐสภาเมืองลิลลิพัตที่แบ่งขั้วถกเถียงกันยาวนานหลายปีเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่พระจักรพรรดิเสนอให้ใช้บังคับว่า ควรจะตอกไข่ด้านแคบดีกว่าความเคยชินของชาวเมืองที่เคยนิยมตอกไข่ทางด้านกว้าง

ผลการโต้แย้งอันเผ็ดร้อนในรัฐสภา บานปลายลุกลามจนประชาชนแตกเป็นสองพวก และมีการก่อขบถต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าวถึง 6 ครั้ง และทำให้จักรพรรดิคนหนึ่งสิ้นชีวิต อีกคนเสียตำแหน่ง

แม้สถานการณ์ในรัฐสภาอังกฤษยามนี้จะละม้ายคล้ายเหตุการณ์เมืองลิลลิพัต แต่จุดจบท้ายสุดน่าจะต่างกันไป เพราะแม้จะมีความซับซ้อนของประเด็นการแยกตัวจากสหภาพยุโรปหลากมิติมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นมิติไหน ก็ไม่อาจเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่า กำหนดวันออกจากสหภาพยุโรปคือ 29 มีนาคม 2562 เวลา 23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสหราชอาณาจักร อันเป็นเงื่อนเวลานับตั้งแต่ทราบผลการลงประชามติ ด้วยคะแนนเสียงคู่คี่ 52% ต่อ 48% ให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป แต่บนบัตรลงคะแนน ไม่ได้บอกรายละเอียดว่า จะเป็นการออกแบบไหน

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งอังกฤษและสหภาพยุโรป สามารถบรรลุข้อตกลงกันแล้ว แต่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาสหราชอาณาจักร

ความซับซ้อนเช่นนี้ ทำให้คนหวนย้อนกลับไปคิดถึงคำเตือนในกลางปี 2559 ของนักวิเคราะห์แห่งวาณิชธนกิจใหญ่ของสหรัฐฯ โกลด์แมน แซคส์ ไปยังลูกค้าของบริษัทในวันอาทิตย์ 26 มิถุนายน ว่า อังกฤษอาจจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ หลังจากการลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ BREXIT โดยคาดว่าจะเริ่มต้นภายในต้นปีหน้า พร้อมกับหั่นตัวเลข GDP อังกฤษลงถึง 2.75% ในอีก 18 เดือนข้างหน้า

ครั้งนั้น โกลด์แมน แซคส์ ยังคาดเดาว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน โดยคาดว่า GDP ของกลุ่มยูโรโซนในช่วงปีนี้ จะอยู่ที่ 1.25% โดยชี้ว่า จุดเสี่ยง 3 ประการที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย 1) การค้าระหว่างประเทศที่คาดว่าจะเสื่อมถอยลง 2) การลงทุนลดลงเพราะบริษัทส่วนใหญ่จะลดการลงทุนจากความไม่แน่นอน 3) ปัจจัยการผันผวนของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และความอ่อนแอของสินทรัพย์เสี่ยง ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ยากจะควบคุมได้

การวิเคราะห์ดังกล่าว ระบุว่า หลายร้อยปีมาแล้วที่อังกฤษไม่เคยร้างราจากการสร้างพันธมิตรและมีบทบาทในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของยุโรปเลย มีสนธิสัญญาในประวัติศาสตร์ยุโรปที่อังกฤษร่วมลงนามด้วยมากกว่า 500 สัญญาในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมา

บทบาทของความสัมพันธ์ในการสร้างและเปลี่ยนพันธมิตรแต่ละครั้งของอังกฤษ จนได้ชื่อว่าเป็นชาติหนึ่งที่มีความช่ำชองกับชั้นเชิงทางการทูตและการทหารในเวทีระหว่างประเทศอย่างยิ่งชาติหนึ่งในโลก จะส่งผลให้การถอนตัวไม่ว่าจะเกิดขึ้นบางส่วน หรือเบ็ดเสร็จ ล้วนเป็นการบั่นทอนรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น ถือเป็นวิกฤติอัตลักษณ์ชัดเจน

เส้นทางนี้จะเกิดตลกร้ายสารพัดแน่นอนให้ต้องขวัญผวาเพราะความไม่คุ้นเคย

การคาดเดาดังกล่าว เห็นผลเสมือนติดจรวดทีเดียว ไม่ต้องรอนาน

 

Back to top button