“Blind Trust” กองทุนตาบอดของนักการเมือง

“Blind Trust” กองทุนตาบอดของนักการเมือง


สิ่งที่ทำให้ชื่อของ “Blind Trust” หรือ  บลายด์ ทรัสต์ กลายเป็นกระแสขึ้นในบ้านเรา สืบเนื่องมาจากกรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เจ้าของวลีเด็ด #ฟ้ารักพ่อ ได้ทำการเซ็นสัญญา (MOU) เพื่อโอนทรัพย์สินให้กับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการการทุนภัทร จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการแทน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา

โดยมีเงื่อนไขร่วมกันว่า 1.จะไม่สามารถกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินทั้งหมดของตนเอง 2.เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน บริษัทจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดให้นายธนาธรหรือบุคคลอื่นใดได้รับทราบถึงรายละเอียดการบริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมด และ 3.บริษัทจะต้องไม่เข้าไปลงทุนเป็นหุ้นส่วนในบริษัทที่เป็นคู่ค้ากับรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานรัฐใดๆ

นอกจากนั้นสิ่งที่อยู่ในสัญญาของนายธนาธรกับบลจ.ภัทร คือจะต้องไม่ซื้อหุ้นไทยทุกตัว และถ้าจะลงในหุ้นต้องจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศอย่างเดียว เพื่อจำกัดข้อครหาทุกกรณีว่านโยบายที่ออกไปนั้นจะเป็นนโยบายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนตน นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขที่ระบุว่าการได้กรรมสิทธิ์ในการบริหารจัดการทรัพย์สินกลับมาเป็นของตัวเอง จะต้องผ่านไปแล้วสามปีหลังจากพ้นตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น

ทั้งนี้กรณีของ “Blind Trust” คือการที่นักการเมืองนำทรัพย์สินของตนเองไปให้นิติบุคคล หรือบริษัทจัดการทรัพย์สินทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ โดยที่นักการเมืองไม่สามารถควบคุม หรือรับรู้ข้อมูลระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนกว่าจะพ้นตำแหน่ง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนี้ บริษัทจะไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดให้นักการเมืองหรือบุคคลอื่นใดได้รับทราบถึงรายละเอียดการบริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมด

โดย Blind Trust ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 184 ​ระบุว่าห้าม​ไม่​ให้​สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ถือ​หุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐหรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม รวมทั้งไม่ขัดขวางหรือแทรกแซงการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ และรัฐมนตรีจะต้องโอนทรัพย์สินไปให้บริษัทจัดการทรัพย์สินเป็นผู้ดูแล หรือ Private Fund แต่ไม่ได้ระบุให้ต้องทำให้เป็น Blind Trust

ทั้งนี้ สิ่งที่นายธนาธร ได้เซ็นทำร่วมกับบลจ.ภัทร เป็นการบริหารทรัพย์สินในรูปแบบ Private fund ในเมืองไทย ซึ่งต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ทุกประการ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่นายธนาธร ได้ระบุว่า มีการสร้างเงื่อนไขแบบ Blind Trust ขึ้นมาในสัญญาบริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคล

ดังนั้น การที่นักธุรกิจโอนหุ้นให้กับบลจ.เป็นผู้ดูแลสำหรับประเทศไทย นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ และในต่างประเทศมีการสร้างมาตรฐานเพื่อให้สาธารณชนไว้วางใจอย่างชัดเจน ซึ่งรูปแบบที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในต่างประเทศคือรูปแบบของ Blind Trust ดังนั้นนิยามสั้นๆของ Blind Trust จึงเหมือนเป็น “กองทุนตาบอดของนักการเมือง” ที่เจ้าของทรัพย์สินจะมองไม่เห็น และอำนาจในการบริหารทรัพย์สินอยู่ที่ผู้รับมอบอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น

 

ด้าน นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์การจัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด โพสต์ข้อความใน Face book ส่วนตัว ระบุข้อความว่า ที่นายธนาธรระบุทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องที่ดีมาก และสมควรชื่นชม แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะนักการเมืองหลายคนเขาก็ทำ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ blind trust หรือ private fund ต่างก็สามารถระบุเจตจำนงในสัญญาบริการได้ทั้งหมด

“เราก็เคยบริหาร Private fund ให้อดีตรัฐมนตรีบางท่าน ซึ่งปัจจุบันกำลังลงเลือกตั้งในยุคนี้ สัญญาจัดการ Private fund ก็ไม่ต่างจากที่นายธนาธร ระบุ นอกจากนี้ ยังครอบคลุมไปถึงหุ้นบริษัทนอกตลาดอีกด้วย โดยที่ในระหว่างบริหาร Private funds เหล่านี้ รัฐมนตรีและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องก็มิได้เข้ามาบงการหรือยุ่งเกี่ยวอะไรเลย นายธนาธรทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพียงแต่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะมีนักการเมืองและรัฐมนตรีหลายคนเขาทำกันอยู่แล้ว ถึงจะไม่ได้ทำในรูปแบบ Blind trust แต่เนื้อหามิได้ต่างกันและบางท่านก็ทำเข้มงวดกว่า”

Back to top button