กับดักทุนการผลิตไทย

แม้ข้อเสนอ 5 ข้อ ของนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะถูกสื่อยกเอาเฉพาะข้อสุดท้ายเรื่อง ขอให้ว่าที่รัฐบาลใหม่ยกเลิกค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ดันขีดความสามารถด้านการผลิตอุตสาหกรรม แต่ข้อเสนอเพื่อยกระดับประเทศไทย ด้วย “ปัจจัยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง” 5 ปัจจัยสำคัญ นับว่าน่าสนใจไม่น้อย


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

แม้ข้อเสนอ 5 ข้อ ของนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะถูกสื่อยกเอาเฉพาะข้อสุดท้ายเรื่อง ขอให้ว่าที่รัฐบาลใหม่ยกเลิกค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ดันขีดความสามารถด้านการผลิตอุตสาหกรรม แต่ข้อเสนอเพื่อยกระดับประเทศไทย ด้วย ปัจจัยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง5 ปัจจัยสำคัญ นับว่าน่าสนใจไม่น้อย

ข้อเสนอทั้ง 5 ปัจจัย ประกอบด้วย

1.สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ด้วยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมร่วมกับภาครัฐ และเร่ง Ease of Doing Business ของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่

2.เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย โดยสนับสนุนการพัฒนา AI Robotic และ Lean Automation การตั้งกองทุน Innovation Fund และการตั้งศูนย์ Big Data ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร (Smart Agro)

3.ยกระดับ SMEs และส่งเสริม Made-in-Thailand โดย SME Venture Program และยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล จัดตั้งกองทุนผู้เชี่ยวชาญช่วย SME และประชาสัมพันธ์สินค้าที่ผลิตในไทยให้ทั้งในและต่างประเทศเชื่อถือ เชื่อมั่น รวมทั้งส่งเสริมการตลาด ด้วยการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการขายผ่าน E-Commerce ทุกแพลตฟอร์มทั่วโลก และขอให้ภาครัฐสนับสนุนการซื้อสินค้า Made-in-Thailand

4.เสริมสร้างธรรมาภิบาลความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการส่งเสริม SMEs ทำบัญชีเดียว ขอให้รัฐพิจารณาจัดให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น และปฏิรูปบุคลากรภาครัฐ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม

5.ยกระดับทักษะ ความรู้ และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการตั้งศูนย์การศึกษา Life Long Learning และปรับการศึกษาให้เข้ากับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) และควรยกเลิกระบบค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ การสร้างความร่วมมือ การประสานงานอันดี และการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

หากพิจารณาจากมุมมองของตัวแทนของกลุ่มทุนการผลิตไทย ถือว่านี่เป็นความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญอย่างมาก เพราะ หากสามารถทำได้ทั้งหมดทุกข้อครบถ้วน จะช่วยทำให้ไทยสามารถก้าวข้าม “กับดักชาติรายได้ปานกลาง” หรือ middle-income trap ทำนองเดียวกับที่จีนกำลังจะก้าวข้ามได้สำเร็จมาแล้วเป็นต้นแบบ

ประเด็นปัญหาเรื่องการยกเลิกระบบแรงงานขั้นต่ำ เป็นเรื่องเปราะบาง เพราะการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในไทย เกิดจากระบบการจ้างแรงงานในขณะที่ตลาดแรงงานมีอุปทานมากกว่าอุปสงค์เมื่อราว 40 ปีก่อน จนมีการสร้างระบบต่อรอง 3 เส้า หรือไตรภาคี (ตัวแทนนายจ้าง-ลูกจ้าง-รัฐ) แต่สถานการณ์ยามนี้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว และภาคธุรกิจส่วนต่าง ๆ ก็มีความแตกต่างกัน และมีพลวัตแบบแยกย่อยมากมาย จนกระทั่งค่าแรงขั้นต่ำแบบ เหมารวม เริ่มพ้นยุค

หากข้อเสนอดังกล่าว รัฐบาลหลังเลือกตั้งยอมรับนำเอาไปใช้ โดยไม่ต้องใส่ใจกับยุทธศาสตร์ชาติ ก็ถือได้ว่าเป็นการยกระดับที่น่าสนใจ อย่างน้อยที่สุด สังคมไทยจะสามารถก้าวข้ามประเด็นปัญหาของสังคมไทยที่ผ่านมาเรื่องสงครามสีเสื้อ และยุทธการปราบผีทักษิณอันยืดเยื้อ จนหลงประเด็นไปว่าอขันติธรรมทางความเชื่อที่ฝังลึก ตามมาด้วยการรัฐประหาร-การเลือกตั้ง ไม่มีทางที่จะสามารถนำสังคมก้าวข้ามสิ่งกีดขวางหลักคือ กับดักชาติรายได้ปานกลาง ที่ผสมผสานเข้ากับช่วงเวลาของการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

คำว่า กับดักชาติรายได้เป็นกลาง ได้รับการนิยามหลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ใช้เกณฑ์วัดสำคัญใหม่คือค่าเฉลี่ยวัดความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบ หรือ Global Competitiveness Index (GCI) ที่มีตัวชี้วัดหลายปัจจัย

หากนำข้อเสนอของนายสุพันธุ์ไปเทียบกับผลการศึกษาโดยนักวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ที่พบว่าในปี 2553-2559 ค่าความสามารถในการแข่งขันของไทยเทียบกับกลุ่มประเทศรายได้สูง มีหมวดที่ประเทศไทยได้รับคะแนนต่ำถึง 4 หมวด ซึ่งคะแนนประเมินในระดับต่ำของหมวดเหล่านี้ล้วนเกี่ยวโยงกัน และสื่อให้เห็นถึงอุปสรรคต่อการลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของประเทศรายได้สูงทั้งสิ้น

เริ่มจาก 1) ความพร้อมด้านเทคโนโลยีของไทยอยู่ในระดับปานกลาง 2) ความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่เพียงพอทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ 3) ความสามารถในการดูดซับเทคโนโลยีจากต่างชาติ ไม่ดีนัก 4) ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับนวัตกรรมโดยรวมของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ เห็นได้จากค่าใช้จ่าย R&D ของไทยในปี 2558 ที่ระดับ 0.6% ซึ่งต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมาก

นิยาม กับดักชาติรายได้ปานกลาง เริ่มต้นจากการวัดจุดที่ประเทศพัฒนาเศรษฐกิจจากรายได้น้อย มาสู่ระดับที่มีรายได้มากขึ้น แต่ว่ายังไม่สามารถยกระดับเศรษฐกิจเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลางมาค่อนข้างนานกว่า 20 ปีแล้ว (ก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง) แต่กลับไม่สามารถก้าวไปเป็นประเทศรายได้สูงเหมือนเพื่อนบ้านในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือว่าไต้หวัน ที่นำหน้าเรามานานแล้ว

ประเทศเหล่านี้ แม้บางแห่งจะมีการกำหนดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเอาไว้เป็นหลักหมุด แต่ก็ไม่มีใครใส่ใจเอ่ยถึงอีกต่อไป

เส้นทางพัฒนาเศรษฐกิจไทยนับแต่เมื่อเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2504 สามารถยกระดับจากการเป็นประเทศรายได้น้อย ที่แปรเปลี่ยนจากสังคมเกษตรมาสู่อุตสาหกรรมด้วยการเริ่มสร้างอุตสาหกรรมเบา (Light Industrial) ขึ้นมาก่อน เช่น การทอผ้า ฟอกหนัง เครื่องประดับ เป็นต้น แล้วค่อยพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นต่อไปขึ้นมา และช่วงตอนยามนี้ ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยจะพัฒนามาสู่อุตสาหกรรมหนักบางส่วน แต่ส่วนมากยังเป็นการรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์ต่างประเทศมากกว่า มีส่วนน้อยที่สร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง สินค้าส่วนมากยังไม่มีนวัตกรรมมากนัก ทำให้ขายสินค้าได้ราคาไม่สูงนัก อำนาจการต่อรองขึ้นกับคู่ค้ารายใหญ่มากกว่า ประกอบกับค่าแรงขั้นต่ำของไทยซึ่งปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ทำให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำลงเพราะว่าต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

การไม่มีแบรนด์สินค้า กับนวัตกรรมที่มากเพียงพอ ทำให้เมื่อถูกเบียดขับ จากชื่อเสียงของแบรนด์ คุณภาพและนวัตกรรมของคู่แข่ง บวกกับแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่ ๆ ที่ใช้เงินลงทุนน้อย และแทบไม่ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินอะไรเลย แต่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาลอย่างในรูปแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ แถมยังถูกซ้ำเติมจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วก่อนกำหนด และถูกถ่วงรั้งด้วยการศึกษา เพราะพบว่า การศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยที่อยู่เพียงระดับมัธยมต้น (ประมาณ 8 ปี ในปี 2559) ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่การศึกษาเฉลี่ยอยู่ระดับมัธยมปลายขึ้นไป ทำให้พัฒนาการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศเป็นไปอย่างช้า ๆ จากพื้นฐานด้านคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่เอื้ออำนวย ส่งผลเพิ่มเติมให้การดึงดูดการลงทุนใหม่ของไทยทำได้ยากยิ่งขึ้น

ข้อเสนอของนายสุพันธุ์ ซึ่งถือว่าก้าวหน้าอย่างมาก จะสามารถลบล้าง บทสรุปที่น่าสนใจของงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2560 ที่ระบุว่า ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ 3.5% ตามค่าเฉลี่ยปี 2555–2559 พบว่าไทยจะต้องอยู่ในฐานะประเทศรายได้ปานกลางไปอีกกว่า 30 ปี โดยการหลบเลี่ยงจากการ ก้าวย่ำกับที่ เพื่อก้าวพ้นกับดักให้เร็วขึ้น

ประเด็นคือ ข้อเสนอที่ว่านี้ จะมีใครในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ถือว่าเป็นการ หักหน้าหรือไม่

ถ้าถือ ก็คงเป็นเวรกรรมของประเทศ และทำให้กลุ่มทุนการผลิตไทยต้องติดกับดักเรื่องค่าแรงขั้นต่ำไปอีกนาน

Back to top button