3 ยักษ์ใหญ่ผนึกพันธมิตรยื่นประมูลสนามบิน”อู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตอ.” ประกาศผลเย็นนี้!

3 ยักษ์ใหญ่ผนึกพันธมิตรยื่นประมูลสนามบิน"อู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตอ." ประกาศผลเย็นนี้!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(21 มี.ค.62) 3 กลุ่มเอกชนรายใหญ่ของไทยและพันมิตรได้เดินทางเข้ามาที่กองบัญชาการกองทัพเรือ วณอุทยาน เพื่อยื่นซองข้อเสนอโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

โดยรายแรกกลุ่มซีพี เมื่อเวลา 12.18 น. นายนพปฎล เดชอุดม รองประธานสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข รองประธานสำนักพัฒนาโครงการพิเศษ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในนามบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ,บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD,บริษัท บี.กริม.จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ Fraport AG Frankfurt Airport Services Worldwide จากเยอรมนี

ส่วนรายที่ 2 เป็นกลุ่มแกรนด์ คอนโซเตียม (GRAND Consortium) ประกอบด้วย บริษัท แกรนด์ แอสเสท โอเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAND อยู่ในกลุ่ม บริษัท พร็อพเพอร์ซี่ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF สัดส่วน 80% บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (บ.ย่อยของ บริษัท เอเชียเอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ) ถือ 10% และ บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น(ไทย) จำกัด (มหาชน)  หรือ CNT ถือ 10% โดยให้ GMR Airport Limited จากอินเดีย มาบริหารสนามบิน และ China Harbour Engineering Company Limited โดยมีนายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง นักธุรกิจชื่อดัง นำตัวแทนของกลุ่มเข้ายื่นเอกสารในช่วงบ่ายวันนี้

รายที่ 3 เป็นกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ,บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

ทั้งนี้กองทัพเรือจะปิดรับซองข้อเสนอภายในเวลา 15.00 น. และจากนั้นในเวลา 16.00 น.จะมีการเปิดซองคุณสมบัติ และประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติในวันเดียวกัน

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมีมูลค่าลงทุนรวมกว่า 2.9 แสนล้านบาท โดยภาครัฐจะลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท เช่น รันเวย์ ส่วนภาคเอกชนจะลงทุน 2.7 แสนล้านบาท ตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างปี 2564 กำหนดแล้วเสร็จปี 2567 โดยมีระยะเวลาร่วมลงทุน 50 ปี

อนึ่งก่อนหน้านี้เอกชนทั้งไทยและต่างประเทศซื้อซองเอกสารประกวดราคามากถึง 42 ราย แบ่งเป็นต่างชาติ 18 ราย และไทย 24 ราย สำหรับการลงทุนในโครงการดังกล่าวจะเป็นแบบ PPP โดยภาครัฐจะลงทุนในส่วนของงานโยธา รันเวย์ที่ 2 และหอบังคับการบินหลังที่ 2

ขณะที่เอกชนลงทุนส่วนสำคัญ คือ อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Centre: GTC) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการจราจรสำหรับการให้บริการขนส่งสาธารณะไปสู่สนามบิน ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่องในสนามบินอู่ตะเภา (Cargo Village or Free Trade Zone: FTZ) ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway) เป็นต้น โดยกำหนดระยะเวลาให้เอกชนดำเนินการและใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการ 50 ปี

Back to top button