ส่องหุ้นลิสซิ่งเสี่ยงเจอศึกหนักแบงค์ชาติคุมเพดานดบ.จักรยานยนต์ไม่เกิน 28%

ส่องหุ้นลิสซิ่งเสี่ยงเจอศึกหนักแบงค์ชาติคุมเพดานดบ.เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 28%


สืบเนื่องจากกรณีที่ “หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้รายงานข่าวโดยอ้างอิงแหล่งข่าวจากตลาดทุน เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้เรียกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยไปหารือเกี่ยวกับการควบคุมเพดานดอกเบี้ยกลุ่มเช่าซื้อ หรือ ลีสซิ่ง ซึ่งปัจจุบันหลายแห่งเก็บมากกว่า 36-38% โดย ธปท.อยากจะให้เพดานอยู่ที่ 28%

ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นกังวลต่อ ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2562 ที่มีแนวโน้มชะลอตัว กับ ปัญหาการก่อหนี้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ ทำให้  ธปท. แนวคิดที่จะควบสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และ จักรยานยนต์ อีกธุรกิจหนึ่ง หลังจากที่  ออกเกณฑ์เรื่อง Loan to Value (LTV) ใหม่ ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 หรือที่อยู่อาศัยราคาเกิน 10 ล้านบาท  สามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 80% ของราคาที่อยู่อาศัย  ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วในวันที่ 1 เม.ย.62

สำหรับเกณฑ์ที่คาดว่าจะนำมาใช้น่าจะเป็นเรื่องเงินดาวน์สำหรับรถยนต์ใหม่ โดยแหล่งข่าวจาก นสพ.ข่าวหุ้น ได้พูดถึงการควบคุมเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อจากเดิม 36-38% ลดลงเหลือ 28% ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นสินเช่าซื้อรถยนต์จักรยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันคิดดอกเบี้ยกันราว 2% ต่อเดือน เมื่อบวกค่าปรับอาจจะขยับขึ้นเกิน 30%ได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะกระทบต่อผู้ให้บริการสินเช่าซื้อรถจักรยานยนต์อย่าง TK, S11 เป็นต้น

ส่วนด้านผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์ คาดว่าผลกระทบน่าจำกัดเพราะปัจจุบันคิดดอกเบี้ยต่ำ คาดว่า Effective rate  ราว 5-6% ต่อปี และอาจกระทบจากการจำกัดเรื่องเงินดาวน์ ซึ่งอาจจะทำให้กำลังซื้อลดน้อยลงได้บ้าง โดยผู้ที่กระจุกตัวกับการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คือ  TCAP  ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 56% รองลงมาคือ  TISCO (สัดส่วน 52%) และ KKP (สัดส่วน 49%)

ขณะที่ผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ (MTC, SAWAD) จะไม่ได้รับผลกระทบใด หลังอยู่ภายใต้ ธปท. และมีการออกเกณฑ์ควบคุมไปแล้ว จึงแนะนำให้ Switch จากหุ้นเช่าซื้อ ทั้ง TISCO, KKP, TCAP มายังหุ้น MTC (FV@B57) ซึ่งยังมี upside สูงสุด รวมถึง JMT ([email protected]) ที่ยังคงได้ประโยชน์จากหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง

ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 63 บาท/หุ้น โดยคาดว่าบริษัทจะประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 1/2562 ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 1,037 ล้านบาท (+24.4% จากปีก่อน, +3.4% จากไตรมาสก่อน) สืบเนื่องจากการขยายสาขาเพิ่ม 170 แห่งในไตรมาสนี้ รวมเป็น 3,449 สาขา เทียบกับเป้าหมาย 3,900 สาขา ณ ปลายปีนี้ รวมทั้งการขยายพอร์ตต่อเนื่อง ด้วยพอร์ตเงินกู้ที่สูงถึง 50 พันล้านบาทแล้ว ขณะที่สัดส่วน cost to income ratio อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวโดยเปรียบเทียบ เพราะมีการใช้ utilization ที่สูงขึ้นในสาขาเดิมที่มีอยู่

ทั้งนี้ คาดว่ากำไรไตรมาส 1/2562 จะเป็นสัดส่วน 21% เทียบกับประมาณการทั้งปี 62 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่อ่อน อีกทั้งมีการเลือกตั้งด้วย สภาพคล่องจึงดี ด้านฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง NPL Ratio อยู่ในระดับต่ำเป็น 1.2% และ Coverage Ratio อยู่ในระดับสูงเป็น 250% ด้านอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.3 เท่า เทียบกับสิ้นปี 61 ที่ 3.0 เท่า

ขณะที่จะมีการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ มอเตอร์ไซต์ผ่านบริษัทย่อย เมืองไทย ลีสซิ่ง ในงวดครึ่งปีหลังของปี 62 บริษัทมีความเชื่อมั่นว่าจะไปได้ดี ทั้งในเรื่องฐานลูกค้าและสาขาที่มาก

สำหรับเป้าหมายปี 62 ในภาพรวมคือ อัตราการเติบโตการปล่อยสินเชื่อเพิ่ม 35% จากปีก่อน และมีสาขาเพิ่ม 600 แห่ง โดยคงคำแนะนำ ซื้อ ด้วยราคาพื้นฐาน 63.00 บาท ซึ่งประเมินด้วย P/BV ที่ระดับ 8.0 เท่า ซึ่งเทียบเท่า PEG ที่ 0.7 เท่า และอัตราการเติบโตเฉลี่ย CAGR ปี 60-63 สูงเป็น 36% เราเห็นว่า MTC ควรซื้อขายที่ระดับส่วนเพิ่ม เพราะมีการเติบโตดีและมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง

ด้าน บล.ทรีนีตี้ แนะนำ “ซื้อ” JMT ราคาเป้าหมาย 17 บาท/หุ้น มองในปี 2562 บริษัทคงเป้าซื้อหนี้ไว้ที่ 4.5 พันล้านบาท เนื่องจากปริมาณหนี้ NPL ในระบบยังสูงอยู่ แต่ต้องดูผลตอบแทนในการเข้าประมูลว่าอยู่ในระดับที่คุ้มค่าหรือไม่ ในแง่ของผลประกอบการ คาดกำไรปี 2562 จะเติบโตได้ราว 30% จากปีก่อน

โดยปัจจัยหนุนหลักคาดว่าจะมาจากหนี้ที่ตัดต้นทุนหมดในช่วงไตรมาส 4/61 จะเริ่มรับรู้รายได้ 100% ตั้งแต่ต้นปี และยังมีหนี้บางกองที่อาจตัดต้นทุนหมดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 62 ซึ่งจะช่วยหนุนรายได้และกำไรในครึ่งปีหลังอย่างมาก นอกจากนี้บริษัทได้ปรับสัดส่วนผลิตภัณฑ์ของธุรกิจประกันเพื่อให้ Loss Ratio น้อยลง ซึ่งคาดว่าจะค่าใช้จ่ายของธุรกิจประกันน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ และกลับมาเป็นกำไรได้ อีกทั้งหากสถิติ Loss Ratio ปรับตัวดีขึ้น อาจมีโอกาสที่จะกลับสำรองจากการรับประกันภัยที่ตั้งไว้ในไตรมาส 4/61ด้วย

ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

 

Back to top button