ราคาน้ำมันและกลุ่มก่อการร้าย

ใกล้เทศกาลหยุดยาวของไทยทุกขณะ ผสมโรงเข้ากับภาวะอึมครึมทางการเมืองระหว่างรอรับรู้ผลเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการและจังหวะว่างก่อนหุ้นกลุ่มธนาคารประกาศงบไตรมาสแรกทำให้การแกว่งตัวของดัชนี SET ในตลาดหุ้นไทยมีลักษณะไซด์เวย์รอบ ๆ 1,650 จุด โดยมีหุ้นที่ประคองตลาดเอาไว้คือหุ้นกลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ ที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะได้รับแรงหนุนราคาน้ำมันปรับขึ้น


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ใกล้เทศกาลหยุดยาวของไทยทุกขณะ ผสมโรงเข้ากับภาวะอึมครึมทางการเมืองระหว่างรอรับรู้ผลเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการและจังหวะว่างก่อนหุ้นกลุ่มธนาคารประกาศงบไตรมาสแรกทำให้การแกว่งตัวของดัชนี SET ในตลาดหุ้นไทยมีลักษณะไซด์เวย์รอบ ๆ 1,650 จุด โดยมีหุ้นที่ประคองตลาดเอาไว้คือหุ้นกลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ ที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะได้รับแรงหนุนราคาน้ำมันปรับขึ้น

ภาวะเช่นนี้จะเป็นสถานการณ์ที่นักลงทุนยังเฝ้ารอติดตามความคืบหน้าไปเรื่อย ๆ ในฐานะปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก นอกเหนือจากตัวแปรอื่น เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความคืบหน้าสถานการณ์ที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ด้วย

กรณีของราคาน้ำมันดิบมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง แม้สถานการณ์จะค่อนข้างไกลตัวพอสมควร โดยเฉพาะความรุนแรงจากสงครามกลางเมืองในลิเบียที่เริ่มใกล้เข้าสู่ขั้นแตกหักทุกขณะ

หลายสัปดาห์มานี้ สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์ก ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิงแนวโน้มราคาน้ำมันโลกปิดพุ่งขึ้นสูงขึ้นต่อเนื่อง จนล่าสุดยืนเหนือ 62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า สถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในลิเบียอาจส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกอาจประสบภาวะตึงตัว

ขณะที่รายงานล่าสุดระบุว่า สนามบินในกรุงตริโปลี เมืองหลวงของลิเบีย สนามบินแห่งเดียวที่ใช้การได้ ได้รับความเสียหายจากการถูกเครื่องบินรบทิ้งระเบิดถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยในจำนวนนี้เป็นทั้งนักรบและพลเรือน

สถานการณ์รุนแรงดังกล่าวมีคำถามว่า จะส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันโลกนานแค่ไหน และรุนแรงเพียงใด ยังไม่มีความชัดเจน เพราะคนที่จะตอบคำถามนี้ เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีทั้งทรัพยากร สมรรถนะในการรบ และความเข้มข้นทางอุดมการณ์สุดขั้ว

กลุ่มก่อการร้ายนี้ รู้จักกันในนาม ISIL หรือ ISIS นั่นเอง

หลายปีมานี้ โลกคุ้นเคยว่ากลุ่มก่อการร้ายที่ถูกฝึกฝนโดย ซีไอเอ สามารถเข้ามามีบทบาทเหนือกลุ่มอัล-กออิดะฮ์อย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีฐานใหญ่ในเขตร่ำรวยน้ำมันในอิรักและซีเรีย แต่ล่าสุดล่าถอยออกมาสร้างพลังใหม่ในลิเบีย จนกระทั่งรัฐบาลที่ถูกรับรองเป็นทางการโดยสหประชาชาติทำท่าจะเพลี่ยงพล้ำให้กลุ่มนี้

สถานการณ์ล่าสุดในลิเบียเป็นผลพวงเรื้อรังที่เป็นมรดกบาปตกทอดจากความไร้เสถียรภาพทางการเมือง นับตั้งแต่ที่นายมูอัมมาร์ กัดดาฟี ถูกโค่นอำนาจและถูกสังหารเมื่อปี 2554

ในทางเศรษฐกิจ ปัญหาสงครามกลางเมือง ส่งผลให้การผลิตน้ำมันดิบในลิเบียมีความไม่ต่อเนื่อง กระทั่งกลุ่มโอเปก ยินยอมให้ลิเบียได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก เนื่องจากลิเบียยังคงเผชิญกับสงครามกลางเมือง ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศ

ในทางการเมือง การใช้อำนาจควบคุมลิเบียของกัดดาฟีนานถึง 3 ทศวรรษ โดยไม่มีการพัฒนาประเทศเลย ลิเบียเป็นชาติที่มีน้ำมันดิบคุณภาพสูงสำรองใต้ดินระดับหัวแถวของโลก แต่ไม่มีโรงกลั่นน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเลย ทำให้เมื่อกัดดาฟีหมดอำนาจลง การยึดครองแหล่งผลิตน้ำมันดิบจึงเป็นเขตสู้รบโดยปริยาย

สถานการณ์ล่าสุดในลิเบียถูกเรียกว่าสงครามกลางเมืองลิเบียครั้งที่สอง เพื่อแยกแยะจากการโค่นล้มกัดดาฟีซึ่งเรียกว่า สงครามกลางเมืองลิเบียครั้งที่หนึ่ง เมื่อกองกำลังฝ่ายกบฏสามารถควบคุมหัวเมืองและนครชายฝั่งสู้รบกับฝ่ายที่สนับสนุนกัดดาฟี ที่ตั้งมั่นทางตอนใต้ของกรุงตริโปลี

หลังจากรัฐบาลกัดดาฟีถูกโค่นล้มไป แต่ลิเบียก็ยังคงประสบปัญหาความขัดแย้งรุนแรง โดยที่การเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 ไม่สามารถสร้างความปรองดองได้

ปัจจุบัน ลิเบียก็แตกออกเป็น 3 ฝ่าย โดยฝ่ายหลักเรียกว่า Government of National Accord ซึ่งเป็นรัฐบาลที่สหประชาชาติให้การรับรอง มีศูนย์กลางอยู่ที่ตริโปลี รองลงไปคือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกคือ House of Representatives มีฐานอยู่ที่โตบรูค จงรักภักดีต่อพลเอกคาลีฟา ฮัฟตาร์ กองกำลังแห่งกองทัพแห่งชาติลิเบีย และฝ่าย ISIL หรือ  ISIS ที่ต่างก็สู้กับรัฐบาล และสู้กันเองในสงครามกลางเมืองครั้งล่าสุด

สถานการณ์สงครามในลิเบียล่าสุดยังคงดุเดือด โดยกองทัพของนายคาลีฟา ยังคงพยายามที่จะเข้ามายังกรุงตริโปลี และรัฐบาลลิเบียเผยเตรียมตอบโต้ ในขณะที่ ISIL ซึ่งควบคุมเหนือดินแดนขนาดเล็กในลิเบียผ่านกลุ่มท้องถิ่นที่ภักดียังคอยก่อกวนทั้งสองฝ่ายหลัก

ความซับซ้อนของการเมืองและสงครามกลางเมืองในลิเบีย ที่ส่งผลต่ออุปทานของน้ำมันดิบในโลก น่าจะเปิดช่องให้บรรดา นักเศรษฐศาสตร์สงครามของวงการพากันทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อออกไปยาวนานยิ่งขึ้น โดยเพิกเฉยต่อความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

ข้อเรียกร้องของสหประชาชาติ (UN) ที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการสงบศึกชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้มีการอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ เป็นเสียงที่แผ่วเบาเกินกว่าจะมีฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับฟังจริงจัง

เช่นเดียวกัน นักลงทุนในตลาดหุ้นที่ได้เห็นราคาหุ้นน้ำมัน ปิโตรเคมี และพลังงานอื่น ๆ แกว่งตัวบวกในยามที่ราคาหุ้นกลุ่มอื่นแน่นิ่งหรือแผ่วเบา ก็คงอยากให้การสู้รบที่มีกลุ่มก่อการร้ายอย่าง ISIL เกี่ยวข้องด้วยดำเนินต่อไปนาน ๆ

ตราบใดที่ราคาหุ้นน้ำมันและพลังงานยังไม่ดิ่งเหว

Back to top button