งง! ล้วงกระเป๋าตลาดหลักทรัพย์ฯ

การเมืองดูท่าจะกัดกร่อนเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยไปอีกนาน เลือกตั้งกันมาตั้งแต่ 24 มี.ค. แต่บัดนี้ผ่านมา 26 วันแล้ว ก็ยังไม่ทราบผลเลือกตั้ง แถมมีตลกร้ายอีกว่า กรรมการจัดการเลือกตั้ง จัดเลือกตั้งไปโดยไม่รู้ว่า กฎกติกาการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ยึดหลักเกณฑ์อะไร


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์                        

การเมืองดูท่าจะกัดกร่อนเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยไปอีกนาน เลือกตั้งกันมาตั้งแต่ 24 มี.ค. แต่บัดนี้ผ่านมา 26 วันแล้ว ก็ยังไม่ทราบผลเลือกตั้ง แถมมีตลกร้ายอีกว่า กรรมการจัดการเลือกตั้ง จัดเลือกตั้งไปโดยไม่รู้ว่า กฎกติกาการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ยึดหลักเกณฑ์อะไร

ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ แล้วถ้าเกิดศาลฯท่านไม่รับตีความล่ะ กกต.จะพึ่งพากฎกติกาไหน ซึ่งกกต.ชุดเก่าก็เคยมีอดีตที่ศาลฯไม่รับตีความมาแล้ว

กฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บท มาตรา 91(4) ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรโต้ง ๆ ว่า จะนำจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อไปแจกจ่ายให้แก่พรรคการเมืองใดได้ส.ส.เกินจำนวนพึงมีไม่ได้

ก็ยังพยายามดึงดันไปเอาข้อความกำกวมในพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ม.128 อันเป็นกฎหมายลูก มาตีความให้พรรคเศษเสี้ยวไม่ถึงจำนวนส.ส.พึงมีประมาณ 7.1 หมื่นคะแนนให้มีที่นั่งส.ส. 1 ที่นั่งให้ได้

ไปยึดหลักกฎหมายลูกมาล้มล้างกฎหมายแม่ได้ยังไงเนี่ย! ถ้ากฎหมายแม่ไม่ตราไว้ชัดเจนก็ว่าไปอย่าง

มันก็คงนัวเนียมั่ว ๆ ซั่ว ๆ กันไปเช่นนี้แหละนะ และก็คงจะไปว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกเรไม่ได้ ก็เพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่ ไม่ยึดกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง มันก็เลยค้านสายตาประชาชนเข้าไปทุกวัน

สิ่งที่เข้ามากล้ำกรายตลาดทุนปัจจุบันนี้ ก็ดูจะเพี้ยนและบูด ๆ เบี้ยว ๆ ไม่เบา!

เมื่อจู่ ๆ ก็มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศใช้พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ฉบับแก้ไข ประกาศในราชกิจจาฯเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 17 เม.ย.เป็นต้นไป

นอกจากผลเปลี่ยนแปลงในเรื่องการกระชับอำนาจของก.ล.ต.ในเรื่องโควตาที่นั่งบอดร์ดตลท. โดยให้มาจากโควตาตลาดฯ 4 ที่นั่ง และมาตามโควตาก.ล.ต.อีก 6 ที่นั่ง และนี่โน่นนั่น อันเป็นเรื่องส่วนใหญ่ในการเพิ่มอำนาจของก.ล.ต.แล้ว ก็ยังมีเรื่องหนึ่งที่วกเข้ามาหาเงินกองทุนของตลาดหลักทรัพย์ฯ

นั่นคือให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนหรือ CMDF ขึ้นมา และให้โอนเงินจำนวน 5,700 ล้านบาทจากกำไรสะสมของตลท.ไปให้กองทุน CMDF

นัยว่ากองทุนดังกล่าวจัดตั้งขึ้นมา เพื่อให้มีการแยกบทบาทระหว่างการพัฒนาตลาดทุนกับบทบาทการเป็นศูนย์กลางซื้อขายหลักทรัพย์ (Exchange Function)

ต่อไปนี้ ตลท.จะต้องนำส่งผลกำไรหลังหักเงินอุดหนุนก.ล.ต.และการใช้เงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ของตนเอง ประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ส่งไปให้ยังกองทุน CMDF นี้ กำไรหรือที่นี่เรียกว่า “รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย” ปีละประมาณ 1,300-1,900 ล้านบาท ก็จะต้องนำส่งออกไประหว่าง 1,170-1,700 ล้านบาท

กองทุน CMDF จะนำเงินไปใช้พัฒนาตลาดทุนแบบใด หรือมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างออกไปจากแนวที่ตลท.เคยทำอย่างไร ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่มีแบบจำลองให้เห็น

ก็เป็นอันว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีลักษณะเป็นองค์กรที่กำกับดูแลตนเอง ที่ไม่เคยรับงบประมาณจากรัฐบาลและไม่เคยต้องนำส่งรายได้รัฐบาล จากนี้ไปจะต้องนำส่งเงินรายได้เข้ากองทุนใหม่ถอดด้าม CMDF ที่ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่า จะมี “นวัตกรรมใหม่เอี่ยม” อะไรในการพัฒนาตลาดทุน ที่มันดีกว่าและแตกต่างกว่าที่ตลท.เคยทำ ๆ มา

ผู้บริหารตลท. ก็คงจะตกใจไม่น้อย ที่อยู่ ๆ ก็มีกฎหมายบังคับให้มีองค์กรใดไม่มีใครรู้จัก มาควักเงิน 5,700 ล้านบาทที่เหมือนกับกำไรสะสมของตลาดฯออกไป เพราะปกติก็เป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ว่า ผู้บริหารตลท.มักจะใช้จ่ายเงินอย่างประหยัดมาก

ขนาดที่ดินตนเองที่ถนนรัชดาฯ 15 ไร่เพื่อการสร้างสำนักงานใหญ่ ยังแบ่งขายให้ AIA ถึง 10 ไร่ เหลือไว้สร้างของตนเองแค่ 5 ไร่เท่านั้นเลย จึงเป็นอาคารต้องหันข้างเข้าหาถนนใหญ่เช่นทุกวันนี้

อีกประการหนึ่งที่น่ากังวลจากการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะเก็บส่วนต่างรายได้ไว้ที่ตัวเองแค่ 10% เท่านั้น มันจะรับมือไหวกับ “ระบบชำระราคา” ที่อาจจะเกิดเหตุการณ์พิเศษเช่นแบล็ค มันเดย์หรืออื่น ๆ หรือไม่ ความน่าเชื่อถือของตลาดฯที่ดี มันก็อยู่กับการชำระราคาซื้อขายตามกำหนดเวลา T+2 นั่นแหละ

แต่นโยบายรัฐบาล อาจจะเห็นความสำคัญอย่างอื่น เช่นต้องการเงินไปอุดหนุนกองทุนสตาร์ท-อัพเพื่อตลาดทุน หรืออาจเป็นความจำเป็นในการชดเชยงบประมาณบางประการ

ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าตั้ง CMDF มาทำไม

Back to top button