หุ้น (ไอพีโอ) โรงแรม

ห่างหายไปนานมาก ๆ สำหรับไอพีโอ “หุ้นโรงแรม”


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร  

ห่างหายไปนานมาก ๆ สำหรับไอพีโอ “หุ้นโรงแรม”

ล่าสุด บมจ.วีรันดา รีสอร์ท หรือ  VRANDA กำลังเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 75 ล้านหุ้น หรือสัดส่วนไม่เกิน 23.46% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว กำหนดขายราคาหุ้นละ 10.00 บาท ระหว่าง 24–26 เมษายนนี้

คาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) วันที่ 3 พฤษภาคม 2562

หลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอ วีรันดาฯ จะมีทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วไม่เกิน 1,598,408,360 บาท

แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 319,681,672 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท

วัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุนในครั้งนี้เพื่อไปใช้ขยายธุรกิจ ชำระคืนเงินกู้แก่สถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

VRANDA จะเข้ามาอยู่ในหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ

หรือหากจะให้เข้าใจกันแบบง่าย ๆ ก็คือ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม (ธุรกิจ) โรงแรมนั่นแหละ

ปัจจุบันหุ้นกลุ่มโรงแรมที่มีวอลุ่มเทรดกันเยอะ ๆ มีไม่กี่หุ้น

เริ่มจาก บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ล่าสุด ซื้อขายที่ระดับ P/E (Price to Earnings Ratio) ประมาณ 32 เท่า

บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ซื้อขายกันที่ระดับ P/E 27 เท่า

และ ERW : บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซื้อขายกันที่ระดับ P/E 32 เท่า

ทาง บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินหุ้น วีรันดาฯ เขาก็เลยนำเฉพาะหุ้น 3 ตัวนี้มาเปรียบเทียบ

ปรากฏว่าจะได้ค่าเฉลี่ย P/E (ของ 3 หุ้น) ที่ระดับ 31 เท่า

ส่วน วีรันดาฯ ที่เสนอขายราคา 10.00 บาทต่อหุ้น จากข้อมูลในไฟลิ่ง หากพิจารณากำไรสุทธิช่วง 12 เดือนย้อนหลัง คือ ไตรมาส 1/2561-ไตรมาส 4/2561 เท่ากับ  235.78 ล้านบาท

หรือกำไรสุทธิ 0.74 บาทต่อหุ้น

คำนวณบนฐานจำนวนหุ้นภายหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนในครั้งนี้ทั้งหมดที่ 319,681,672 หุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้ 5 บาทต่อหุ้น

ตัวเลขที่ออกมา คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ P/E ประมาณ 13.51 เท่า

ราคาขายไอพีโอที่ระดับ 10.00 บาท ถือว่ามีส่วนลดให้กับนักลงทุนพอสมควร

วีรันดาฯ ธุรกิจหลัก ๆ ก็คือ โรงแรม

ประกอบด้วย โรงแรม วีรันดา รีสอร์ท หัวหิน, โรงแรม วีรันดา เดอะ ไฮ รีสอร์ท เชียงใหม่, โรงแรม โซ โซฟิเทล แบงค็อก,

โรงแรม วีรันดา รีสอร์ท พัทยา และ โรงแรม ร็อคกี้ บูติค รีสอร์ท

และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 1 แห่ง คือ  โรงแรม เวอโซ หัวหิน

วีรันดาฯ มีสัดส่วนจากรายได้ประจำจากธุรกิจโรงแรมราว ๆ 54%

แล้วรายได้ส่วนที่เหลือล่ะมาจากไหน

คำตอบ คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักอาศัย

ที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่และอยู่ระหว่างการขาย มีวีรันดา ไฮ เรสซิเดนซ์ เชียงใหม่ และวีรันดา เรสซิเดนซ์ พัทยา

อยู่ระหว่างการก่อสร้างและอยู่ระหว่างการขาย 1 โครงการ คือ วีรันดา เรสซิเดนซ์ หัวหิน

ธุรกิจประเภทนี้ วีรันดาฯ มีสัดส่วนรายได้ 44%

ส่วนที่เหลืออีก 1% มาจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

เช่น ร้าน Skoop Beach Cafe’ สาขาพัทยา และหัวหิน,  ร้านเครื่องดื่ม และขนมหวาน KOF สาขาสาทร และทองหล่อ, ร้านชานมไข่มุก The Alley ที่โครงการ เดอ มาร์เช่ เชียงใหม่

ในช่วง 3 ปี ย้อนหลัง วีรันดาฯ มีการเติบโตของรายได้เฉลี่ย 40%

ในปี 2561 มีรายได้ 2,400 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 236 ล้านบาท เติบโตจากปี 2560 ที่มีกำไรเพียง 22 ล้านบาท

สิ่งที่ต้องจับตา คือ วันแรกที่หุ้นของวีรันดาฯ เริ่มซื้อขาย

จะมี “พรนภัส องค์วาสิฏฐ์” ที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิม จะเสนอขายหุ้นสามัญเดิมที่ถืออยู่ให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวนไม่เกิน 50 ราย บนกระดานรายใหญ่ หรือ Big Lot  จำนวนไม่เกิน 1 ล้านหุ้น

คิดเป็นสัดส่วน 0.31%

Back to top button