รฟท.ปิดดีลเจรจา “กลุ่มซีพี” วันนี้ ก่อนร่างสัญญาไฮสปีดเทรนส่งอัยการ เล็งเซ็นฯกลางมิ.ย.62

รฟท.ปิดดีลเจรจา “กลุ่มซีพี” วันนี้ ก่อนร่างสัญญา “ไฮสปีดเทรน” ส่งอัยการ โดยคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ไม่เกินกลางเดือน มิ.ย.นี้


นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันนี้ (26 เม.ย.) คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ได้นัดกลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) มาเจรจาอีกครั้ง เพื่อตรวจดูข้อตกลงในสัญญาให้เข้าใจตรงกันในร่างสัญญา ก่อนจะนำเสนอให้อัยการ หลังจากวานนี้ได้หารือกันเป็นเวลานานกว่า 13 ชั่วโมง

โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ตั้งเป้าจะหารือให้เสร็จสิ้นในวันนี้ และคาดว่าจะนำข้อสรุปที่หารือร่วมกับกลุ่มซีพีเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ รฟท. พิจารณาในวันที่ 10 พ.ค.นี้ ก่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) ในกลางเดือน พ.ค. จากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนพ.ค.ต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ไม่เกินกลางเดือน มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯหารือในประเด็นร่างสัญญาที่เกี่ยวกับความเสี่ยง ที่เป็นข้อปลีกย่อย 60-70 ข้อ ซึ่งเหลือที่ยังเข้าใจไม่ตรงกันประมาณ 10 กว่าข้อ ซึ่งที่สุดการการเจรจาได้ข้อยุติร่วมกันหมดแล้ว สามารถปิดประเด็นได้ครบหมด เช่น ค่าปรับ กรณีรฟท.เป็นฝ่ายผิดสัญญา เช่นกรณี รฟท.ส่งมอบพื้นที่ให้ล่าช้า ตามหลักจะให้เป็นการขยายเวลา เท่านั้น  ซึ่งเป็นปกติกรณีที่รฟท.เป็นฝ่ายผิด ซึ่งทางซีพี ขอเป็นเงินค่าปรับด้วย ซึ่งใช้เวลาเจรจากันนานจนได้ข้อยุติว่า จะยึดตามระเบียบ กรณีรฟท.เป็นฝ่ายผิด จะชดเชยเรื่องขยายเวลาเท่านั้น ไม่มีการชดเชยเป็นตัวเงิน

กรณีที่เอกชนกู้เงินจากธนาคาร แล้วจะกำหนดสัดส่วนที่ ธนาคารจะสามารถเข้ามาเทกโอเวอร์โครงการได้ นั้น ในหลักปฎิบัติ ทำไม่ได้ เป็นต้น

นอกจากนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้หารือถึงกรณีที่จะต้องตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.อีอีซี ที่ได้กำหนด

สำหรับโครงสร้างองค์กรการบริหารโครงการ ซึ่งตามพ.ร.บ.อีอีซี กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ  ซึ่งจะมีผู้แทนของกลุ่มซีพี เข้าร่วมด้วย และภายใต้คณะกรรมการกำกับโครงการจะมีคณะกรรมการบริหารโครงการ โดยมีหน้าที่ในการทำงานดูแลโครงการอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีองค์ประกอบการ 5 ฝ่าย โดยกำหนดอัตราประมาณ 30 คน โดยเป็นการคัดสรร จากรฟท.และจากอีอีซี เข้าไป

อย่างไรก็ตาม รฟท.กังวลว่าหากโอนย้ายคน รฟท.ไปแล้ว จะกระทบต่ออัตรากำลังของรฟท.ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาขาดแคลนอยู่แล้วจึงหารือกันว่าต้องการให้อีอีซีพิจารณากรณีต้องการคนของรฟท.ไปไปยังคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ควรเป็นการย้ายออกจากรฟท.เด็ดขาด และให้รฟท.จัดหาอัตรากำลังมาทดแทนได้

ทั้งนี้ รฟท.ได้ดำเนินการประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตั้งแต่ช่วงกลางปี 61 และมี 2 กลุ่มเข้าร่วมประมุล โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง เสนอราคา 117,227 ล้านบาท ซึ่งเสนอราคาต่ำกว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ที่เสนอราคา 169,934 ล้านบาท เทียบกับวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 119,425 ล้านบาท

อนึ่ง กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ประกอบด้วยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นแกนนำหลักถือหุ้น 70% ร่วมลงทุนกับกลุ่มพันธมิตรหลัก ได้แก่ กลุ่ม บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ บมจ.ช.การช่าง (CK)รวมถือ 15%, China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) หรือ CRCC ถือหุ้น 10% และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ถือหุ้น 5%

ส่วนกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC), บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH)

โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เริ่มการเจรจากับกลุ่มซีพีตั้งแต่เดือน ม.ค. 62 โดยกลุ่มซีพีได้ยื่นเงื่อนไขที่อยู่นอกเหนือเงือนไขตามเอกสารเสนอโครงการ (RFP) 12 ข้อหลักที่ทำให้การเจรจายืดเยื้อจนต้นเดือนเม.ย.ทางกลุ่มซีพียอมรับว่าข้อเสนอ 12 ข้อหลักที่คณะกรรมการคัดเลือกฯไม่สามารถรับได้เพราะอยู่นอกเหนือ RFP

Back to top button