เปิดกลยุทธ์ลุยหุ้นเดือนพ.ค. โบรกฯแนะสะสม 2 หุ้นเด่น พร้อมเลี่ยง 3 หุ้นกำไรไม่โต!

เปิดกลยุทธ์ลุยหุ้นเดือนพ.ค. โบรกฯแนะสะสม 2 หุ้นเด่น พร้อมเลี่ยง 3 หุ้นกำไรไม่โต!


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจรวบรวมบทวิเคราะห์ ที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ลงทุนในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นเดือนที่มีการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/62 ออกมา ซึ่งจะส่งผลให้ดัชนี และราคาหุ้นปรับตัวผันผวนตามผลประกอบการ เพื่อให้นักลงทุนได้วางแผนการลงทุนในอนาคต

โดย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ความคาดหวังต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในปี 2562 นี้ ช่วยหนุนให้ SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.71% (ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.ถึงปัจจุบัน) และ 6.57% (นับตั้งแต่ต้นปี) และยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในงวด ไตรมาส 2/62 รวมถึงแรงหนุนจาก MSCI มีการปรับเกณฑ์เพิ่ม NVDR เข้ามารวมคำนวณในดัชนีใหม่ หนุนให้ Fund Flow มีโอกาสไหลเข้า ในช่วงปลายเดือน พ.ค. หรือวันที่ 29 พ.ค. 2562

อย่างไรก็ตามในเดือน พ.ค. มีความเสี่ยงหลังบริษัทจดทะเบียนทยอยประกาศขึ้นเครื่องหมาย XD งวดครึ่งปีหลัง 2561 ราว 123 บริษัท กดดัน SET Index ราว 5.34 จุด และมักมีแรงขายทำกำไรหลังรับปันผลจากนักลงทุนต่างชาติเสมอ สังเกตได้จากสถิติย้อนหลัง 10 ปี Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยในเดือน พ.ค. เฉลี่ยสูงถึง 1.61 หมื่นล้านบาท (มากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ) และเป็นการขายสุทธิ 6 ใน 10 ปี

ทั้งนี้ หากพิจารณาควบคู่กับผลตอบแทนของ SET Index พบว่า แม้ระยะเวลาตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา SET Index จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจาก 449 จุด มาอยู่ที่ 1563 จุด หรือ 247% (ปี 2552 – 2561) แต่ในเดือน พ.ค. ยังเป็นเดือนที่ SET Index ปรับตัวลดลงมากสุด โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ 0.27% และปรับตัวลดลงถึง 7 ใน 10 ปี แม้ SET Index มักปรับฐานในเดือน พ.ค. แต่ยังพอมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ Outperform ตลาดฯ อยู่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มหุ้น Defensive ผลตอบแทนเฉลี่ยและโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวกราย Sector ในเดือน พ.ค. (ย้อนหลัง 10 ปี)

ดังนั้นกลยุทธ์เน้นเลือกลงทุนหุ้นในกลุ่มที่มัก Outperform ตลาดฯในเดือน พ.ค. และยังได้รับ Sentiment เชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ อย่าง ROBINS (ราคาเป้าหมาย 70 บาท) และ ERW (ราคาเป้าหมาย 9 บาท) เป็น Top picks

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยได้มีการนำเสนอคาดการณ์ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/62 ของบริษัทจดทะเบียนที่จะเติบโตได้โดดเด่นทั้งจากไตรมาสก่อน และจากปีก่อน และวันนี้จะหยิบยกคาดการณ์งบฯ ในฝั่งตรงกันข้ามขึ้นมา ในระยะสั้นแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นดังกล่าวไปก่อน โดยรายละเอียดพื้นฐาน มีดังนี้

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC (ราคาเป้าหมาย 210 บาท) คาดกำไรงวดงวดไตรมาส 1/62  อยู่ที่ 6.7 พันล้านบาท ลดลง 1.1% จากไตรมาสก่อน และ 15.9% จากปีก่อน แม้ต้นทุนโฆษณาและค่าอุดหนุนเครื่องลดลงจากฤดูกาลปลายปี บวกกับ รายได้ค่าบริการ (ไม่รวม IC) คาดว่าเติบโตเล็กน้อย 0.7% จากไตรมาสก่อน (+2.3% จากปีก่อน) โดยธุรกิจหลักมือถือคาดเติบโตต่ำ 0.4% จากไตรมาสก่อน ภายใต้สมมติฐานจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่ม 0.7% จากไตรมาสก่อน, ARPU ลดลง 0.2% จากไตรมาสก่อน แต่จะหักล้างจากค่าใช้จ่ายประโยชน์พนักงานเพิ่ม 500 ล้านบาทตามกฎหมายใหม่ และต้นทุนบริการ (ไม่รวม IC) ที่คาดจะเพิ่ม 1.0% จากไตรมาสก่อน ขณะที่ทั้งปีคาดเติบโต 4.9% จากปีก่อน อยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท โดยเชื่อว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมจะผ่อนคลายมากขึ้น นอกจากนี้ยังหนุนจาก รายได้เสริมจากการต่อยอดหารายได้จากช่องทางใหม่ๆ

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO (ราคาเป้าหมาย 35 บาท) คาดกำไรไตรมาส 1/62 ลดลง 2.1% จากปก่อน กดดันจาก SG&A/Sale เพิ่มหลังขยายสาขาไปกัมพูชา-อินเดีย ในไตรมาส 1/62 แต่ชดเชยจากธุรกิจในประเทศ จากการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น หนุนยอดขายสาขาเดิม (SSSG) เติบโต 4% จากปีก่อน ทำให้คาดยอดขายรวมเติบโต 6.4% จากปีก่อน สำหรับภาพทั้งกำไรปี 2562 คาดยังทรงตัว อยู่ที่ 5.9 พันล้านบาท หนุนจากในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น ชดเชยผลขาดทุนจากการขยายไปต่างประเทศที่คาดเพิ่มขึ้นในสัดส่วนใกล้เคียงปี 2561 ระยะสั้นยังมีปัจจัยกดดัน คงคำแนะนำ Switch

บริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SYNTEC (ราคาเป้าหมาย 2.35 บาท) คาดกำไรไตรมาส 1/62 หดตัวแรง 69% จากปีก่อน เหลือเพียง 45.9 ลบ. แม้รายได้ก่อสร้างจะโต 16% จากปีก่อน แต่อัตรากำไรที่ลดลงเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และการเริ่มต้นหลายโครงการใหม่พร้อมกัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ ขณะที่ไตรมาส 2/62 ก็ยังจะไม่เห็นการฟื้นตัวมากนัก ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทำให้งานใหม่ที่จะรับเข้ามาในปีนี้ มีแนวโน้มอัตรากำไรที่ต่ำลง นักวิเคราะห์กลุ่มฯ จึงปรับประมาณการกำไรปี 2562 ลง 30% เหลือ 377 ล้านบาท สะท้อน marginที่ลดลง ทำให้มูลค่าพื้นฐานใหม่อยู่ที่ 2.35 บาท และลดคำแนะนำเป็น ขาย

 

Back to top button