พาราสาวะถี

ไม่รู้จะเงื้อง่าราคาแพงมาทำไมถึงวันนี้ สุดท้ายที่ประชุมกกต.ก็เคาะรับรองส.ส.เขต 349 คน ยกเว้น สุรพล เกียรติไชยากร ของพรรคเพื่อไทยที่เขต 8 เชียงใหม่ ซึ่งได้ใบส้มไปก่อนหน้า ในเมื่อรู้กันอยู่แล้วว่าตัวเองมีอำนาจที่จะตามสอยทีหลังในกรอบเวลา 1 ปีหลังการรับรอง จึงมองไม่เห็นความจำเป็นที่ผู้มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการการเลือกตั้งต้องรีรอมากันขนาดนี้ หรือว่าทำเพียงเพื่อเป็นพิธีกรรมให้เห็นว่าโปร่งใส ยุติธรรม เพราะความจริงการชักช้าที่เกิดขึ้นมันได้ทำลายสิ่งเหล่านั้นไปไม่น้อยหรือแทบจะไม่เหลือทีเดียว


อรชุน

ไม่รู้จะเงื้อง่าราคาแพงมาทำไมถึงวันนี้ สุดท้ายที่ประชุมกกต.ก็เคาะรับรองส.ส.เขต 349 คน ยกเว้น สุรพล เกียรติไชยากร ของพรรคเพื่อไทยที่เขต 8 เชียงใหม่ ซึ่งได้ใบส้มไปก่อนหน้า ในเมื่อรู้กันอยู่แล้วว่าตัวเองมีอำนาจที่จะตามสอยทีหลังในกรอบเวลา 1 ปีหลังการรับรอง จึงมองไม่เห็นความจำเป็นที่ผู้มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการการเลือกตั้งต้องรีรอมากันขนาดนี้ หรือว่าทำเพียงเพื่อเป็นพิธีกรรมให้เห็นว่าโปร่งใส ยุติธรรม เพราะความจริงการชักช้าที่เกิดขึ้นมันได้ทำลายสิ่งเหล่านั้นไปไม่น้อยหรือแทบจะไม่เหลือทีเดียว

เหมือนที่ อิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.เคยบอกกับเจ้าหน้าที่กกต.ก่อนหน้า ความล่าช้าคือความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง ทีนี้ก็ต้องมารอลุ้นการประกาศผลรับรองส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ต้องเกิดขึ้นภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ โดยที่เช้าวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องมาตรา 128 ของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ขัดกับมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งนั่นจะเป็นการชี้ทิศทางสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของกกต.ได้เป็นอย่างดี

ฟังจากปากของ แสวง บุญมี รองเลขาธิการกกต. ย้ำ ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร กกต.มีแนวทางรองรับไว้แล้ว แต่ก็ไม่ยืนยันกรณีที่การตีความเป็นไปในทางลบ กกต.จะสามารถประกาศผลส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้ทันวันที่ 9 พฤษภาคมนี้หรือไม่ ถ้าเช่นนั้นสิ่งที่จะตามมาคือกกต.กล้าที่จะไม่รับรองส.ส.ให้ครบร้อยละ 95 เกินกรอบเวลา 150 วันของการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จตามที่ตัวเองนับรวมการรับรองส.ส.ไว้แล้วคือ 9 พฤษภาคมนี้หรือไม่

ถ้าเช่นนั้นก็จะไปเข้าสูตรที่ วิษณุ เครืองาม เนติบริกรหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นมือกฎหมายประจำคณะรัฐประหารเสียด้วยซ้ำ แนะนำไปก่อนหน้าว่าให้แยกกรอบเวลาจัดการเลือกตั้งและรับรองส.ส.ออกจากกัน ก็จะไม่ติดล็อกเรื่องระยะเวลา ปัญหาก็คือคนที่แนะนำไม่ได้มานั่งรับผิดตามกฎหมายกรณีที่เกิดเป็นประเด็นขึ้นมา จึงอยู่ที่ว่า 7 กกต.จะตัดสินเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งเนติบริกรรัฐบาลยังมองโลกในแง่ดีต่อว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดก็ต้องมาคิดกันใหม่จะต้องทำอย่างไร

อย่าเพิ่งไปมองไกลกันถึงขั้นว่าจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ โดยที่วิษณุเชื่อว่าไม่ทำให้เกิดเดดล็อกทางการเมืองแน่นอน ทุกอย่างมีทางออกในตัวของมันเอง คงต้องดูกันว่ากกต.ที่แทบจะเรียกได้ว่าตั้งแต่ก่อนจัดการเลือกตั้งจนกระทั่งเสร็จสิ้นกระบวนการหย่อนบัตรน่าจะมีการหารือกับมือกฎหมายประจำรัฐบาลอยู่เป็นระยะ จะตัดสินใจต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างไร แม้จะได้เห็นรายชื่อ 349 ส.ส.เขตแล้วก็ยังไม่ถือว่าทุกอย่างสะเด็ดน้ำและมองไปถึงการตั้งรัฐบาลได้

ขณะที่พรรคการเมืองสองขั้วก็ไม่มีใครกล้าแสดงความมั่นใจว่าจะเป็นฝ่ายถือเสียงข้างมากในสภา พรรคสืบทอดอำนาจอาจกุมความได้เปรียบที่มีเสียงส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงรอจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรคตัวเองอยู่ แต่เสียงส.ส.ในสภายังไม่การันตีว่าได้เกินครึ่งหรือไม่ เกมการเมืองว่าด้วยเรื่องตั้งรัฐบาลสืบทอดอำนาจจึงไม่ใช่เรื่องกล้วย ๆ ยิ่งได้เห็นโฉมหน้าของส.ว.ลากตั้งที่แพลมรายชื่อกันมาแล้ว ล้วนแต่คนหน้าเดิมที่เป็นหลักค้ำยันให้หัวหน้าเผด็จการทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นสนช.กว่า 60 คนที่นำทีมโดย พรเพชร วิชิตชลชัย ซึ่งไม่ต้องคาดเดากันว่าใครจะเป็นประธานวุฒิสภา เช่นเดียวกันกับรัฐมนตรีที่มีจำนวนถึง 15 คนไขก๊อกพ้นตำแหน่งเพื่อไปรับเก้าอี้ส.ว.ลากตั้ง ทั้งหมดนี้ถือเป็นกระบวนการของขบวนการสืบทอดอำนาจที่ตระเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมสรรพ และหมายความว่านี่เป็นการเคลียร์ตำแหน่งของคนกันเองเพื่อรองรับการกลับมาเป็นนายกฯ อีกกระทอกของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยที่จะเหลือตำแหน่งให้กับคนเดิมในรัฐบาลไม่มาก

อย่างที่รู้กันบรรดาเสือหิวทั้งหลายในนามนักการเมือง ย่อมหมายปองเก้าอี้เสนาบดีโดยไม่สนใจเสียด้วยซ้ำว่าจะเป็นกระทรวงเกรดไหน บรรดาแกนนำย่อมได้รับปูนบำเหน็จกันก้อนใหญ่ ส่วนลิ่วล้อที่ช่วยประสานทำให้การได้เก้าอี้ส.ส.เขตเป็นไปตามเป้าหมายนั้น หากรวมกลุ่มกันได้ย่อมมีพลังในการต่อรอง เพราะขนาดถึงขั้นทุ่มซื้องูเห่ากันได้ คนกันเองตั้งแต่ต้นควรจะได้รับการดูแลเป็นอันดับแรก แค่เริ่มต้นก็เห็นปัญหาของการจัดทัพรับการสืบทอดอำนาจกันแล้วว่าไม่ง่าย

สิ่งที่น่าสนใจประการต่อมาคือ การบริหารงานโดยไร้มาตรา 44 ของผู้นำเผด็จการ มันจะทำให้งานเดินหน้าได้ตามที่หวังไว้หรือไม่ ปัญหาใหญ่อย่างเศรษฐกิจอันหมายถึงความเดือดร้อนของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เศรษฐกิจในกระเป๋าของผู้แทนที่อดอยาก ต้องรีบปลดเปลื้องให้คนหายอึดอัด หากทำไม่ได้แล้วใช้เวลาไปในการจัดสรรอำนาจให้นักการเมือง นั่นก็จะเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันที่ทำให้รัฐบาลสืบทอดอำนาจพังพาบก่อนเวลาอันควร โดยที่ก็มองกันว่าอยู่ไม่ยืด ยืนระยะไม่นานกันอยู่แล้ว

ส่วนกระแสข่าวเรื่องนายกฯ คนนอก ที่ปรากฏชื่อของ อำพน กิตติอำพน องคมนตรีเจ้าของวลีเด็ดกบไม่เลือกนายนั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเสียทีเดียว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับปัจจัย ปัจจัยอันเป็นเหตุจากปัจจุบัน ถ้าทุกอย่างราบรื่นไร้ปัญหา การรับรองส.ส.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเรื่องร้องเรียนที่จะนำไปสู่การตีความของศาลรัฐธรรมนูญอีก ก็เชื่อว่าแนวทางของการจัดตั้งรัฐบาลปกติคงไม่มีอาการสะดุด แต่จนถึงนาทีนี้ก็ยังไม่มีใครกล้ายืนยันว่าไม่มีเหตุให้เป็นอย่างอื่น

นี่ยังไม่รวมเงื่อนไขของพันธมิตรพรรคสืบทอดอำนาจที่ไม่ต้องการให้ผู้นำเผด็จการกลับมาเป็นนายกฯ อีกกระทอก ดังนั้น จึงต้องหาคนนอกบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ มาเป็นเครื่องต่อรอง ซึ่งมองไปแล้วอาจมีบางคนที่แอบยิ้มที่มุมปาก คิดว่าตัวเองน่าจะได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ที่บีบคั้นเช่นนี้ แต่อาจเป็นเพียงแค่ฝันหวาน เพราะเจ้าตัวก็รู้สถานการณ์ของตัวเองดี ถูกจับจ้องทุกฝีก้าวขืนกระโดดมาเป็นมวยแทน มีหวังถูกเล่นงานอ่วมอรทัยแน่นอน

ถ้าการเมืองภาพใหญ่ยังเบลอ ๆ ดูภาพเล็กในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กันไปพลางก่อน แสดงตัวกันไปแล้วสำหรับ 4 แคนดิเดตทั้ง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กรณ์ จาติกวณิช อภิรักษ์ โกษะโยธิน และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค มีดีกันคนละอย่างแต่อยู่ที่ภาพกว้างของแรงหนุนจากคนเก่าแก่ภายในพรรค ชื่อแรกดูดีมีภาษีกว่า แต่ในภาวะเรืออับปางที่รอการฟื้นฟูอาจมีคนต้องการเดินออกจากกรอบเดิม ๆ น่าดูเป็นอย่างยิ่งท่ามกลางมรสุมที่รุมเร้าจะทำให้พรรคเก่าแก่เปลี่ยนโฉมได้มากแค่ไหน

Back to top button